“แพลนต์เบส” เนื้อเทียมสุดบูม ธุรกิจยักษ์ใหญ่ CPF-TU กระโจนลงสนาม

เนื้อเทียม

บิ๊กธุรกิจระเบิดศึก “แพลนต์เบส” ซี.พี.ส่ง MEAT ZERO นักเก็ต-หมูกรอบจากพืชประเดิมสนาม ด้านทียูเดินหน้าผนึกกำลังวี ฟู้ดส์ลุยธุรกิจเตรียมลอนช์สินค้าในปี’64 สภาหอฯ คาดการณ์แนวโน้มตลาดโลกพุ่ง 2 เท่าในอีก 5 ปี แนวโน้มผู้บริโภคกลุ่ม flexitarian เติบโตสูง ชี้ไทยมีจุดแข็งวัตถุดิบพืชหลากหลาย “หัวปลี-เห็ดแครง-ขนุน” แปรรูปได้ผลิตภัณฑ์ทั้งเนื้อเทียม-อาหารพร้อมทาน-นม คุณค่าทางอาหารสูง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าขณะนี้ตลาดสินค้าเนื้อจากพืช หรือ plant based meat เริ่มคึกคักมากขึ้น โดยจากการลงพื้นที่สำรวจการค้าปลีกสินค้านวัตกรรมอาหารจากพืชในท้องตลาดและในค้าปลีกทั่วไป พบว่าเริ่มมีการจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ แล้ว ซึ่งผู้ผลิตได้จัดทำแพ็กเกจขนาดเล็กที่สามารถประกอบการอาหารในคราวเดียว และมีราคาไม่สูงมากนัก

บริษัท Food Dee Hub จำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นกุ้งไร้กุ้งจากพืช Meatoo-Plant Base Shrimp Ball ขนาด 150 กรัม ราคาถุงละ 115 บาท บริษัท WegoVegan ผลิตเนื้อบดจากพืช ถุงละ 1,000 กรัม ราคา 295 บาท และ plant based milk เช่น So Good นมอัลมอนด์, Hooray Almond Milk, นมอัลมอนด์บรีซ, 137 นมอัลมอนด์ หรือแม้แต่ผู้ผลิตน้ำผลไม้อย่างมาลีก็มีการแตกไลน์ผลิตนมอัลมอนด์ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ค่ายเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้เริ่มทำตลาด MEAT ZERO ผลิตภัณฑ์นักเก็ตไก่จากพืช ซีโร่ชิคเก้นจากพืชเลียนแบบเนื้อสัตว์ที่มีสารอาหารสูง ขนาดบรรจุถุง 500 กรัม ราคา 129 บาท และผลิตภัณฑ์หมูกรอบจากพืช ซีโร่พอร์ค คอเลสเตอรอล 0% โปรตีน 18% บรรจุถุงละ 200 กรัม ราคาถุงละ 59.67 บาท

ล่าสุดนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารทะเลกระป๋องระดับโลก ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในธุรกิจ plant based food อาหารทางเลือกจากพืช ร่วมกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก “More Meat” เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา

โดยทั้งสองจะร่วมกันศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ของบริษัท วี ฟู้ดส์ ด้วยเทคโนโลยีและฐานกำลังผลิตของไทยยูเนี่ยน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ร่วมกัน และการขยายตลาดไปยังช่องทางต่าง ๆ ที่แต่ละบริษัทมีความเชี่ยวชาญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายคาดว่าจะเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์และวางตลาดได้ในปีนี้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันแนวโน้มตลาด plant based meat มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป สหรัฐ และเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นตลาดหลัก ทั้งยังมีตลาดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา โดยมีการคาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดนี้จะเติบโต 2 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่คาดว่าจะมีมูลค่า 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564

“ตลาด plant based meat ในประเทศไทยเป็นช่วงเริ่มต้น ตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้บริโภคหลักจะมีกลุ่มมังสวิรัติหรือ vegan และกลุ่มมังสวิรัติยืดหยุ่น หรือ flexitarian หรือยืดหยุ่นบริโภคบางวัน ซึ่งกลุ่มหลังจะมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มแรก ปัจจุบันระดับราคาเนื้อจากพืชจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป 2 เท่า นั่นเพราะขนาดตลาดยังเล็ก การแข่งขันน้อย ยังไม่สามารถผลิตเป็น mass production ได้ ต้องใช้เวลา”

โดยปัจจุบันไทยมีผู้ผลิต plant based meat ทั้งแบบที่เป็นวัตถุดิบ เช่น เป็นเนื้อเทียม เนื้อไก่ ปลา กุ้ง และผู้ผลิตเป็นกึ่งวัตถุดิบ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เช่น นักเก็ต โบโลน่า เนื้อปรุงรส ไส้กรอก เบอร์เกอร์ นมจากพืช เป็นต้น โดยวัตถุดิบหลักที่ใช้ในปัจจุบันคือถั่วเหลือง

ซึ่งปัจจุบันไทยผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 50,000 ตัน แต่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารก็มีการนำเข้าถั่วเหลืองมาใช้แปรรูปเป็นส่วนประกอบอาหารต่าง ๆ รวมถึงแพลนต์เบส ปีละ 3 แสนตัน (ไม่นับรวมอาหารสัตว์) โดยจุดแข็งสำคัญของไทยคือ มีแหล่งวัตถุดิบพืชที่มีความหลากหลายที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นเนื้อเทียมได้ เช่น หัวปลีเห็ดแครง ขนุน และพืชอื่น ๆ ที่มีลักษณะที่นำมาแปรรูปแล้วให้สัมผัสเหมือนเคี้ยวเนื้อสัตว์และมีคุณค่าทางอาหาร

ซึ่งทางคณะกรรมการอาหารแห่งอนาคต ได้รับนโยบายจากประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้ดำเนินนโยบาย connect the dot ได้มีการรวบรวมเครือข่ายผู้ประกอบการอาหาร และสตาร์ตอัพด้านอาหาร (food connect) มีสมาชิกประมาณ 50 คน และจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในคลับเฮาส์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก


เน้นเฉพาะผู้ผลิตที่ต้องการทำการตลาด หน่วยงานราชการภาครัฐ มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 100 ราย มีกำหนดจะหารือครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้า เพื่อทราบทิศทางตลาด สินค้านวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงเพนพอยต์ที่ต้องแก้ไข ก่อนที่วางแนวทางส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการต่อไป