น้ำท่วมถล่มเศรษฐกิจอีสาน-กลาง กทม.รอลุ้น-รัฐจัด 2 หมื่นล้านเยียวยา

เขื่อนเจ้าพระยา

ลุ่มเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำชี มูล ยังอ่วมหนัก หลังเขื่อนใหญ่ “เจ้าพระยา-ป่าสักฯ-อุบลรัตน์” เร่งระบายน้ำ ส่งผลน้ำท่วมเป็นวงกว้าง พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมไปแล้วเกือบ 2 ล้านไร่ รัฐบาลเตรียมวงเงินเยียวยาไว้แล้ว 23,000 ล้านบาท เฉพาะด้านเกษตรคาดการณ์ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 7,000-9,000 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดริมเจ้าพระยาเร่งป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมืองสุดฤทธิ์ นิคมอุตสาหกรรมยกระดับเตือนภัยเป็นระดับ 2 เหตุน้ำเหนือ-เขื่อนปล่อยน้ำเพิ่มขึ้น

อิทธิพลจากพายุโนรูยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในลุ่มน้ำสำคัญ ๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือลุ่มน้ำชี-มูล โดยมีพื้นที่ลุ่มต่ำถูก “น้ำท่วม” ตลอดแนวลำน้ำ ทั้งจากการเร่งระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมไปแล้วกว่า 1.94 ล้านไร่ รวมไปถึงพื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดริมน้ำเจ้าพระยาและ 2 ฝั่งแม่น้ำมูลและชี

โดยสถานการณ์น้ำล่าสุดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2 เขื่อนหลักยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเขื่อนภูมิพล-ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 78.38-73.45 ล้าน ลบ.ม./วัน แสดงให้เห็นว่า ลำน้ำเหนือเขื่อนยังมีปริมาณน้ำเหลืออยู่อีกมาก

ส่งผลให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาตรน้ำในอ่างเต็มความจุถึง 113% ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกวันละ 77.83 ล้าน ลบ.ม.หรือใกล้เคียงกับปริมาณน้ำไหลลงอ่าง โดยน้ำที่ระบายออกมาจะผ่านเขื่อนพระรามหก ในปริมาณ 1,038 ลบ.ม./วินาที และเข้ามาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณจังหวัดลพบุรี-สระบุรี และฝั่งตะวันออกใต้เกาะเมืองอยุธยาลงมา

ในขณะที่เขื่อนภูมิพล แม้จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 78.38 ล้าน ลบ.ม. แต่เขื่อนยังคงเก็บกักน้ำไว้ ทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นไปถึง 11,218 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่าง การเก็บกักน้ำดังกล่าวโดยที่จะไม่มีการระบายออกมาเนื่องด้วยเกรงจะไปเป็นการ “ซ้ำเติม” สถานการณ์น้ำท่วมไล่ลงมาตั้งแต่บริเวณนครสวรรค์ไปจนกระทั่งถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล

โดยปริมาณน้ำไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,054 ลบ.ม./วินาที (รับน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังเข้ามาอีก 308 ลบ.ม./วินาที) ใต้เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายอยู่ที่ 3,164 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้บริเวณจังหวัดสิงห์บุรี-อ่างทอง-อยุธยา-ปทุมธานี พื้นที่ติดริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ-นนทบุรี ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก จากการที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำ อ.บางไทร (C29A) ซึ่งถือเป็นปากทางที่น้ำจะไหลผ่านบริเวณกรุงเทพฯอยู่ที่ปริมาณ 3,090 ลบ.ม./วินาทีแล้ว

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีและมูลบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ประสบกับน้ำท่วมในหลายพื้นที่ตั้งแต่บริเวณขอนแก่น-มหาสารคาม-ยโสธร-ศรีสะเกษ-สุรินทร์ ไปจนกระทั่งถึง จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในภาคคือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาตรน้ำในอ่างถึง 3,198 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 132 ของความจุอ่าง

ขณะที่ยังมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างวันละ 91.22 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกมาวันละ 54.05 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนลำปาวมีปริมาตรน้ำในอ่าง 1,819 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 6.42 ล้าน ลบ.ม.ระบายวันละ 2.37 ล้าน ลบ.ม.

