เปิดใจ “นิค จีนี่” หลังบอกลาแกรมมี่ แต่ยังเป็น Mr.Opportunity ของวงการเพลง

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยุคที่ธุรกิจเพลงในเมืองไทยดำเนินไปอย่างยากลำบาก พูดได้ว่าเกือบจะเป็น sunset ของธุรกิจค่ายเพลง บางบริษัทถึงขนาดเลิกธุรกิจเพลงไปทำธุรกิจอื่น บางบริษัทลดขนาดธุรกิจเพลง หันไปโฟกัสอย่างอื่นแทน แต่มีค่ายเพลงค่ายหนึ่งที่ยืนอยู่อย่างสง่างาม สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จ เป็นเหมือน sunrise ที่สว่างสดใสครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นก็คือ จีนี่ เร็คคอร์ดส (genie records) ค่ายลูกของแกรมมี่ ภายใต้การบริหารของ นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล หรือ “นิค จีนี่” ที่มีศิลปินระดับแถวหน้าของวงการอย่าง บอดี้สแลม บิ๊กแอส เคลียร์ พาราด็อกซ์ โปเตโต้ ลาบานูน ฯลฯ

หลังจากปลุกปั้นประคบประหงมค่ายจีนี่มานาน 21 ปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ วิเชียร ฤกษ์ไพศาล เพิ่งบอกลาบริษัทแกรมมี่ และครอบครัวจีนี่ที่เขารัก “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้ชวน “พี่นิค” ของแฟน ๆ จีนี่มาพูดคุยเปิดใจ ว่าชีวิตของเขาต่อจากนี้จะทำอะไรเพื่อวงการเพลงอีกบ้าง ด้วยสมมุติฐานของเราที่ว่า คนที่สนุกกับการทำค่ายเพลงมาตลอด เขาคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ และคำถามสำคัญที่คิดว่าแฟน ๆ ค่ายจีนี่น่าจะอยากรู้ว่า “พี่นิคยังห่วงอะไรจีนี่อยู่ไหม” ซึ่งเราก็ได้ถามแทนไปแล้ว แต่ได้คำตอบว่า off record ได้ไหมล่ะ แล้วจะเล่าให้ฟัง…

Q : หลังออกจากแกรมมี่ ทำอะไรอยู่บ้าง

ตอนนี้หลัก ๆ เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดให้บริษัทต่าง ๆ พอเขารู้ว่าไม่ได้ทำที่แกรมมี่แล้วก็เริ่มติดต่อเข้ามา 6-7 เจ้า ซึ่งก็ทยอยคุย และมีเริ่มทำบ้างแล้วบางส่วน เป้าหมายก็คือจะแบ่งตัวเอง 3-4 เรื่อง คือ หนึ่ง-งานรูทีน เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดที่เราคุ้นเคยและถนัด สอง-งานคอมเมนเตเตอร์ Hot Wave Music Awards สาม-งานด้านสปีกเกอร์ การแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งทำประปรายมานานแล้ว สี่-ธุรกิจของภรรยาที่เขาทำคอสเมติก นี่คือหลัก ๆ ที่ทำอยู่ และงานอดิเรกไลฟ์เฟซบุ๊ก

Q : ในวงการเพลงอยากทำอะไรอีกไหม

จริง ๆ แล้วผมปวารณาตัวเป็นคนของวงการมากกว่าที่จะเป็นของค่ายใดค่ายหนึ่ง ด้วยความที่มีเดโมเพลงเข้ามาเยอะมาก ถ้าเราอยู่ประจำค่ายเราก็ดูแลได้ในจำนวนจำกัด ฉะนั้นเราก็อยากทำอะไรสักอย่างที่ตอบโจทย์คนได้มากที่สุด กำลังคิดว่าจะทำยังไง อาจจะใช้เครื่องมือสื่อสารที่เรามีอยู่เพื่อผ่องถ่ายประสบการณ์ออกไป เราปวารณาตัวเป็น Mister Opportunity เราก็อยากหาช่องทางสร้างโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ยิ่งไปตัดสิน Hotwave Music Awards ก็ยิ่งเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าธุรกิจเพลงจะเป็นยังไง เขาก็ยังใฝ่ฝันจะอยู่ตรงนี้ เขาต้องการการสนับสนุน ซึ่งผมคิดว่าอยากทำในจุดนี้ ยังไม่ฟันธงว่าหน้าตามันเป็นยังไง แต่มันอยู่ภายใต้คำว่า “โอกาส” แน่ ๆ

