ระดมงบฉุกเฉินพยุงเศรษฐกิจ ตั้ง “กองทุนแสนล้าน” กู้วิกฤตหุ้น

วิกฤตทุกด้าน รัฐบาลจัด “ทีมเฉพาะกิจ” ก.ล.ต. ตลท. แบงก์ชาติ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ถกฉุกเฉินรับมือตลาดหุ้นดิ่งหลุด 1,000 จุด หนักที่สุดรอบ 8 ปี โดนเซอร์กิตเบรกเกอร์ 2 วันต่อเนื่อง รมว.คลังระดมเงินรัฐ-เอกชนลงขัน “กองทุนพยุงหุ้น” คาดต้องมีแสนล้าน มหึมากว่า “วายุภักษ์” ซื้อ-ขายภายใน มี.ค. สร้างเชื่อมั่น ยันช่วยทุกกลุ่ม “ไม่อุ้มคนรวย” สั่งสำนักงบฯกวาดเงินค้างท่อสมทบ “งบฯฉุกเฉิน” อัดแพ็กเกจชุด 2 รัว ๆ ช่วยจ่ายค่าเทอม-ค่าหมอ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดทำการซื้อ-ขาย ในวันศุกร์ที่ 13 มี.ค. 63 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดตลาดที่ 1,114.91 จุด ก่อนจะปรับลดลง 111.52 จุด ลดลง 10% มาอยู่จุดต่ำสุดที่ 1,003.39 จุด ส่งผลให้ต้องประกาศหยุดซื้อ-ขายเป็นการชั่วคราวอัตโนมัติ (circuit breaker) 30 นาที

ตั้งกองทุนพยุงหุ้นด่วน

รองนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้ ตลท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประชุมเร่งด่วน เพื่อหามาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดหุ้นไทย ด้วยการเร่งตั้งกองทุนพยุงหุ้น หรือ stabilizer fund และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นทันที เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เห็นชอบในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคมนี้

“จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารกองทุนพยุงหุ้น ซึ่ง ตลท. ก.ล.ต. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณารายละเอียด พร้อมระบุอำนาจการตัดสินใจ กลไกการบริหาร ขนาดของกองทุน ระยะเวลาการเข้าซื้อ-ขาย ที่มาของเงินจะมาจากการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน” นายสมคิดกล่าว

รองนายกรัฐมนตรีได้ยกรูปแบบวิกฤตตลาดหุ้นไทย ในช่วงวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 มีการตั้งกองทุนวายุภักษ์ ขนาด 3 หมื่นล้าน แต่ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยมีมาร์เก็ตแคปประมาณ 15-16 ล้านล้าน สูงกว่าจีดีพีประเทศ (13 ล้านล้าน) จึงต้องพิจารณาขนาดกองทุนที่เหมาะสม

“จะให้ ตลท. และ ก.ล.ต.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประคองให้ช่วง 4-6 เดือนนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้” นายสมคิดกล่าว

รมว.คลังกู้ความเชื่อมั่น

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด โดยสิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือ ต้องสร้างความเชื่อมั่น ทั้งด้านสาธารณสุข และเตรียมพร้อมมาตรการด้านเศรษฐกิจคู่ขนานกันไป โดยภาวะตลาดหุ้นตกหนักในช่วงนี้ถือว่ารุนแรง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเข้าไปดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน จะพิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น คล้ายกับที่เคยตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์มาแล้ว

หุ้นดิ่งเอาไม่อยู่-พยุงหุ้น มี.ค.นี้

“ก่อนหน้านี้ เราทำเรื่องการลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองพิเศษไป ซึ่งก็จะให้มีผลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปอีก ก็อาจจะต้องมีมาตรการเสริม เพราะของเดิมเอาไม่อยู่ ใครจะคิดว่าตลาดหุ้นสหรัฐก็ร่วงหนัก ไม่มีใครเคยเจอแบบเมื่อคืนวันที่ 12 มี.ค.ที่ต้องเซอร์กิตเบรกเกอร์ ดังนั้นวันนี้เราคิดไว้แต่เนิ่น ๆ จะเอามาใช้หรือไม่ ขึ้นกับสถานการณ์ แต่ถ้าไม่เตรียมไว้ แล้วหุ้นลงหนักไปเรื่อย ๆ จะไม่ทันการ” นายอุตตมกล่าว

ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะให้กองทุนพยุงหุ้น ออกมาให้ทันในเดือน มี.ค.นี้ทันที เนื่องจากกองทุน SSF กองพิเศษ กว่าจะเริ่มลงทุนได้ก็เดือน เม.ย. แหล่งที่มาขนาดกองทุนพยุงหุ้นนั้น จะเป็นเงินจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นกับ ตลท.