ใช้ 2.3 หมื่นล้านเยียวยาน้ำท่วม

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (11 ต.ค. 65) ถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรื่องการเยียวยาหลังน้ำท่วมว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดูเรื่องการฟื้นฟูเยียวยา

เพราะเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายได้เพื่อที่จะทำเรื่องการเบิกจ่าย ส่วนเรื่องการสร้างรายได้ ให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปดูแลเรื่องปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อที่จะดูแลเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน ทางหลวง ทางหลวงชนบท เร่งให้ทุกฝ่ายเข้าไปดูแล

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดในที่ประชุม ครม.ว่า ตอนนี้ได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว คาดว่าในเบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 23,000 ล้านบาทในการฟื้นฟูเยียวยา ทั้งนี้ในขั้นต้นเยียวยาตามระเบียบข้อกฎหมาย ส่วนอะไรที่เพิ่มเติมให้ได้ก็ยินดีที่จะดูแลให้ เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง ครบถ้วน ตามความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

ความเสียหายภาคเกษตร

ด้านศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปผลกระทบน้ำท่วมด้านการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ต.ค. 65) ใน 3 ด้านคือ พืช ประมง และปศุสัตว์ โดยด้านพืชและประมงรวมความเสียหาย 608.02 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านพืชได้รับผลกระทบ 54 จังหวัด มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 446,394 ราย

พื้นที่ได้รับผลกระทบ 3,632,958 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 2,454,895 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 995,503 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 182,560 ไร่ ซึ่งสํารวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 46,383 ราย พื้นที่ 422,404 ไร่ ข้าว 338,111 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 82,539 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 1,754 ไร่ คิดเป็นเงิน 605.10 ล้านบาท ซึ่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 493 ราย พื้นที่ 2,507 ไร่ วงเงิน 4.02 ล้าน

ส่วนด้านประมง ได้รับผลกระทบ 39 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 19,462 รายพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 21,196 ไร่ แบ่งเป็นบ่อปลา 20,938 ไร่ บ่อกุ้ง 259 ไร่ กระชัง 4,008 ตร.ม. สํารวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 535 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย 520 ไร่ กระชัง 11 ตร.ม. คิดเป็นเงิน 2.92 ล้านบาท โดยให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 156 ราย พื้นที่ 264 ไร่ วงเงิน 1.52 ล้านบาท

ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 16 จังหวัด เกษตรกร 21,625 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 1,337,182 ตัว แบ่งเป็นโค 52,412 ตัว กระบือ 15,378 ตัว สุกร 13,040 ตัว แพะ/แกะ 2,856 ตัว สัตว์ปีก 1,337,182 ตัว แปลงหญ้า 2,243 ไร่ อยู่ระหว่างสํารวจความเสียหาย

เงินช่วยเหลือภัยพิบัติ

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์เปิดเผยว่า การช่วยเหลือเมื่อมีภัยพิบัติจะดำเนินการช่วยเหลือเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ซึ่งในการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบฉบับนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจจัดสรรเงินทดรองราชการตามระเบียบของคลัง ในวงเงิน 50 ล้านบาท

ซึ่งหากนำตัวเลขศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติการเกษตรมาคำนวณค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 พบว่ารัฐต้องเตรียมงบประมาณชดเชยไว้ 7,000-9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพืชรวม 5,999 ล้านบาท ประมง 102.52 ล้านบาท และปศุสัตว์ 956.15-2,613 ล้านบาท

เขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยน้ำต่อเนื่อง

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ได้รับผลกระทบเบื้องต้นแล้วประมาณ 200,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรและพื้นที่รอบนอก ปัจจุบันน้ำยังไม่เข้าเขตเมืองหรือเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ

ขณะเดียวกันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ตอนนี้เราเร่งเสริมคันดินเพื่อไม่ให้น้ำเอ่อเข้าท่วมเมือง” ในขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ยังระบายน้ำออกมาอย่างต่อเนื่องประมาณวันละ 54 ล้าน ลบ.ม. ทำให้มวลน้ำในลุ่มน้ำชีมีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่ม โดยเฉพาะรอยต่อจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดมหาสารคาม

ส่วนนายมงคล จุลทัศน์ หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานีมีน้ำท่วมมากกว่าปี 2562 และได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำติดลำน้ำและพื้นที่ อ.วารินชำราบ ถนนเชื่อมตัวเมืองไม่สามารถสัญจรได้แล้ว ทำให้ภาพ อ.เมืองอุบลราชธานีกลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจพอสมควร เนื่องจากประชาชนไม่สามารถเดินทางไปจับจ่ายซื้อของได้ แม้แต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ลูกค้าก็ลดน้อยลง ธุรกิจการค้าจึงค่อนข้างซบเซา

ล่าสุดระดับน้ำในจังหวัดอุบลราชธานียังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการปล่อยน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ แต่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นแบบลดลงจาก 20 ซม./วัน เหลือ 6 ซม./วัน แต่ต้องรอดูอีก 10-15 วัน ในระยะเวลาที่น้ำจะไหลจากขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มาถึงอุบลราชธานีว่า น้ำจะมาเพิ่มอีกมากน้อยเพียงใด เพราะเขื่อนอุบลรัตน์ยังเพิ่มปริมาณการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

