อภิศักดิ์ เทพผดุงพร กะทิชาวเกาะสู้ศึกแรงงานลิง

สัมภาษณ์พิเศษ

บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ธุรกิจเก่าแก่ที่คนไทยรู้จักดีมาตั้งแต่เมื่อปี 2519 ในฐานะผู้ผลิตกะทิพาสเจอไรซ์บรรจุถุง กระป๋อง และผงในแบรนด์ชาวเกาะ ที่จำหน่ายทั้งตลาดในและต่างประเทศมียอดขายปีละ 6,000 ล้านบาท โดยปัจุบันบริษัทมีโรงงาน 3 แห่งในเครือ คือ โรงงานชาวเกาะ โรงงานอำพลฟู้ดโพรเซสซิ่ง และโรงงานแม่พลอย ซึ่งผลิตกลุ่มเครื่องปรุงเครื่องแกงแบรนด์แม่พลอย

ชาวเกาะถือเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม หรือ PETA กล่าวหาไทยว่ามีการใช้แรงงานลิงอย่างทารุณ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้นำเข้าในสหราชอาณาจักรยกเลิกการสั่งซื้อมะพร้าว กะทิ และผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออก “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “อภิศักดิ์ เทพผดุงพร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ถึงแนวทางรับมือเรื่องดังกล่าว

ข้อกล่าวหาพีต้ากับการส่งออก

ปัจจุบันบริษัทมีการส่งออกกะทิไปจำหน่ายในตลาดอังกฤษ ข่าวพีต้าเรื่องการทารุณกรรมลิงซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันจึงยังไม่กระทบให้มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ เทียบกับประเด็นที่กระทบมากในตอนนี้คือผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ยอดขายลดลงไปการโจมตีเรื่องดังกล่าวเคยมีมาก่อนหน้านี้มีกรณีที่อเมริกากล่าวหาเรา ส่วนในกรณีนี้ข้อมูลพีต้าอาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะใช้ข้อมูลที่มาจากการโปรโมตการท่องเที่ยวซึ่งจะมีการแสดงโชว์ลิงเก็บมะพร้าว แต่เป็นการโชว์ลิงที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ซึ่งเท่าที่ผมทราบ เขามีการดูแลลิงกันเป็นอย่างดี การเลี้ยงลิงในประเทศไทยถือเป็นวิถีของชาวบ้านชาวสวนที่ดำเนินการมานับ 100 ปีแล้ว

แนวทางการชี้แจงผู้นำเข้า

เราให้ข้อมูลไปหมดเลยถึงกระบวนการดำเนินการ แต่มองว่าน่าจะมีคนกลาง รัฐบาลทำข้อมูล หรือที่จะเชิญทูตจากประเทศต่าง ๆ ไปชมสวนมะพร้าว แต่ควรต้องมีผู้ที่ประสานข้อมูลเพื่อจะได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้การปลูกมะพร้าวในอุตสาหกรรมไม่ค่อยใช้แรงงานลิงเท่าไรแล้ว ส่วนหนึ่งเพราะพันธุ์มะพร้าวใหม่ ๆ จะเป็นพันธุ์ที่มีลำต้นเตี้ยไม่ต้องใช้ลิงขึ้นมะพร้าวเลย และบริษัทยืนยันได้เลยว่าไม่ใช้ลิง 100% ในตอนที่สหรัฐกล่าวหาไทยนั้นเราเรียกชาวสวนที่ทำ contract farming กับเรามาทำบันทึกความตกลง (MOU) เลยว่าจะไม่ใช้การทารุณสัตว์ ไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว ส่วนกรณีนี้เป็นการกีดกันทางการค้ามากกว่า

ยอดขายในช่วงครึ่งปีแรก

ยอดขายครึ่งปีแรกลดลงไปประมาณ 10-15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างที่บอกว่าปัจจัยหลักเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแม้ว่าจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home มีการทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายในค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มบ้าง แต่สัดส่วนการขายในฟู้ดเซอร์วิสที่ลดลงค่อนข้างเยอะ เพราะร้านอาหาร โรงแรมต่าง ๆ ปิดให้บริการจากโควิดก็กระทบ เพราะยอดขายในกลุ่มนี้มีปริมาณมาก โดยเฉพาะในสหรัฐที่เป็นตลาดหลัก 50% ประสบปัญหาเรื่องการระบาดของโควิด-19 เป็นอันดับ 1 ของโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าในตลาดออสเตรเลียที่เสนอสั่งซื้อเพิ่มเข้ามาบ้าง เพื่อนำไปจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 20% ในออสเตรเลียมีห้างหลัก ๆ เช่น วูดเวิร์ด COLE เราขายเข้าไปได้ในแบรนด์ของเรา คือ TCC

แนวโน้มตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง

ครึ่งปีหลังเราคงจะพยายามรักษายอดขายให้ลดลง 10-15% ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรกไว้ให้ได้ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศไทยจะเริ่มคลี่คลาย และมีการประกาศมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 5 ให้ธุรกิจกลับมาทำได้ปกติแล้ว แต่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป ก็ยังไม่คลี่คลาย นี่จะเป็นปัจจัยหลัก เพราะตอนนี้เราส่งออกสัดส่วน 80% และขายภายในประเทศ 20% เท่านั้น ปัจจัยเสี่ยงในตลาดโลก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเรา ตอนนี้รัฐบาลหลายประเทศก็พยายามแก้ไขโดยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็อาจจะดีขึ้น

ส่วนตลาดในประเทศก็ชะลอตัวลงเช่นกัน บริษัทได้มุ่งเน้นการทำตลาด โดยมีโปรโมชั่นนำเอาสินค้าอื่นมาลดราคาช่วย แต่ต้องยอมรับว่าต้องมีการลดการโฆษณา และมีการเพิ่มการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมีทั้งออนไลน์ของบริษัท และผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ลาซาด้า เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่นิยมช่องทางนี้

ฟรีซการลงทุน

การผลิตก็เป็นไปตามสถานการณ์ตลาดโลก ซึ่งตอนนี้บริษัทคงไม่มีการลงทุนโครงการใหม่เพิ่ม ยกเว้นโครงการที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้เช่น เคยมีสั่งซื้อเครื่องจักรไว้ก่อนแล้วก็จะดำเนินการต่อเนื่อง ตอนนี้ยังคงรักษากำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 90% ของกำลังการผลิตทั้งหมด อาจด้วยความที่เป็นอุตสาหกรรมอาหารจึงยังดี เพราะยังต้องกินต้องใช้

ทิศทางวัตถุดิบมะพร้าว

เป็นที่ทราบกันดีว่าในแต่ละปีไทยผลิตมะพร้าวกะทิไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว ดังนั้น จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในส่วนของบริษัทก็เช่นกัน ต้องนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก ถึงแม้ว่าเราจะมีสวนมะพร้าวของบริษัทเหลืออยู่แต่ก็มีไม่มากนัก ประมาณ 100 กว่าไร่เท่านั้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์


ส่วนแนวโน้มทิศทางราคามะพร้าวขณะนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 10 บาท/ลูก ถือว่าเป็นระดับราคาที่สูงกว่าก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาราคาตกต่ำ และมีปัญหาโรคระบาด