ดึงเอกชนลงขัน-ช่วยทุกกลุ่ม

“สถานการณ์ตอนนี้คงไม่ใช่วายุภักษ์แล้ว เพราะตลาดใหญ่ขึ้นมาไม่รู้กี่เท่าแล้ว กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดก็มีมากขึ้น ดังนั้น มาตรการวันนี้ก็ต้องคิดใหม่ หากจะมีกองทุนก็ต้องมีคนมาลงขัน คงไม่ใช่แต่วายุภักษ์รายเดียว วายุภักษ์ในอดีตเพื่อให้เข้าไปซื้อหุ้น โดยมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพบริหาร ซึ่งใช้ บลจ.เอ็มเอฟซี กับ บลจ.กรุงไทย เพียงแค่ให้เข้าไปซื้อ ก็ช่วยพยุงหุ้นได้ แล้ววายุภักษ์ก็ได้กำไร” นายอุตตมกล่าว

แม้ว่ามีเสียงวิจารณ์กองทุนพยุงหุ้นเป็นการช่วยคนรวย นายอุตตมกล่าวว่า อยากให้มองว่ารัฐบาลต้องช่วยทุกกลุ่ม โดยการลงทุนในตลาดหุ้นก็จำเป็น เพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นที่มีผลต่อภาพรวมด้วย มาตรการดูแลตลาดทุนอาจจะไม่ได้มีแค่การตั้งกองทุนพยุงหุ้นเท่านั้น พยายามคิดไว้หลาย ๆ มาตรการ อาทิ การผ่อนคลายมาตรการบางส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ก็จะพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพด้านการเงินการคลัง

“การช่วยประเทศก็ต้องเอาคนทุกกลุ่ม คนที่มีเงินหน่อย ให้เขาเอามาลงในตลาดหุ้น ก็ถือว่าช่วยภาคส่วนอื่น เพราะถ้าตลาดหุ้นแย่ บริษัทแย่ พนักงานก็ได้รับผลกระทบ ความมั่นใจก็แย่ไปหมด” นายอุตตมกล่าว

ก.ล.ต. ประชุมฉุกเฉิน

สำหรับสถานการณ์หุ้นตกหนัก ดัชนีลดลงไปต่ำกว่า 1,000 จุด จน ตลท.ต้องใช้มาตรการหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวนั้น ถือเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้แล้ว โดยตนก็มีการหารือร่วมกับนายสมคิด รวมถึงได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ว่าต้องมีการชี้แจงต่อสาธารณะ ขณะที่บอร์ด ก.ล.ต.ก็มีการประชุมบอร์ดฉุกเฉิน เพื่ออนุมัติปรับเกณฑ์การทำ short sell

นายอุตตมกล่าวว่า กองทุน SSF กองพิเศษ ที่ได้ลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 2 แสนบาท หรืออีก 1 เท่าตัวของ SSF เดิม มาตรการกำหนดให้ต้องลงทุนในช่วง 3 เดือน คือ ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2563 หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการลงทุนออกไป ก็พร้อมพิจารณาขยายเวลาให้

ส่วนข้อเสนอสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่อยากให้ผู้ที่ซื้อหุ้นโดยตรงไม่ผ่านกองทุน สามารถนำเงินลงทุนลดหย่อนภาษีได้นั้น ทางกระทรวงการคลังก็รับฟังมาพิจารณา แต่ยังไม่ได้ฟันธงว่าจะทำหรือไม่

ตั้ง “ทีมเฉพาะกิจ” เกาะติดเศรษฐกิจ

นายอุตตมกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอด ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงาน ก.ล.ต. ตลท. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็น “ทีมเฉพาะกิจของรัฐบาล” ที่เตรียมพร้อมติดตามภาวะเศรษฐกิจไว้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการด้านตลาดทุนแล้ว กระทรวงการคลังกำลังเตรียมออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรง ทางอ้อม ระยะที่ 2 ต่อเนื่องทันที หลังออกมาตรการระยะที่ 1 ไปแล้ว แต่สถานการณ์ยังลุกลาม โดยมาตรการทั้งหมดจะได้ข้อสรุปเสนอนายกรัฐมนตรี วันที่ 16 มี.ค.นี้

