ฤดูฝนมาแล้ว! สัปดาห์หน้าเตรียมรับมืออย่างเป็นทางการ

ฤดูฝน

กรมชลประทาน เผยไทยเตรียมเข้าหน้าฝนสัปดาห์หน้า เปิด 6 แนวทาง แผนบริหารจัดการน้ำต้อนรับฤดูฝนเตือนอีสาน-เหนือ อาจน้ำท่วมจากพายุเขตร้อน ชี้น้ำใน 4 เขื่อนหลักเต็ม 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรให้ประชาชน ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ครบ สำรองได้ถึงช่วงหน้าแล้งปลายปี พร้อมรับมือเอลนีโญ เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือฤดูฝนปี 2566 ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2566 ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งในแผนจัดการน้ำฤดูฝน ซึ่งคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์หน้า หรือสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. 2566 โดยกรมชลฯ มี 12 มาตรการที่จะนำไปสู่ 6 แนวทางสำคัญ คือ

1.เก็บกักน้ำให้เต็มประสิทธิภาพ

2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง

3.หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง

4.ระบบชลประทานเร่งระบาย 5.Stanby เครื่องมือ เครื่องจักร 6.แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์

นายประพิศ จันทร์มา
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

ซึ่งจากการกักเก็บน้ำช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา (1 พ.ย. 2565-30 เม.ย. 2566) ส่งผลให้มีน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอยู่ที่ 20,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือเป็นน้ำต้นทุนสะสมไว้ให้ช่วงหน้าฝนได้มากกว่าปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% และมีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ในช่วงเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. 2566 และได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเตรียมรับมืออุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น

ด้วยการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่า กำหนดผู้รับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนไว้ล่วงหน้า

กรมชลประทาน

พร้อมทั้งเตรียมจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และอื่น ๆ ที่ประจำอยู่ทั่วประเทศรวม 5,382 หน่วย สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 ที่ผ่านมา (1 พ.ย. 2565-30 เม.ย. 2566) ทั่วประเทศ เก็บน้ำไว้ได้ 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 25,200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกระจายไปสู่การบริโภค-อุปโภค 2,520 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศ 6,804 ล้านลูกบาศก์เมตร การเกษตร 15,372 ล้านลูกบาศก์เมตร (พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 10.38 ล้านไร่) ภาคอุตสาหกรรม 504 ล้านลูกบาศก์เมตร

ฤดูฝน