
ปลัดกระทรวงการคลังมองการบินไทยไม่ควรกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ชี้เป็นเอกชนคล่องตัวสูงกว่า ระบุ สคร.เล็งขายหุ้นจำนวน 20 ตัวออกจากพอร์ตกระทรวงการคลัง รอเสนอ “พิชัย” รมว.คลัง เคาะก่อนชงเข้า ครม.อนุมัติในเดือน ธ.ค.นี้
วันที่ 7 ตุลาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เล็งนำหุ้นที่ไม่จำเป็นคาดว่าจะมีหุ้นจำนวน 20 ตัวที่ต้องขายออก ซึ่งใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว อยู่ที่วิธีการ โดย สคร.ได้จัดกลุ่มหุ้นเรียบร้อยแล้ว และในเดือน ธ.ค. 2567 นี้จะต้องนำรายละเอียดมาเสนอนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน แล้วจึงนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ส่วนกรณีหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ว่าจะดำเนินการซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อให้การบินไทยกลับมาคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่หากถามในฐานะปลัดกระทรวงการคลังมองว่าหุ้น THAI ไม่เหมาะที่จะกลับมาเป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจ เพราะการเป็นเอกชนจะมีความคล่องตัวสูงกว่า ซึ่งธุรกิจสายการบินเชิงพาณิชย์ การเป็นรัฐวิสาหกิจน่าจะไม่ตอบโจทย์
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดประชุมคณะกรรมการกำกับไปแล้ว 2 ครั้ง หากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังไม่ติดใจอะไร ก็จะจัดประชุมอีก 1 ครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2567 นี้ เพื่อทบทวนว่ายังคงให้ถือหุ้นอยู่หรือไม่ หลังจากนั้นจึงจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ทันที
โดยหุ้นทั้งหมดมีหลายหมวด ยังต้องแยกนโยบายการขายหุ้นว่า บางตัวอยู่ในนโยบายการขาย และบางตัวอยู่ระหว่างรอการขาย ต้องจัดกลุ่ม ในส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือในธนาคารก็ต้องนำเข้าคณะกรรมการกำกับอีกครั้งหนึ่งก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา สมัยก่อนทาง สคร.รับหุ้นมาทั้งหมด ไม่ได้มีการวางเกณฑ์ไว้รองรับ แต่ต่อไปถ้าจะถือครองหุ้นจะต้องมีเกณฑ์อะไรรองรับ ว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐหรือไม่ ช่วยสนับสนุนนโยบายการเงินและการคลังหรือไม่ เพื่อวางเกณฑ์เสร็จแล้ว จึงค่อยมาดูหุ้นเป็นรายตัวต่อไป
ก่อนหน้านี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององค์กรการบินไทยในทุก ๆ ด้าน และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
โดยแผนฟื้นฟูกิจการนี้ได้พลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ การบินไทยเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรเอกชนเต็มตัว ทำให้การบริหารจัดการบริษัทเป็นไปอย่างคล่องตัว สามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งสำคัญมาได้
ที่สำคัญมีความสามารถในการสร้างรายได้จนมีเงินสดเหลือถึง 80,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น (จากการขายทรัพย์สินประมาณ 10,000 ล้านบาท) ทั้งจากการปรับโครงสร้างองค์กร การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน การเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ ฯลฯ อ่านข่าวเพิ่มเติม