เติมเงิน-ช่วยค่าเทอม-หาหมอ

โดยมาตรการที่คิดอยู่ขณะนี้ เบื้องต้นจะเน้นเรื่องการเพิ่มรายได้ ทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋า ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม คือ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลดภาระค่าครองชีพ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงผู้ที่ตกงานด้วย ภายใต้หลักการที่ว่า “ต้องรวดเร็วทันการ และตรงเป้าหมาย”

“นายกรัฐมนตรีย้ำให้ดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตั้งแต่คนขับรถตู้ไปยันแม่ค้าหมูปิ้ง” นายอุตตมกล่าว

เชื่อเศรษฐกิจปีนี้ไม่ถึงขั้นติดลบ

ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ทั้งปีจะหดตัวหรือไม่นั้น นายอุตตมกล่าวว่า คงยังสรุปไม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าโควิด-19 จะไปสิ้นสุดตรงไหน ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น มีความมั่นใจกลับมา เศรษฐกิจก็จะฟื้นขึ้นได้ในไม่ช้า โดยเฉพาะตลาดหุ้นจะฟื้นตัวได้เร็วมาก ยอมรับว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะออกมาแย่

“ในด้านเศรษฐกิจนั้น เราจะทำให้ความมั่นใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผมคิดว่าจีดีพีทั้งปีนี้คงไม่ถึงขั้นติดลบ” นายอุตตมกล่าว

กวาดเงินทุกเก๊ะใส่ “งบฯกลาง” ใช้ “ฉุกเฉิน”

นายอุตตมกล่าวอีกว่า การทำมาตรการทุกมาตรการนั้น รัฐบาลใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ละเอียดรอบคอบว่า มาตรการแบบใดจะใช้แหล่งเงินทุนใด ซึ่งแนวทางการขยายกรอบวงเงินงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ขึ้นกับนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยตัดงบประมาณโครงการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน หรือทำไม่ทัน ให้เข้ามาอยู่ในงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

“ก็ต้องกวาดทุกเก๊ะเข้ามาใส่งบฯฉุกเฉิน สำนักงบประมาณกำลังรวบรวมอยู่” นายอุตตมกล่าว

คลอดเกณฑ์กองทุนฉุกเฉิน 2 หมื่นล้าน

ด้านแนวคิดเรื่องตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น นายอุตตมกล่าวว่า ใช้เงินจากงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท ช่วยเหลือคนตกงาน เป็นต้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กับสำนักงบประมาณอยู่ระหว่างยกร่างกำหนดขอบเขตการช่วยเหลือให้ชัดเจน ว่าความเดือดร้อนลักษณะไหนบ้างที่จะได้รับความช่วยเหลือจากงบฯก้อนดังกล่าว

“ยอดนี้เป็นวงเงินที่ตั้งสำรองเตรียมการไว้รับมือเวลาฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าเรามีเงินช่วยเหลือตรงนี้อยู่ พร้อมที่จะดูแล ก็จะช่วยเรื่องความมั่นใจอีกด้านหนึ่ง” นายอุตตมกล่าว

ตั้งศูนย์ทั่วประเทศเปิดเว็บรับปัญหา

สำหรับมาตรการชุดแรกที่ออกไปแล้วนั้น นายอุตตมกล่าวว่า ตนสั่งให้กระทรวงการคลังจัดตั้งศูนย์ติดตามผลมาตรการ และรับเรื่องจากผู้ประกอบการ และประชาชน โดยมีคลังจังหวัดเป็นเครือข่าย และมีสาขาของธนาคารของรัฐสนับสนุน รวมถึงจะมีการจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมา เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่เดือดร้อน ปัญหาของผู้ประกอบการ และไม่ได้รับความสะดวกจากมาตรการของรัฐ คาดว่าจะเปิดตัวได้ในสัปดาห์นี้