Q : ทุกวันนี้ศิลปินมีอิสระ มีช่องทางเผยแพร่เพลง แต่ก็ยังต้องการค่าย ถึงได้เข้ามาหา

ใช่ครับ ทุกคนต้องการคนแบ็กอัพ คนที่ยืนอยู่ด้วยตัวเองคนเดียวมันไม่มีหรอกครับ แม้กระทั่งพี่ตูนที่ว่าเก่งมาก ๆ เขาก็ต้องการทีมงาน ซึ่งทีมงานของบอดี้สแลมนี่ใหญ่มาก นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าแม้ว่าคนเราจะต้องการมีอิสระทางความคิด แต่ก็ต้องพึ่งพาทีมงาน ขึ้นอยู่กับว่าเขาขาดแคลนอะไร ทีมงานก็ไปซัพพอร์ตจุดที่เขาขาด ถ้าศิลปินคนไหนบอกว่า ทำทุกอย่างได้ตัวคนเดียว ผมว่ามันอาจจะได้ แต่ก็มีลิมิตการเจริญเติบโตครับ

Q : ธุรกิจค่ายเพลงในช่วง 3-4 ปีมานี้มันปรับเปลี่ยนเร็วไหม

ปรับเร็วครับ จริง ๆ เรามองภาพพวกนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ค่ายจีนี่มีกระบวนการทำงานที่เป็นเชิงรุก ไม่รอให้ใครมาสั่ง เราทำอะไรที่มองไปข้างหน้า บางทีจีนี่ก็ทำเกินบทบาทที่ค่ายเพลงทั่วไปทำ ในตึกแกรมมี่เราเป็นค่ายเดียวที่ทำเรื่อง merchandise อย่างจริงจัง เราเป็นค่ายเดียวที่ทำคอนเสิร์ตใหญ่ทุกปี เพราะเรารู้ว่านี่คือจุดที่ทำให้เราก้าวหน้าได้ในเชิงธุรกิจ และการรักษาฐานแฟนคลับเป็นสิ่งสำคัญ เราพยายามทำ “แฟนเซอร์วิส” เป็นการสร้างความผูกพันให้รู้ว่าเราก็รักเขา ไม่ใช่เขารักเราข้างเดียว แล้วในวันที่เราจัดอีเวนต์ใหญ่ ๆ ที่ต้องการถึงการสนับสนุน เขาก็ยินดีสนับสนุนเรา จะเห็นว่าบัตรคอนเสิร์ตเรา sold out ทุกงาน ทุกคนอยากซื้อตั๋วมาดูคอนเสิร์ต ทั้งที่ศิลปินเราก็กระจายไปเล่นคอนเสิร์ตทั่วประเทศ เขาอยากเข้ามาร่วมเพราะเขาอยากสนับสนุนศิลปิน อยากแสดงความรักที่เขามีต่อเรา

