อุทธรณ์ G to G พลิก “บุญทรง” อ่วม “เจียเม้ง” ติดหางเลข

โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด นโยบายที่รัฐใช้งบประมาณจำนำข้าวจากเกษตรกรมาครอบครองไว้ในมือรัฐมหาศาลแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ และจัดฉากนำข้าวดังกล่าวมาขายออกไปต่างประเทศด้วยวิธีรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับตัวแทนรัฐบาลจีนที่สมมุติขึ้นมา

ซึ่งเบื้องหลังคือการให้ผู้ส่งออกรายหนึ่ง (สยามอินดิก้า หรือชื่อเดิมคือ เพรซิเด้นท์ อะกริเทรดดิ้ง) เป็นนายหน้ากระจายขายข้าวรัฐให้กับผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ที่ไม่มีโอกาสจะเข้าถึงสต๊อกข้าวรัฐโดยตรง กินกำไรส่วนต่างกันอย่างครึกโครม จนนำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตรวจสอบโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูลคดีทุจริตโครงการระบายข้าวสารแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา ในชั้นต้นไปเมื่อปี 2559

ผ่านมา 4 ปี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์คดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 โดยให้เพิ่มโทษนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จาก 42 ปี เป็น 48 ปี ส่วน นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ จำคุก 36 ปี และจำคุกอดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ประกอบด้วย นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 40 ปี นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ/ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว 32 ปี และ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ (ช่วยเกลี้ยง) อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ 24 ปี และวีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ซึ่งหลบหนีไปแล้ว รวมถึงผู้ประกอบการวม 28 ราย อาทิ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร 48 ปี และจำเลยอื่น ๆ ทั้งหมด และมีมติให้ทั้งหมดร่วมกันชดใช้ความเสียหายให้กับกระทรวงการคลัง 16,900 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% นับแต่วันรับมอบข้าวตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม ผลอุทธรณ์ครั้งนี้ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งจำคุก “นางประพิศ มานะธัญญา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง 4 ปี โดยให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี พร้อมทั้งปรับ 2.5 หมื่นบาท และเรียกค่าเสียหายต่อรัฐ 55 ล้านบาท จากเดิมที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกคำร้องนางประพิศเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ 3 เดือน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์นางประพิศซึ่งได้นำข้าวถุง “Q Rice” เข้าร่วมงานแสดงสินค้าไทยเฟกซ์ 2019 เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 แสดงความมั่นใจในการเดินหน้าธุรกิจหลังศาลชั้นต้นยกคำฟ้อง โดยระบุว่า

“เราถูกชี้มูลไปว่าสนับสนุนจำเลยอื่น ๆ ที่กระทำผิดแต่พิสูจน์ว่าทำมาค้าขายปกติ ซื้อข้าวจากโกดังที่เหลืออยู่โดยไม่ทราบหรอกว่าข้าวมาอย่างไร เพราะซื้อตามราคาตลาด ปริมาณหมื่นกว่าตัน และส่งออกหมด…ทั้งย้ำว่าทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ จริงใจ ฉะนั้น อะไรจะเกิดขึ้นก็ตามเรารู้ว่าทำอะไรถูกหรือผิด”

ประเด็นดังกล่าวสร้างความฮือฮาในวงการค้าข้าวอย่างมาก หากย้อนกลับเมื่อปี 2559 บริษัทเจียเม้งยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการตนเอง เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว และเดือนมีนาคม 2560 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องคดีดำ ฟ.17/2559 ที่เจียเม้ง (จำเลย) ระบุมีหนี้รวม 4,480 ล้านบาท กับเจ้าหนี้ 37 ราย เป็นสถาบันการเงิน 7 แห่ง 3,480.5 ล้านบาท อาทิ ซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งขณะนั้นแจ้งว่ามียอดเงินกู้ 490 ล้านบาท มีหลักทรัพย์เป็นที่ดินสิ่งปลูกสร้างอุปกรณ์และเครื่องจักรในโรงงาน, ธนาคารกสิกรไทย 516.5 ล้านบาท ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 175.1 ล้านบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 145.4 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ มีหลักทรัพย์ที่ดิน 157 ล้านบาท และเจ้าหนี้การค้าและหน่วยราชการ 30 ราย รวม 996.3 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนั้นมีทั้งโรงสี ผู้ประกอบการรายย่อย และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์รวมอยู่ด้วย

ทันทีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยัง “เจ้าหนี้” ของเจียเม้งหลายราย ได้รับการชดใช้หนี้ไปแล้ว เช่น โรงสีบางแห่งได้ที่ดินของเจียเม้งเพื่อเป็นการชดใช้หนี้ ขณะที่ “กรมการค้าต่างประเทศ” ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้แจ้งว่าเตรียมประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางดำเนินการกับหนี้ดังกล่าว เพราะเคสนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทางบริษัทเจียเม้งยังได้มีการขอใบอนุญาตส่งออกข้าวแต่ปริมาณไม่มากนัก ซึ่งอาจจะกระทบต่อการชำระหนี้หรือไม่ยังต้องพิจารณาอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวตั้งข้อสังเกตว่า ผลการพิจารณาศาลอุทธรณ์นี้ทำให้นักธุรกิจในแวดวงต่างระมัดระวัง เพราะยังมีคดีจีทูจีลอต 2 ที่อยู่ระหว่างพิจารณา หากผู้ส่งออกที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับการพิจารณาเช่นเดียวกับเคสของเจียเม้ง และต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายคืนรัฐ อาจจะนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจข้าวหรือไม่ เพราะปรากฏชื่อผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับท็อปของเมืองไทยหลายรายที่อยู่ในโผ ประเด็นนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่ออนาคตการส่งออกข้าวไทย

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า คดีนี้สร้างบทเรียนให้กับวงการข้าวและหน่วยงานภาครัฐอย่างมาก โดยคนทุจริตอยากได้ข้าว เพราะข้าวทั้งหมดอยู่ในมือรัฐบาล โรงสีที่มั่นใจว่ามีเส้นสายสามารถเข้าร่วมโครงการก็กู้เงินมาขยายโรงสีเกินกำลังการผลิต ผู้ส่งออกใช้อิทธิพลการเมืองก็แข่งขันได้ แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน พอหมดยุคการเมืองไปก็ไป ขณะที่โรงสีอีกกลุ่มที่ตัดสินใจไม่ร่วมโครงการ ไม่พึ่งพิงการเมือง ทำธุรกิจปกติ ถึงจะลำบากตอนนั้น แต่ก็อยู่รอดมาได้

ขณะที่สถาบันการเงินก็คงต้องระมัดระวังเรื่องหนี้สิน สภาพคล่องโรงสีก็ถือเป็นอีกด้านที่ต้องดำเนินการกันต่อไป ส่วนจะมีผลต่อสภาพคล่องการค้าข้าวหรือไม่ยังประเมินไม่ได้ เพราะจีทูจีลอต 2 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


และที่สำคัญที่สุดคือ บทเรียนต่อการกำหนดนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ด ต่อไปรัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่งกับธุรกิจ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด นำเงินงบประมาณไปใช้ลงทุนด้านอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