สัมภาษณ์
“ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เบทาโกรปรับตัวเรื่องโครงสร้างการบริหารค่อนข้างมาก มีการดึงผู้บริหารจากหลายอุตสาหกรรมมาร่วมงาน พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองไปในทิศทางที่ใช้เทคโนโลยี ใช้บิ๊กดาต้า มาพัฒนาธุรกิจมากขึ้น” นี่เป็นคำกล่าวของ “วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG พูดคุยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถ่ายทอดประสบการณ์จากบทเรียนโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) จนมาสู่วิกฤตหมูเถื่อน
“ตอนที่เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ทำให้แม่หมูหายไปจาก 1 ล้านตัวเหลือ 600,000 กว่าตัว หมูขุนหายไปจาก 20 ล้านตัว เหลือ 16-17 ล้านตัว เยอะมาก โดยเฉลี่ยผลที่เกิดขึ้นกับแม่หมูจะส่งผลต่อจำนวนลูกหมูในอีก 6-9 เดือนถัดไปข้างหน้า”
BTG ฝ่าความท้าทาย ASF
“คำถามคือตอนที่เกิดการระบาดของ ASF มากที่สุดในตอนนั้นคือ โรคนี้เกิดจากอะไร คำตอบคือ เกิดจากฟาร์มที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มี Biosecurity ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อฟาร์มสกปรก เชื้อโรคก็เข้ามา ฟาร์มย่อยในนครปฐม หรือราชบุรีที่ไม่มีระบบควบคุมก็เสียหาย ส่วนรายใหญ่ก็สูญเสียลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได”
“ตอน ASF อย่างเรา มีระบบหลังบ้านแข็งแรง คนอื่นเสียหายไป 40% แต่เราดีขึ้น 9% เพราะเรามีแผนหมูมาตลอด หมูเราไม่เสียหาย เราคุมโรคอยู่ เราจึง Havest หมูได้ดีมาก ๆ ตอนปี 2022 (2564) และพอปี 2023 เราจะ Harvest ต่อเพื่อจะฟื้นต่อเนื่อง ปี 2023-2024-2025 (2565-2567) แต่ในจังหวะนั้น ปี 2023 (2565) เกิดปัญหาหมูเถื่อน เบรคอีฟเว่นไปกลับเราหายไป 7-8 พันล้านบาท”
ตลาดหมูฟื้นตัวแล้ว
ภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ของ BTG รายได้จากยอดขาย 27,251.4 ล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยังขาดทุน 124.1 ล้านบาท จากการแก้ปัญหาหมูเถื่อน แต่ “ซีอีโอเบทาโกร” ให้ความมั่นใจว่า ตลาดหมูขณะนี้ได้ฟื้นตัวกลับมาแล้ว
“ภาพรวมครึ่งปีแรกของปีนี้ รีคัฟเวอร์กลับมา สินค้าทุกตัวก็ดีขึ้นหมด อาหารสัตว์ต้นทุนปีที่แล้วไม่ได้สูงมาก มาปีนี้ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น ไก่เนื้อส่งออกดีขึ้น หมูก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น เลยทำให้ปีนี้ปรับตัวดีขึ้น”
BTG กับบทบาทด้านสังคม
อย่างไรก็ตาม การทำงานในสวนของเบทาโกร ไม่เพียงมุ่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่เบทาโกรยังสวมบทบาทในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ในด้านอาหาร โดยบริษัทได้เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เข้าร่วมสนับสนุน “The Food School Bangkok” ซึ่งเป็นสถาบันสอนการทำอาหารนานาชาติ ตั้งอยู่บริเวณซอยจุฬาฯ 9 สถาบันนี้เกิดจากการร่วมกันของกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
“Food School Bangkok เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารที่ทันสมัยมาก มีกลุ่มผู้ลงทุนหลายรายที่มีประสบการณ์ด้านฮอสพิทาลิตี้ ไม่ว่าจะเป็นดุสิตธานี คิตเช่น เรามีความคุ้นเคยกับผู้ร่วมทุนและคอร์ปอเรตสปอนเซอร์ โดยมาสปอนเซอร์กิจกรรมตั้งแต่เริ่มเปิด ส่งเสริมเชฟที่มีคุณภาพ พยายามเชื่อมโยง Ecosystem ของอาหาร ให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยที่นี่มีคลาสอาหารทั้งอิตาเลียน อาหารญี่ปุ่น และอาหารไทย”
“เรามาทำสกอลาร์และรีครูตคนจากหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามาเรียน ก่อนหน้านี้ มีการจัดทำโครงการ Future Chef of the World 2024 เฟ้นหาผู้ที่มีใจรักในการทำอาหาร เพื่อบ่มเพาะผู้มีฝีมือด้านอาหาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย”
วางอนาคตธุรกิจใหม่สู่คนรุ่นใหม่
ขณะเดียวกันจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจเบทาโกรเป็นธุรกิจเก่าแก่ที่มีการส่งผ่านการทำงานระหว่างรุ่นสู่รุ่น โดยล่าสุด “วสิษฐ” ได้ผ่องถ่ายภารกิจงานในธุรกิจใหม่ให้กับบุตรชาย “ชยธร แต้ไพสิฐพงษ์” หรือ “แวน” เข้ามารับหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG และกรรมการผู้จัดการ Betagro Ventures
ชยธรเล่าว่า ผมอยู่ในเบทาโกร 3 ปี จบด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ไปเป็นที่ปรึกษาที่เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประมาณ 5-6 ปี ก็กลับมาทำงานที่เบทาโกร ที่บ้านผมมีน้องสาว 1 คน กำลังเรียนอยู่
“การทำงานกับคุณพ่อสนุกดี เพราะท่านให้โอกาสลองทำสิ่งใหม่ ๆ เยอะพอสมควร ตั้งแต่มาเบทาโกร ก็เริ่ม Set up กองทุน Venture ขึ้นมา ตอนแรกก็คิดว่าต้องคอนวินซ์เยอะ ต้องไปคุยอธิบายเยอะ แต่พอทำจริง ๆ ทุกคนบอกว่าน่าสนใจอยากลองทำก็ลองทำดูเลย ดูว่ามันจะเป็นอย่างไร ทุกคนสนับสนุน Innovation Venture”
หลักการที่คุณพ่อถ่ายทอดให้เรา สิ่งที่เห็นได้ชัดจริงคือ “รู้ลึกและต้องทำจริง” พ่อจะสังเกตในทุกดีเทลในการทำงานจริง ๆ ถามไป 3-4 สเต็ปข้างหน้าที่ยังไม่เริ่มทำ ซึ่งมันทำให้เราคิดว่าเวลาที่จะเริ่มทำอะไร ก็จะลงดีเทล ละเอียดกับมันจริง นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดและประทับใจ
ครบ 1 ปีกองทุนเวนเจอร์
หลังจากดำเนินงานผ่านมา 1 ปี สำหรับ Innovation Venture ตามแผนการลงทุน 5 ปี เรามีงบฯลงทุน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้มีการลงทุนไปแล้ว 1 Startup และในปีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา 2-3 สตาร์ตอัพ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณรายละ 4-5 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2-3 ล้านบาท
“เรามองว่าอยากจะให้ Startup เหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้กลับมา ตามแผนการลงทุน 5 ปี ซึ่งมีเป้าหมายอยากจะให้มีธุรกิจที่สปินออฟออกมาสร้างรายได้กลับคืนสู่บริษัทปีละ 2-3 ราย”
ปั๊มยอดขายแพลนต์เบส
นอกจาก Innovation Venture แล้ว “ชยธร” ก็ยังดูแลผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช หรือแพลนต์เบส แบรนด์ Meatly ของเบทาโกร
แนวโน้มตลาดแพลนต์เบสยังไปได้ดี ทั้งนี้ ปัจจุบันอายุ Meatly ประมาณ 2 ปี ยอดขายเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ วัดมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ประมาณ 10% เป็นอันดับสองในตลาดรองจาก Meat Zero
“บริษัทมองว่า ตลาดแพลนต์เบสยังไม่ใช่ขาลง สินค้านี้ยังคงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง โปรตีนเทรดิชั่นนอลไม่ได้มีข้อจำกัด แต่ว่าแพลนต์เบสก็ต้องอาศัยเวลาว่าจะไปอย่างไร เพราะการพัฒนาสินค้านี้มีทั้งเรื่องของเทคโนโลยีและอายุเวลา เพราะมีเรื่องเจเนอเรชั่นของผู้บริโภคที่จะมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จะต้องนำมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไปถึงจุดที่เขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในการรับประทานอาหารของเราได้”
สำหรับสินค้าแพลนต์เบสแต่เดิมเราเน้นทำเป็นวัตถุดิบสำหรับใช้นำไปปรุงอาหาร และส่งไปยังร้านอาหาร แต่ตอนนี้ปรับมาเน้นทำเป็นเมนูพร้อมรับประทานมากขึ้น เช่น ข้าวกะเพราเนื้อสามชั้นจากพืช ข้าวคะน้าเนื้อสามชั้นจากพืช และข้าวเนื้อสามชั้นจากพืชคั่วพริกเกลือ ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปรับกระแส Soft Power อาหารไทย โดยชูคอนเซ็ปต์ เนื้อจากพืช อร่อยง่ายได้สุขภาพ รสชาติที่คุ้นเคย มีโปรตีนและไฟเบอร์สูง ไร้คอลเลสเตอรอล โดยช่องทางจำหน่ายเน้นในซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นกูร์เมต์ โลตัส บิ๊กซี อีกส่วนจะเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านอาหารบางแบรนด์โคแบรนด์ทำเมนูโดยใช้วัตถุดิบของ Meatly
ล่าสุดในปีนี้เตรียมจะออกเมนูใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมจากตอนนี้ที่มีประมาณ 20 SKU ซึ่งน่าจะได้เห็นในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งจะเป็นเมนูพร้อมรับประทานที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น