Q : การอยู่รอดของค่ายเพลงในอนาคตจะอยู่รอดได้ด้วยแนวทางไหนบ้าง

ทุกค่ายต้องเปลี่ยน mindset ค่ายต้องไม่เป็นผู้ครอบครองอีกต่อไป ไม่ใช่ว่าเซ็นสัญญาเอาศิลปินเข้ามาแล้วสั่งซ้ายหันขวาหัน ศิลปินยุคปัจจุบันเขามีตัวตนชัดเจน ฉะนั้นค่ายต้องมองศิลปินเป็นพาร์ตเนอร์ บทบาทของค่ายต้องเปลี่ยนไปจากอดีต ต้องเป็นทีมเวิร์ก เปรียบเสมือนในสนามฟุตบอล ค่ายไม่ใช่เป็นผู้บังคับบัญชาแบบเดิม อย่างมากหัวหน้าค่ายก็เป็นโค้ชอยู่ข้างสนาม ส่วนทีมงานก็เหมือนกองหลังที่คอยส่งลูกบอลไปให้ศิลปินยิงเข้าประตูตามสไตล์ของเขา ในอนาคตค่ายเพลงน่าจะเกิดแบบย่อย ๆ มากกว่า ค่ายหนึ่งมีศิลปินไม่เยอะ แต่ดูแลศิลปินอย่างเข้มข้น ถ้าวันนี้ผมจะทำค่ายอย่างนั้นผมก็ทำได้เลย แต่มันไม่ตอบโจทย์ สิ่งที่ผมอยากทำมันใหญ่กว่านั้น คืออยากให้โอกาส อยากให้ทั้งวงการ แต่เขาจะมารับทั้งวงการหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

Q : คิดว่าวงการเพลงบ้านเรายังขาดอะไรอยู่ ที่อยากจะให้

ที่ขาดแน่ ๆ คือคนที่เป็นผู้จัดการทีมที่คอยให้คำแนะนำส่งเสริม คอยหันไฟมาส่องเขา ให้คำปรึกษาว่าอันไหนใช้ได้ อันไหนดีหรือไม่ดี และการสนับสนุนอื่น ๆ ที่เขาต้องการ

Q : ที่ว่าให้ทั้งวงการ หมายถึงเฉพาะคนที่ไม่มีค่ายอยู่ หรืออยากจะให้เกิดความร่วมมือกับค่ายต่าง ๆ ด้วย

กับค่ายด้วย ค่ายทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะแข็งแรงทุกค่าย ฉะนั้นค่ายไหนที่ต้องการความช่วยเหลือในบางด้าน ผมก็สามารถเข้าไปช่วยได้ในลักษณะที่ไม่ต้องผูกมัดกัน ก็ตั้งใจว่าจะทำอย่างน้อยอีก 10 ปี จนกว่าเราจะไม่ไหวแล้ว

Q : แล้วทำไมถึงบอกลาแกรมมี่

เราก็เคารพในการตัดสินใจของผู้ใหญ่ เขามีการเปลี่ยนถ่ายรุ่นใหม่รุ่นเก่า เขาแต่งตั้งเราเป็นตำแหน่งรองประธานบริษัท ซึ่งเขาไม่ได้ถามความรู้สึกเรา อีกอย่างมันปัจจุบันทันด่วน บอกวันนี้แล้ววันรุ่งขึ้นก็มีผลเลย เราเองก็คิดว่าเราต้องส่งไม้ผลัดอยู่แล้ว เราคิดตลอดว่าเราจะส่งมอบค่ายยังไงให้มันสวยงามที่สุด แต่พอเขาตัดสินใจแบบนั้นผมก็เลยต้องรีบตัดสินใจว่าจะเอายังไงกับชีวิต เพราะการขึ้นไปอยู่ในจุดนั้นมันไม่ตอบโจทย์สิ่งที่เราตั้งใจไว้ ประกอบกับเราก็ทำงานเลยวัยเกษียณแล้วด้วย เราก็ได้ทดแทนบุญคุณคุณไพบูลย์และบริษัทแล้ว เราไม่ได้อยู่เปลืองข้าวสุก ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราก็สร้างผลงานสร้างเกียรติคุณให้บริษัท ถ้าให้คะแนนเราก็สอบผ่าน ก็เลยคิดว่าได้เวลาออกไปผจญภัยโลกกว้างแล้ว ก็ไปกราบลากันเป็นเรื่องเป็นราว ถึงแม้ว่าเขาจะไม่อยากให้เราออกก็ตาม แต่สิ่งที่เราอยากทำมากที่สุดมันไม่ได้ทำแล้ว และเมื่อเขาตัดสินใจแล้วเราก็เคารพการตัดสินใจของเขา ขณะเดียวกันเขาต้องเคารพการตัดสินใจของเราด้วย ที่แน่ ๆ เราไม่ใช่ศัตรูกัน ไม่มีความคิดร้าย แค่เสียใจในช่วงวันสองวันแรก ผมตกใจและเสียใจว่าจะต้องออกจากบ้านตัวเอง มันเหมือนย้ายบ้านแต่ยังอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน แต่เราก็รู้สึกว่าเราไม่ comfortable เพราะว่าเราต้องจากบ้าน จากทีมงาน จากทุกอย่างที่เราสร้างมากับมือ วันหนึ่งบอกว่า ให้เราย้ายบ้านและไม่ต้องไปยุ่งกับลูกหลานนะ มันจะเป็นไปได้ไง เราก็คิดว่าโอเค บอกลากันด้วยดี

