รุมชิงโควตาฉีดวัคซีนโควิด “ธุรกิจ-โรงงาน” จองคิวทะลัก

โรงงานต่อคิวฉีดวัคซีน_ปกใน

โควิด-19 แรงไม่ตก ! ดันวัคซีนดีมานด์พุ่ง คิวจองฉีดเต็มถึงสิ้นเดือนมิถุนายนแล้ว ภาคเอกชนดิ้นฝุ่นตลบ ทาบโรงพยาบาลเอกชนช่วยซัพพอร์ต บริษัทใหญ่-โรงงานอุตสาหกรรม วิ่งเจรจาขอโควตา รมว.แรงงานแจงผลสำรวจความต้องการ ประกันสังคม 5.1 ล้านคน ขอฉีด ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลั่นวัคซีนมีปริมาณมากพอ-ได้ฉีดทุกคน สั่งปูพรมฉีด กทม. 5 ล้านคน ใน 2 เดือน

การกลับมาเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 รอบ 3 ที่มีดีกรีความหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้น ทั้งในแง่ของการแพร่ระบาดที่กระจายเป็นวงกว้าง ล่าสุดมียอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 84,692 ราย (18 พฤษภาคม) เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้น เฉลี่ย 25-30 คน/วัน

เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความตื่นตัวและความต้องการฉีดวัคซีนมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว สะท้อนจากยอดการจองฉีดวัคซีนผ่านแอปหมอพร้อม การจองคิวฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่ยอดจองเต็มอย่างรวดเร็ว

วัคซีนโควิดดีมานด์พุ่ง

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ประชาชนมีความตื่นตัวและมีความต้องการการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ทั้งกรณีของการรับการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้ และวัคซีนทางเลือก ปรากฏการณ์นี้เริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ได้มีการโทรศัพท์เข้าไปติดต่อสอบถามเรื่องการฉีดวัคซีน

รวมถึงหลายคนได้มีการแสดงความจำนงที่จะจองวัคซีนทางเลือกในกรณีที่หากโรงพยาบาลได้มีการนำเข้ามา นอกจากดีมานด์ของประชาชนทั่ว ๆ ไปแล้ว ขณะนี้ดีมานด์จากองค์กรธุรกิจ บริษัทขนาดใหญ่ โรงงานต่าง ๆ ก็มีเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นกัน

“ปัจจัยหลัก ๆ มาจากการแพร่ระบาดที่มีความรุุนแรง และช่วงหลัง ๆ มานี้ในแง่ของการเสียชีวิตมีตัวเลขที่สูงขึ้น ที่ประกอบกับแผนการกระจายวัคซีนที่ไม่มีความชัดเจน และมีความล่าช้า ทำให้ทุกคนต้องการจะฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลายคนมีการลงทะเบียน หรือจองคิวฉีดไว้หลายที่ เพื่อให้ได้ฉีดให้เร็วที่สุด”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนในภาคตะวันออกที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และระยอง มีความตื่นตัวเรื่องการฉีดวัคซีนโควิดมาก โดยแต่ละวันจะมีการโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องการฉีด การจองวัคซีนเป็นจำนวนมาก ทั้งกรณีของวัคซีนที่รัฐบาลจัดให้ฟรี และวัคซีนทางเลือกที่จะต้องจ่ายเงินเอง

ล่าสุดจากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งที่เข้าร่วมโครงการฉีดวัคซีนของภาครัฐ มีคิวเต็มและยาวไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนแล้ว เช่น โรงพยาบาลวิภาวดี ที่ให้บริการฉีดวันละ 400 คน ขณะนี้คิวฉีดเต็มไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน เช่นเดียวกับโรงพยาบาลวิมุต ที่รับฉีดวันละ 500 คน เดือนมิถุนายนคิวจองฉีดวัคซีนก็เต็มแล้วเช่นกัน

หรือเฉลี่ยแต่ละโรงพยาบาลจะมีผู้จองฉีดวัคซีนของรัฐบาลมีมากกว่า 10,000 คน/เดือน ขณะที่โรงพยาบาลพญาไท 1 เดือนมิถุนายนคิวเต็มแล้วเช่นกัน (ไม่ระบุจำนวนผู้ลงทะเบียน) ส่วนโรงพยาบาลปิยะเวทยังเปิดรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม

เอกชนดิ้นขอโควตาวัคซีน

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานในนิคมมาบตาพุดหลายแห่งกำลังเร่งติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรวัคซีนทั้งในจังหวัดระยองและส่วนกลาง เพื่อขอโควตาวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงาน เนื่องจากที่ผ่านมา แม้สำนักงานประกันสังคมจะได้มีการสำรวจความต้องการมายังบริษัท หรือโรงงานต่าง ๆ แล้ว แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าโรงงานแต่ละแห่งจะได้โควตามากน้อยเพียงใด และโรงงานแต่ละแห่งจะได้รับการฉีดเมื่อไหร่

ทั้งนี้ ปัญหาหลักน่าจะมาจากเรื่องของระบบและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ล่าช้าและค่อนข้างใช้เวลา เช่น หลังจากที่มีการสำรวจความต้องการแล้วก็จะต้องส่งเรื่องไปขออนุมัติ จากนั้นก็จะนำยอดไปจองโควตาวัคซีน แต่หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบ และที่สำคัญคือจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ในนิคมจะมีวัคซีนมาเมื่อไหร่ และได้รับการจัดสรรโควตามากน้อยแค่ไหน

“ในแง่ของธุรกิจเรารอไม่ได้ หยุดไม่ได้ จึงต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้พนักงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากมีพนักงานติดโควิดและมีการระบาดในหมู่พนักงาน จะส่งผลกระทบตามมาหลายอย่าง รวมถึงซัพพลายเชนต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบ ที่ผ่านมาโรงงานในมาบตาพุดได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนมาระยะหนึ่ง ทั้งในเรื่องของสถานที่ฉีดที่เตรียมไว้ 2 แห่ง รวมทั้งมีการเตรียมแพทย์ พยาบาล จากโรงพยาบาลเอกชนเพื่อรองรับดูแลการฉีด แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าวัคซีนจะมาเมื่อไหร่”

ขณะที่ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้ยื่นขอโควตาวัคซีนเพื่อฉีดให้พนักงานร้านอาหาร รวมประมาณ 7 หมื่นราย หรือ 1.4 แสนโดส (เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ) แต่จากการระบาดที่รุนแรงขึ้น ทำให้มีบุคลากรในธุรกิจร้านอาหารแสดงความจำนงเข้ามาเป็นกว่า 1 แสนราย

สมาคมจึงได้เร่งส่งจดหมายถึงท่านนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอโควตาวัคซีนสำหรับบุคคลกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดและฟื้นธุรกิจให้กลับมา ในส่วนของธุรกิจร้านอาหารในต่างจังหวัดผู้ประกอบการก็ได้รวมตัวกันเพื่อไปขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการในแต่ละพื้นที่เช่นกัน

ด้าน นายปริญญา ธรรมวัฒนะ นายกสมาคมตลาดสดไทย กล่าวว่า เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากการปิดตลาด สมาคมตลาดสดไทยมีความต้องการวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับผู้ค้า ผู้ช่วยค้าในตลาดที่มีเกือบ 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยขอให้รัฐเร่งพิจารณา เพราะประเมินว่าสถานการณ์ในขณะนี้ มาตรการด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะป้องกันการระบาดได้ นอกจากวัคซีน

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า นอกจากการให้พนักงานทุกคนลงทะเบียนจองสิทธิฉีควัคซีนโควิดของรัฐบาลแล้ว บริษัทยังวางแผนหาแหล่งวัคซีนทางเลือกจากโรงพยาบาลในกรณีที่หากสามารถนำเข้าได้ เพื่อให้พนักงานได้รับวัคซีนครบอย่างทั่วถึงและเร็วที่สุด

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของบริษัท เอไอเอ จำกัด ที่ได้แสดงความจำนงไปยังโรงพยาบาลเมดพาร์ค ในการขอให้ช่วยจัดหาและดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน รวมถึงฝ่ายขาย และครอบครัวตรง ทั้งหมด 10,000 คน ซึ่งรอการยืนยันจากทางโรงพยาบาลว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และเมื่อไหร่

ผู้มีประกันสังคม 5.1 ล้านคน ขอฉีดวัคซีน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาได้มีความเห็นให้สำรวจความต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ของผู้ประกันตนในระบบกว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ ผ่านระบบ web service ของกระทรวงแรงงาน โดยหลังการสำรวจความเห็นเบื้องต้นในช่วงวันที่ 11-17 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกันตนตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 6.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 60.36% ของผู้ประกันตนทั้งหมด โดยมีผู้ประกันตนแจ้งความต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีนรวม 5.1 ล้านคน คิดเป็น 77.77%

โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีความต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุดถึง 2 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกันตนรวม 3.7 ล้านคน ขั้นตอนต่อไป คือ การบริหารจัดการให้ผู้ประกันตนเข้ารับการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลเครือข่ายของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งคาดว่าจะมีการสรุปรายงานความต้องการดังกล่าวเข้าที่ประชุมบอร์ด สปส. ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การกระจายวัคซีนและเริ่มฉีดวัคซีนต่อไป

นอกจากนี้ยังได้ใช้กลไกของแรงงานสัมพันธ์ของสถานประกอบการออกเป็นข้อบังคับ ให้พนักงานหรือแรงงานต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งหมดจะได้เข้ารับการฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลเครือข่ายของประกันสังคม ปี 2564 ที่จะรองรับความต้องการฉีดวัคซีนใน 5 อันดับ คือ 1) พื้นที่ กทม.รวม 47 แห่ง เช่น รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี และ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช เป็นต้น 2) พื้นที่นครปฐม 4 แห่ง เช่น รพ.จันทรุเบกษา รพ.นครปฐม และ รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)

3) พื้นที่สมุทรปราการ รวม 17 แห่ง เช่น รพ.บางบ่อ รพ.รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ รพ.บางนา 2 และ รพ.บางปะกอก 3 ฯลฯ 4) พื้นที่นนทบุรี 6 แห่ง เช่น รพ.พระนั่งเกล้า ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ และ รพ.กรุงไทย และ 5) พื้นที่ปทุมธานี 6 แห่ง เช่น รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รพ.การุญเวช และ รพ.ภัทร-ธนบุรี เป็นต้น

พล.อ.ประยุทธ์ สั่งปูพรมฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ การฉีดวัคซีน ที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแผนการกระจายวัคซีนใน 3 ช่องทาง คือ ผ่านระบบหมอพร้อม ลงทะเบียนแล้วประมาณ 7 ล้านคน

สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และจะเปิดให้กลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 60 ปี ลงทะเบียนได้ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ช่องทางที่สอง คือ วิธีที่เสริมจากช่องทางระบบหมอพร้อม เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนมากที่สุด เร็วที่สุด คือ ลงทะเบียนที่จุดบริการฉีดวัคซีน หรือ onsite registration ในกรณีที่มีวัคซีนสนับสนุนเพียงพอ ณ จุดบริการนั้น

ส่วนช่องทางที่สาม คือ การกระจายวัคซีนเชิงยุทธศาสตร์ นั่นคือการจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเฉพาะ คือประชาชนกลุ่มเฉพาะเสี่ยง กลุ่มที่มีความจำเป็นพิเศษ หรือมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า อสม. ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พนักงานด้านการบิน ครู อาจารย์ ผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์สาธารณะ พนักงานรถไฟและรถไฟฟ้า พนักงานโรงแรม คณะผู้แทนการทูตและองค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจ

และนักเรียน นักศึกษาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ บุคลากรในโรงงาน คนพิการ พนักงานภาคบริการ อาหารและยา และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องฉีดเพื่อให้การดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจไทยสามารถเดินหน้าไปได้โดยไม่สะดุด กลุ่มบุคคลหรือสมาคมใดมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน สามารถที่จะยื่นเรื่องให้กับกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา เพื่อจัดสรรวัคซีนและจัดเตรียมสถานที่ฉีดต่อไป

ฉีดให้คน กทม. 5 ล้านราย ใน 2 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีเป้าหมายว่าจะระดมฉีดวัคซีนแบบปูพรมให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายใน 2 เดือน คือ เดือนมิถุนายน และกรกฎาคม นอกจากโรงพยาบาลและจุดฉีดหลักแล้ว ยังมีจุดฉีดวัคซีนเสริมอีกอย่างน้อย 25 จุดกระจายทั่ว กทม. รวมถึงสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ และแรงงานต่าง ๆ เข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็ว

“มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมากเพียงพอ และจะเริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศในต้นเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน จึงตัดสินใจว่าจะไม่รอให้คนวัยใดวัยหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ได้รับวัคซีนจนครบก่อน จึงค่อยเปิดให้คนกลุ่มอื่น ๆ ได้รับวัคซีน แต่จะปรับแผนการเดินหน้าประเทศด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่พร้อมฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัยใดเข้าถึงวัคซีนได้ โดยเฉพาะวัยทำงาน เพื่อปกป้องคนทำมาหากิน คนที่เป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงคนในบ้าน ให้ออกจากบ้านไปทำงาน ทำมาหาเลี้ยงชีพ และเดินหน้าชีวิตกันต่อไปได้”