เจ็ดทุ่งรับน้ำใกล้เต็ม 80%

นายนที มนตริวัต รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า ชัยนาทขณะนี้ได้รับผลกระทบประมาณ 6 อำเภอ 30 ตำบล 144 หมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบหนัก ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยตลอดริม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับพื้นที่เกษตรคาดว่าได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 ไร่ เทียบกับปี 2564 มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า 18,000 กว่าไร่

“สถานการณ์น้ำท่วมจะยาวไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 แม้เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบาย 3,200 ลบ.ม/วินาที แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงกับวิกฤต ยังสามารถเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านได้และเขตพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองยังไม่ได้รับความเสียหาย”

นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตอนนี้เขื่อนเจ้าพระยาประกาศปล่อยน้ำเกินกว่า 3,100 ลบ.ม./วินาที และน้ำในจังหวัดเหนือเขื่อนเจ้าพระยายังคงไหลลงมาสมทบอยู่ เช่น จากจังหวัดนครสวรรค์ ทำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่หลากเข้าท่วม

ทั้งจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาและน้ำเหนือเขื่อนไหลมาสมทบ ทำให้เกิดน้ำท่วมไปแล้ว 12 อำเภอจาก 16 อำเภอ รวมกว่า 58,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำทั้ง 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำน้อย และแม่น้ำป่าสัก ประกอบกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายน้ำ 900 ลบ.ม. ซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน

ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ตลาดและเขตเทศบาลในอำเภอท่าเรือและอำเภอนครหลวง “เจ็ดทุ่งรับน้ำของเรา 309,000 กว่าไร่ ตอนนี้รับน้ำไว้แล้วประมาณ 80% ซึ่งระดับน้ำท่วมขังในแต่ละจุดจะสูงต่ำไม่เท่ากัน พื้นที่ในเกาะเมือง-เขตอุตสาหกรรมขณะนี้ยังคงรักษาไว้ได้”

กนอ.เตือนภัยระดับ 2

ส่วนสถานการณ์ของนิคมอุตสาหกรรม บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น นายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำยังอยู่ในระดับสีเขียวคือ “ไม่น่ากังวล” แต่หากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร ทั้งจากฝนตกจากทางภาคเหนือเพิ่มขึ้น น้ำทะเลหนุนสูง ก็จำเป็นที่จะต้องยกระดับขึ้นเป็นสีเหลืองคือ “เฝ้าระวัง”

แต่มั่นใจว่าน้ำปีนี้จะไม่ท่วมเหมือนครั้งปี 2554 โดยหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นโรจนะฯได้ลงทุนถึง 3,500 ล้านบาท เพื่อสร้างเขื่อนป้องกันรอบพื้นที่นิคมฯเป็นแนวกันชนความยาวกว่า 79 กม. นักลงทุนในพื้นที่ยังให้ความมั่นใจกับแผนการรับมือป้องกันน้ำท่วม ของโรจนะฯและยังไม่มีรายใดต้องการย้ายฐานการผลิตออกไป

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้ยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 2 (เฝ้าระวัง) แล้ว หลังมีการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 รวมถึงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

ส่งผลให้ระดับน้ำทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งเพิ่มสูงขึ้น โดยที่นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง อำเภอนครหลวง อยุธยา ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร่วมด้วย มีระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯประมาณ 2.86 เมตร

ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน อยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน (แม่น้ำเจ้าพระยา) เมื่อเทียบกับความสูงของเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้วยังคงเหลือระยะห่างจากสันเขื่อนอยู่ 2.16 เมตร

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า อำเภอบางไทร อยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน (แม่น้ำเจ้าพระยา) ระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ประมาณ 1.70 เมตร นอกจากนี้ยังมีการพร่องน้ำรักษาระดับไว้ที่ประมาณ 50% ตามสถานการณ์ ขณะเดียวกันได้ให้ทั้ง 3 นิคมฯตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯแล้ว

อิฐแดง-ทรายถมปรับขึ้นราคา

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจสถานการณ์ร้านขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันน้ำท่วมและหลังน้ำลดลงแล้ว โดยนายพีระยุทธ ยุวดี เจ้าของร้านท่าทรายยุวดี อ.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมายอดขายทรายค่อนข้างขายดี ประมาณ 300 ถุง/วัน เพราะเกิดสถานการณ์น้ำท่วม แต่ปัจจุบันยอดขายกลับมาปกติแล้ว

