“แอมเนสตี้”เรียกร้องไทยเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มชายขอบ

ฉีดวัคซีน
Photo by Madaree TOHLALA / AFP

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้ความสำคัญในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มชายขอบ สกัด โควิด-19

วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างร้ายแรงที่สุดนับแต่เกิดการแพร่ระบาดมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้จัดทำและดำเนินการที่ให้ความสำคัญในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มชายขอบ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มที่มักถูกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งผู้ต้องขัง ผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติแม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

ในวันที่ 15 กรกฎาคม ประเทศไทยมีสถิติผู้ติดเชื้อครั้งใหม่อยู่ที่ 9,186 คนและผู้เสียชีวิต 98 คน นับเป็นวันที่เกิดความเสียหายมากที่สุดจากการแพร่ระบาด ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคุณ

นางเอ็มเมอร์ลีน กิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความเห็นว่า ในขณะที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เป็นระลอกที่สามซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนัก และในขณะที่ระบบสาธารณสุขมีความเสี่ยงว่ากำลังจะล่มสลาย ทางการควรดำเนินมาตรการที่ให้บุคคลทุกคนเข้าถึงวัคซีนอย่างเป็นธรรมและเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับประชากรกลุ่มเปราะบางและชุมชนที่มีความเสี่ยง

แม้ว่าทางการจะได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำบางส่วนขององค์การอนามัยโลก โดยให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับผู้ทำงานด้านสุขภาพ และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่ปัญหาการทุจริตที่รับรู้ในวงกว้างกลับบั่นทอนมาตรการดังกล่าว โดยมีนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มอื่น แทนที่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เปราะบาง

“การให้อภิสิทธิกับคนบางกลุ่มจากอิทธิพลของนักการเมือง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการซื้อเสียง และทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการฉีดวัคซีน ทางการต้องประกันอย่างแน่ชัดและเร่งด่วนในการจัดลำดับกลุ่มผู้ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนให้มีความโปร่งใสและเปิดให้ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรกลุ่มเสี่ยงมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการจัดลำดับดังกล่าว”

“แผนการจัดสรรวัคซีนในปัจจุบัน เผยให้เห็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มชายขอบ รวมทั้งผู้ต้องขัง แรงงานข้ามชาติแม้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ลี้ภัย ประชากรที่ยากจนและคนไร้บ้าน กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเสียชีวิตจากโรคนี้”
.ฝ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้านสาธารณสุขต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส และให้มีการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และการรับมือกับโรคโควิด-19 เป็นภาษาที่กลุ่มผู้เข้าเมืองสามารถเข้าใจได้ รวมทั้งผู้ที่มาจากกัมพูชาและเมียนมา รัฐต้องดำเนินการให้บุคคลเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นกลาง และมีหลักฐานสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าใจถึงผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล และผลที่มีต่อสิทธิด้านสุขภาพของพวกเขา ทั้งนี้รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีน หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้ว

“ทางการไทยต้องแก้ไขแผนการระดับชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดกระบวนการฉีดวัคซีนที่ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นธรรม และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”