ปรับปรุงเกณฑ์ขายชอร์ตเซลล์

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ได้ปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ต (ชอร์ตเซลล์) เป็นการชั่วคราว จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เป็นขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เท่านั้น ตั้งแต่การซื้อขายในภาคบ่ายของวันที่ 13 มี.ค. 63 เป็นต้นไป และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 63 โดยเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่นักลงทุนในภาพรวม

ทั้งนี้ การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากบริษัทสมาชิกและได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้ว อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถเลิกกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ก่อนกำหนดหากตลาดหุ้นกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เอกชนชี้ขั้นต่ำกองทุน 1 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากแวดวงตลาดทุนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางกองทุนพยุงหุ้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตามที่ในอดีตเคยทำมา มีทั้งรูปแบบที่เป็นเงินรัฐทั้งหมด หรือ matching funds ระหว่างรัฐกับเอกชน รวมถึงอาจจะเป็นรูปแบบระดมทุนจากประชาชนทั่วไป โดยหากจะใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนลงขันตั้งกองทุนดังกล่าวในช่วงนี้ ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่ประเมินเบื้องต้นขนาดกองทุนดังกล่าวอาจต้องใช้เม็ดเงินขั้นต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

“วันนี้มูลค่าการซื้อขายกันวันละเป็นแสนล้านบาท หากขนาดกองทุนต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทก็เอาไม่อยู่ และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนไม่ได้ ดังนั้นต้องหาแหล่งระดมทุน ซึ่งคงไม่สามารถไปนำเงินในกองทุน CMDF มาใช้ได้ เพราะมีอยู่เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายก็ต้องเก็บเม็ดเงินไว้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

เชียร์เพิ่มลดหย่อนภาษีได้ผลกว่า

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทางออกที่ดีที่สุดในการจะประคองตลาดหุ้นไทย คือ การเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีให้มากขึ้น เพื่อให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวเอง ซึ่งง่ายกว่า เช่น กองทุน SSF ก็ควรจะให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 5 แสนบาท หรือ 1 ล้านบาท เช่นนั้นก็จะไม่ต้องจำเป็นต้องตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพราะให้ผลกระทบต่อตลาดเหมือนกัน โดยรัฐไม่ต้องเสียเวลามาตั้งกองทุน แถมใช้เงินน้อยกว่า เพราะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตอนปลายปี

“กองทุนถ้าทำได้ก็ดีแค่ระดับหนึ่ง แต่จะทำให้มีประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณกว่า ก็ใช้วิธีเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีดีกว่า” แหล่งข่าวกล่าว

โบรกฯชี้ปรับเกณฑ์ชอร์ตเซลล์ลดเทขาย

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยมีความเห็นว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงแต่ลดความร้อนแรงของการทำชอร์ตเซลล์เท่านั้น

“ยังมีอีกหลายกลไกที่เป็นการเพิ่มโมเมนตัมให้กับตลาดหุ้น เช่น บล็อกเทรด อนุพันธ์ประเภทต่าง ๆ และการซื้อขายด้วยการกู้ยืมเงิน (บัญชีมาร์จิ้น) ซึ่งกลไกส่วนที่เหลือยังคงทำงานอยู่ และอาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในช่วงต่อไป” นายเทิดศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมี 5 ประเทศทั่วโลก (รวมประเทศไทย) ที่ระงับการทำชอร์ตเซลล์ ได้แก่ อิตาลี ระงับชอร์ตเซลล์ของหุ้น 85 บริษัท จนถึงวันที่ 26 มี.ค. 63 สเปนระงับ 69 บริษัท เกาหลีใต้ระงับ 95 บริษัท ถึง 26 มี.ค. 63 อินโดนีเซียระงับชอร์ตเซลล์ทั้งหมด และไทยอนุญาตให้ชอร์ตเซลล์ในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (up tick)

ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังตลาดหลักทรัพย์ฯประกาศปรับเกณฑ์การขายชอร์ต เชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวกให้ตลาดหุ้นสามารถดีดกลับ (rebound) เนื่องจากเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการจำกัดการทำธุรกรรมขาลงที่ส่งผลให้เกิดการตื่นตระหนก

“เป็นไปได้ยากที่ดัชนีจะปรับขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติบริเวณ 1,500 จุดเช่นเดิม เนื่องจากการปรับเกณฑ์ขายชอร์ตเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ขณะที่ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นอื่น ๆ เช่น การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ยังเป็นต้นเหตุปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข”