“บ้านปู” กำไรครึ่งปีแรกเฉียด 3,000 ล้าน มุ่งลงทุนพลังงานสะอาด 

“บ้านปู” โชว์ผลงานครึ่งปีแรกรายได้ 47,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% กำไร 2,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 488 % อานิสงค์จากราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวขึ้น เปิดแผนลงทุนมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาดตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ควบคู่การดำเนินมาตรการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้คล่องตัว 

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บ้านปูยังคงเร่งสร้างการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ (Banpu Transformation) อย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที ขณะเดียวกันยังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจเหมือง Green Tech Minerals ทั้งในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมและต่อยอดของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน รวมทั้งยังศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) และ Data Center ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงและสามารถเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู หรือ Banpu Ecosystem ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทั้ง 3 ธุรกิจหลักของบริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดี สร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 582 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 17,948 ล้านบาท)

ด้านกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง มีผลประกอบการที่ดีจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้พลังงานจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่หลายรายเผชิญความท้าทายในการผลิตถ่านหินออกสู่ตลาด โดยธุรกิจเหมืองมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในครึ่งปีแรก 331 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 10,228 ล้านบาท)

ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ มีราคาขายเฉลี่ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการที่สูงขึ้นจากภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ประกอบกับการเริ่มฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากช่วงปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจก๊าซธรรมชาติมี EBITDA ครึ่งปีแรก 178 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,463 ล้านบาท)


ในส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ยังคงสามารถสร้างรายได้ที่ดีสม่ำเสมอ โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว ที่สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าด้วยค่าความพร้อมจ่าย หรือ EAF ที่สูงขึ้น  ด้านโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จังหวัดระยอง มีการปิดซ่อมบำรุงเพื่อซ่อมแซมเหตุท่อรั่ว (tube leak)

อย่างไรก็ตาม ยังสามารถรักษาระดับ EAF ได้สูง  ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ในจีนมีผลกำไรลดลงจากความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่ชะลอตัวลงจากลูกค้าบางกลุ่ม และผลกระทบจากต้นทุนถ่านหินในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีนกำลังเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3

ด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้มีความเข้มของแสงที่สูงขึ้น และมีอัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) สูงขึ้นเช่นเดียวกัน  ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าและ Capacity Factor เพิ่มขึ้นเช่นกัน  ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vinh Chau ระยะที่ 1 ในเวียดนาม มีรายงานความคืบหน้าในการก่อสร้างที่ร้อยละ 68 และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้  ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกบริษัทฯ มี EBITDA 77 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,370 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter จากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ในญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Beryl และ Manildra ในออสเตรเลีย และล่าสุดได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT “Temple I” ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ถือเป็นการก้าวสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เปิดเสรีและมีความก้าวหน้าอย่างมาก

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ยังคงเร่งเดินหน้าสร้างความเติบโต โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณท์และบริการเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง 

โครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำขนาด 16 เมกะวัตต์ ที่นิคมหลักชัยเมืองยาง คืบหน้าไปแล้วกว่า 60% ในขณะที่ธุรกิจติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าในญี่ปุ่นทำสัญญาระยะเวลา 1 ปี เพิ่มเติมกว่า 10 ฉบับ จากลูกค้ารายใหม่จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และสถาบันแห่งชาติต่าง ๆ คิดเป็นปริมาณผลิตไฟฟ้า 111 กิกะวัตต์ชั่วโมง 

ล่าสุดจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ จำนวน 5,074,581,513 บาท จากเดิม 5,074,581,515 บาท เป็นจำนวน 10,149,163,028 บาท ในมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยวัตถุประสงค์ในครั้งนี้เพื่อสร้างความเติบโตและความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจและระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น พร้อมส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)

“บ้านปูยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ โดยยึดหลักความรับผิดชอบต่อคู่ค้า การสร้างผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึงการสร้างผลประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มใน 10 ประเทศที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจ

โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บ้านปูได้รับรางวัล Asia’s Best SDG Reporting ระดับ Silver จาก Asia Sustainability Reporting Awards 2020 และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังได้รับการจัดอันดับจาก V.E ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้ Moody’s ESG Solutions ให้เป็นหนึ่งใน 100 บริษัทในประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ได้อย่างโดดเด่น สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของบ้านปูในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ทำให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถไว้วางใจได้ว่า บ้านปูมีความสามารถในการสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป้าหมายการมี EBITDA จากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานในสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในปี 2568”