แต่ตอนนี้ประสบปัญหาคือ ทรายไม่สามารถดูดขึ้นมาขายได้เพราะน้ำท่วม ทำให้ราคาทรายหยาบเพิ่มขึ้น 350-400 บาท/คิว จากปกติราคา 300 บาท/คิว ส่วนทรายบรรจุถุงขนาดน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ทางร้านยังคงขายราคาเดิมถุงละ 25 บาท แม้ต้นทุนตัวถุงบรรจุทรายจะขยับราคาขายขึ้นจากปกติถุงละ 4 บาท ปรับเป็นถุงละ 5-6 บาทก็ตาม

ด้านร้านขายทรายย่าน ต.บางพูน จ.ปทุมธานี ซึ่งถือเป็นแหล่งร้านค้าส่งทรายรายใหญ่ตั้งอยู่ติดกันหลายร้าน พบว่าตั้งแต่เกิดภาวะน้ำท่วมในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายทรายถมและทรายหยาบเกือบทุกร้านเพิ่มขึ้นมาก เพราะร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายย่อยต้องการซื้อไปขายให้คนที่ต้องการซื้อถุงทรายไปป้องกันน้ำท่วม

ขณะเดียวกันมีประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อตรงกับท่าทรายเพื่อนำถุงทรายไปป้องกันน้ำเช่นเดียวกัน ความต้องการทรายที่เพิ่มขึ้นมากส่งผลให้เกือบทุกร้านมีการขยับราคาขายเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจค้าทรายก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย

เนื่องจากน้ำท่วมทำให้ไม่สามารถขนส่งมาทางเรือได้แบบภาวะปกติ ต้องใช้รถบรรทุกวิ่งไปรับ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทำให้ต้องปรับราคาขายทรายถมจาก 220 บาท/คิว เป็น 235-340 บาท/คิว และต้องสั่งซื้อขั้นต่ำ 4-5 คิว (ทราย 1 คิวจะกรอกใส่ถุงขนาดน้ำหนัก 25 กิโลกรัมได้ประมาณ 35 ถุง)

ขณะที่ “อิฐแดง” ในหลายพื้นที่เริ่มขาดตลาดและมีการปรับราคาขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจแหล่งทำอิฐแดงแหล่งสำคัญของประเทศที่ อ.บางบาล พระนครศรีอยุธยา พบว่าโรงทำอิฐส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วมมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ไม่สามารถขนดินและแกลบมาเผาอิฐได้

โดยอิฐที่ขายกันอยู่ในขณะนี้เป็นอิฐเก่าในสต๊อก ซึ่งจะหมดลงในไม่ช้า โดยจำหน่ายกันในราคาก้อนละเกือบ 1 บาท จากราคาปกติอยู่ที่ก้อนละ 50-60 สต. และต้องสั่งครั้งละไม่ต่ำกว่า 10,000 ก้อนขึ้นไป “ถ้ามีคำสั่งซื้ออิฐเข้ามาตอนนี้ต้องรอประมาณครึ่งเดือนถึงจะมีของส่งให้

แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำท่วมด้วย เพราะถ้าน้ำยังไม่ลดก็เปิดเตาเผาอิฐไม่ได้ และเมื่อน้ำลดลงจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 วัน เพื่อซ่อมแซมและตากเตาเผาอิฐที่ถูกน้ำท่วม”

น้ำท่วมนครปฐม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางจังหวัดนครปฐมแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ติดตามสถานการน้ำอย่างใกล้ชิด ช่วงน้ำทะเลหนุน 11-15 ต.ค.นี้ ประกอบกับกรมชลฯปล่อยน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงสู่แม่น้ำท่าจีนปริมาณมาก

ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ได้ลุกลามไปถึงลุ่มน้ำท่าจีนแล้ว โดยนายพิทักษ์ ยุวานนท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครปฐม กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำท่าจีน (ชัยนาท-สุพรรณบุรี-นครปฐม) ทำให้มีการระบายน้ำลงในแม่น้ำท่าจีนในปริมาณมาก ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 311 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 104% ของปริมาณน้ำเก็บกัก

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ จังหวัดชัยนาท ปริมาณน้ำ 170 ลบ.ม./วินาที ผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ระบายน้ำ 264.49 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลที่ปากแม่น้ำท่าจีน น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นด้วย ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์-ตลาดท่านา บริเวณ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี และ อ.สามพรานแล้ว

น้ำท่วมบนถนนเพชรเกษม บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี จ.นครปฐม ขาเข้ากรุงเทพมหานคร
น้ำท่วมบนถนนเพชรเกษม บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี จ.นครปฐม ขาเข้ากรุงเทพมหานคร(ภาพ : ศูนย์ภาพเครือมติชน) 11 ต.ค.65