ชงบอร์ดBOIต่อแพ็กเกจEEC เอกชนหนุน”เงื่อนไขใหม่”ดึงลงทุนปี’63

ชงบอร์ด BOI ต่ออายุแพ็กเกจส่งเสริมลงทุน EEC ก่อนหมดเวลา 30 ธ.ค.นี้ พร้อมหารือ “เงื่อนไขใหม่” เอกชนประสานเสียงหนุนต่อแพ็กเกจ EEC หวังดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้านบีโอไอแง้มมีโอกาสต่อและปรับเงื่อนไขได้ เตรียมแผนพบนักลงทุนกระตุ้นยอดส่งเสริมครึ่งปีหลัง 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ เลขาฯ EEC) กล่าวว่า สกพอ.จะขอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ต่ออายุแพ็กเกจมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งกำลังจะหมดสิทธิ์ให้นักลงทุนยื่นขอภายใน 30 ธ.ค.นี้ต่อไปอีก เนื่องจากการลงทุนตามแผนยังไม่สิ้นสุด ส่วนจะปรับเงื่อนไขให้เป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับทางบีโอไอพิจารณา แต่จะมีการหารือกันในลำดับต่อไป โดยอย่างน้อยคาดว่าจะต่ออายุแบบปีต่อปี และปรับเงื่อนไขใหม่เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ไทยต้องการและเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า การต่ออายุมาตรการส่งเสริมอีอีซีสามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่น ๆ โดยอาจต่ออายุมาตรการรูปแบบเดิมหรือปรับรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องพิจารณาเป้าหมายการส่งเสริมการลงทุนเป็นหลักว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร และจะต้องมีความเหมาะสมมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้บีโอไอได้จัดกิจกรรมและมีแผนจะเดินทางโรดโชว์พบปะนักลงทุนเพื่อกระตุ้นการลงทุนในครึ่งปีหลัง

รายงานข่าวระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บีโอไอจัดโรดโชว์ไปยังหลายประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี เน้นอุปกรณ์ทางการแพทย์, ประเทศสเปน ชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมการบินและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ, ประเทศออสเตรเลียเน้นอุตสาหกรรมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล และธุรกิจด้านการศึกษา, และล่าสุดไปปารีส ร่วมงานมหกรรมสินค้าการบิน เป็นต้น สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ม.ค.-มี.ค. 2562 มีจำนวน 116 โครงการ เงินลงทุน 75,054 ล้านบาท

ด้านนายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน EEC แต่ขณะนี้การลงทุนจริงในพื้นที่ยังไม่มากเท่าที่ควร และแพ็กเกจ EEC กำลังจะหมดสิทธิ์ให้นักลงทุนยื่นขอภายในสิ้นปีนี้ เชื่อว่ารัฐน่าจะต่อมาตรการดังกล่าวออกไปอีก แต่จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างเล็กน้อยจากแพ็กเกจเดิม เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับนักลงทุนรายเก่า ที่ยื่นขอภายใต้แพ็กเกจเดิมไว้แล้วตั้งแต่ประกาศออกมาเมื่อปี 2560 และมีการต่ออายุไปแล้วครั้งหนึ่งก่อนจะหมดอายุเมื่อ 31 ธ.ค. 2560

“แน่นอนว่าบีโอไอน่าจะต่อแพ็กเกจ แต่จะต่อในรูปแบบไหน เพราะถ้าเราใช้แพ็กเกจใหม่แล้วสิทธิประโยชน์ใหม่มากกว่าเดิม รายเก่าเขาคงไม่ยอม”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (WHA) กล่าวว่า แน่นอนว่าที่ผ่านมา EEC คือช่วงของการเริ่มต้น การตั้งกรอบเวลาเอาไว้ก็เพื่อเร่งให้มาขอลงทุน ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการลงทุนใน EEC ควรต้องมีการส่งเสริมต่อ ส่วนการจะใช้ลูกเล่นอะไรเพิ่มเข้าไปหรือไม่นั้น ในส่วน 12 อุตสาหกรรมขณะนี้ก็นับว่าเพียงพอมากแล้ว เพียงแต่จำต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เร่งรัดขั้นตอนให้เร็ว อย่างไรก็ตาม WHA หวังให้ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมคนใหม่ ผลักดันโครงการ EEC ให้ต่อเนื่องโดยเร็ว


“ยอมรับว่า EEC ช้าไปนิดหน่อย แต่ก็เป็นไปตามกระบวนการ เพราะหากนับตั้งแต่วันที่ประกาศนโยบาย ผ่านการระดมสมองร่าง พ.ร.บ. และในที่สุดก็มีกฎหมาย EEC คลอดออกมา จนถึงขั้นเริ่มประมูลได้ หาก 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานเรียบร้อยภายในปีนี้ ก็ถือว่าดีแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ต้องวิ่งทันที เพราะ EEC ทำมาแล้วมาก ต้องสานต่อให้เสร็จ”