Q : ที่บอกว่ามีแผนส่งไม้ต่ออยู่แล้ว คาดหวังว่าให้คนที่รับไม้ต่อพาจีนี่เดินไปในแนวทางเดิม หรือว่าแล้วแต่เขาร้อยเปอร์เซ็นต์

รากฐานมันเป็นรากฐานเดิม แต่การงอกเงยมันจะเป็นยังไงก็ได้ เหมือนต้นไม้ที่รากมันแข็งแรงแล้ว การแตกยอดออกไปก็เป็นเรื่องใหม่ ๆ เราคาดเดาไม่ได้ว่ามันจะสวยงามขนาดไหน บุคลากรที่เราตั้งใจว่าเราจะโค้ชเข้าไปอีกสองปีก็คือ พี่อ๊อฟ บิ๊กแอส กับโอม ค็อกเทล เขาเป็นนักดนตรีที่มีเซนส์นักบริหารพอที่จะทำด้านนี้ได้ ในมุมของเราที่จะส่งไม้ผลัด เราคิดว่ามันจะอยู่ในมือของคนที่จะพาค่ายเดินต่อได้ งานตรงนี้มันมีเงื่อนไข ซึ่งผมมองในเชิงศิลปะที่สร้างพาณิชย์ ไม่ใช่พาณิชย์ที่มาครอบงำศิลปะ เพราะพื้นฐานเราขายงานศิลปะ ฉะนั้นผมว่าเอาคนที่เป็นศิลปะมาพัฒนาให้เข้าใจเรื่องพาณิชย์จะดีกว่าเอาคนที่เก่งพาณิชย์แต่ไม่เป็นเรื่องศิลปะเลยมาทำ

Q : อยากให้แชร์เคสที่ประสบความสำเร็จและเคสที่ล้มเหลวที่สุดของจีนี่ มันสำเร็จและล้มเหลวเพราะอะไร

จริง ๆ แล้วความล้มเหลวมันเยอะมาก นับไม่ไหวเลย แต่พอความสำเร็จมันท่วมท้นก็เลยทำให้คนมองไม่เห็น ความล้มเหลวในอดีตมันมีเป็นหย่อม ๆ ซึ่งแน่นอนมันก็เป็นประสบการณ์ให้เราเดินหน้าต่อ ถามว่าอันไหนล้มเหลวที่สุด เราไม่ได้วัด ความล้มเหลวมันมักจะไม่ใหญ่ เพราะผมเป็นคนละเอียดรอบคอบ มันมีพลาดบ้างในเชิงตัวเลขซึ่งบางกรณีเรารู้ว่ามันจะพลาด แต่เราก็อยากสร้างอะไรขึ้นมาในวงการ อย่างเช่น Saturday Seiko มันเป็นบาดแผลทางตัวเลข แต่เรารู้อยู่แล้ว เหมือนที่เรารู้ว่า Paradox จะไม่ขายในปีแรก ๆ แต่ว่าวงแบบนี้มันต้องสนับสนุน ส่วนเคสที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ผมว่ามันเป็นเพราะทีมงานทุกคนช่วยกันสร้าง อย่างลาบานูนเป็นตัวอย่างของความสำเร็จร่วมกันของค่ายกับศิลปิน มันประสบความสำเร็จด้วยการที่เขาทำเพลงทั้งอัลบั้มมาสำเร็จแล้ว เรามาวาง roadmap ได้เลยว่าเพลงนี้จะออกช่วงไหน เพลงนี้ทำหน้าที่อะไร เราเห็นภาพรวมที่ชัดมาก เราก็กำหนดไปเลย แล้วมันก็ตรงเป๊ะ ๆ ถ้าเราสังเกตเพลง “พลังงานจน” กับเพลง “ใจกลางเมือง” เปิดตัวในช่วงเทศกาลกลับบ้าน เทศกาลของคนต่างจังหวัด นี่คือตัวอย่าง ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมันมีเยอะมาก

Q : จีนี่ได้กำไรทุกปีไหม

วิธีคิดแบบ balance sheet มันทำใน 7-8 ปีแรก ซึ่งเราก็ได้กำไรเรื่อย ๆ แต่ตอนหลังมันเปลี่ยนเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น เราไม่เห็นเป๊ะ ๆ ว่ากำไรของใครเท่าไหร่ เพราะผลที่เกิดจากเรามันกระจายไปเป็นรายได้เป็นกำไรของแผนกอื่น เช่น เขาขายโฆษณาศิลปินค่ายเรา กำไรตรงนั้นไม่ได้ส่งกลับมาที่ค่ายให้เรารู้ รายได้จากงานจ้างศิลปินซึ่งเรามีงานจ้างมากที่สุดในบริษัท ก็ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นรายได้เป็นกำไรของค่ายจีนี่ หรือเพลงที่ถูกรวมฮิตมันก็กลายเป็นกำไรของแผนกรวมฮิต ทำนองนั้น ถ้าให้ผมพูดเข้าข้างตัวเองคือผมไม่ทำเจ๊งแน่นอน ถ้าดูจากการที่คนเขาให้การตอบรับ ผมคิดว่าเราทำกำไรมากที่สุดด้วยซ้ำไป มันเป็นเหมือนกงสี เราหาเงินมาก็ไปรวมกองกลาง แต่ผมไม่ยอมเป็นคนใช้เงินอย่างเดียว ผมเป็นคนหาเงินด้วยตลอด อย่างคอนเสิร์ตใหญ่ที่จัด เราสร้างขึ้นมาเอง ไม่มีใครสั่ง แล้วมันก็ได้กำไรทุกอัน

Q : 36 ปีในวงการเพลงได้เรียนรู้อะไรจากวงการและธุรกิจนี้บ้าง

เยอะมาก ยกตัวอย่างผมได้เรียนรู้เรื่องการบริหารคน ผมเรียนรู้และใช้ปรัชญาของเต๋ามาบริหาร คือ “การปกครองโดยไม่ปกครอง” ผมไม่ตีเส้นให้เขาไต่ แต่ผมทำถนนใหญ่ ๆ ให้เขาเดิน มันนำไปสู่ปลายทางความสำเร็จเหมือนกัน แต่การเดินบนถนนใหญ่ ๆ เขามีอิสระเดินได้คล่องกว่า และน่าจะแฮปปี้กว่า หรือเรื่องการเจอวิกฤตต่าง ๆ เราได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ได้เรียนรู้ว่าตราบใดที่เรายังมี AQ คือความอึดในการเผชิญปัญหาด้วยวิธีที่คิดบวก มันก็จะสำเร็จได้ อีกอย่างคือ ได้ค้นพบว่าเราสามารถทำอะไรที่เราไม่ได้เรียนมาก็ได้ เราเรียนรู้จากการทำงานได้ ผมเรียนจบรัฐศาสตร์แต่สนใจงานด้านนิเทศศาสตร์ ด้านศิลปะ เราก็ทำงานไปเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ อีกอย่างได้เรียนรู้คนด้วย เราได้เรียนรู้ว่าบางครั้งเราทำในแอเรียที่เขาไม่ได้สั่ง แต่เราเห็นว่าถูกต้องแม้จะขัดแย้งกับหลักการบางอย่าง แต่เมื่อความสำเร็จเกิดขึ้น มันก็คือความถูกต้องในที่สุด