‘เอเซีย พลัส’ หั่นคาดการณ์กำไร บจ.ปี’63 เดิมคาดโต 6.8 แสนล้าน

Stock Graph

โบรกฯ ‘เอเซีย พลัส’ ชี้ความเสี่ยง SET Index ไตรมาส 3 ถูกปรับฐาน เหตุจีดีพีทรุด-กำไรบจ.อืด หลังครึ่งแรกบจ.ทำกำไรเพียง 2 แสนล้านบาท จากคาดการณ์ทั้งปี’63 ที่ 6.8 แสนล้านบาท แนะนักลงทุนซบหุ้นไซส์กลาง-เล็ก ปันผลสูง ชู ‘BGRIM-CPF-CPALL-INTUCH-INSET-SEAFCO’ เด่น

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ยังมีหลากหลายปัจจัยกดดันการลงทุน โดยในต่างประเทศมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลก อาทิ การเคลื่อนย้ายคน สิ่งของ การจ้างงาน และปัจจัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่มีแรงกระตุ้นจากความตึงเครียดสถานการณ์จีน-ฮ่องกงที่เพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น

สำหรับในประเทศ แม้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มดีมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดว่าจะหดตัว 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่เม็ดเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจจาก พรก. 3 ฉบับยังออกมาไม่เต็มที่นัก

ดังนั้น โดยรวมคาดว่าภาพเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ หรือหลังเกิดโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยประเมินเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเกือบทุกตัวทั้ง การท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ การบริโภคในประเทศ ส่วนการลงทุนเอกชนชะลอลงแรง คงเหลือแรงขับเคลื่อนเพียงการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น งานก่อสร้าง งานประมูลโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาม และมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐที่ยังมีอยู่

“โดยรวมช่วงไตรมาส 3 ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญกับปัจจัยกดดันหลายเรื่อง ทั้งภายในและภายนอก และการที่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อขายกันที่อัตราส่วนของราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (ค่า P/E) ที่สูงเกิน 20 เท่า ซึ่งแพงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ส่วนแนวโน้มการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของไทยลดลง 27.5% YoY ถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค เชื่อว่าจะกดดันให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ชะลอการไหลเข้า ขณะที่แรงขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยยังคงต้องพึ่งพิงฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

 

นายเทิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่อยากให้นักลงทุนติดตามในไตรมาส 3 นี้ ได้แก่ การประกาศจีดีพีไตรมาส 2 โดยคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะทำจุดต่ำสุดที่ติดลบ 15% ซึ่งมีความเสี่ยงขาลงต่อประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีต่อไป รวมถึงการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 2/63 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสแรกที่ทำกำไรได้ประมาณ 1.06 แสนล้านบาท

ในภาวะปกติ บจ.จะทำกำไรที่ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อไตรมาส ดังนั้น หากตั้งสมมติฐานไตรมาส 3 และไตรมาส 4 กำไรเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะส่งผลให้ทั้งปีกำไร บจ.จะออกมาอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์กำไรปี 2563 ที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 6.8 แสนล้านบาท กล่าวคือมีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดประมาณการกำไร บจ.ปีนี้ลงอีกครั้งหนึ่ง

“กำไรไตรมาสแรกที่ 1.06 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2563 ส่วนงวดไตรมาส 2 อาจไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (QoQ) แต่ลดลง YoY ทำให้ครึ่งปีแรกของปีนี้ บจ.ทำกำไรได้เพียง 30-40% ของประมาณการปี 2563 ที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 6.88 แสนล้านบาท ส่งผลให้ช่วงที่เหลือของปี บริษัทจดทะเบียนจะต้องทำกำไรเกินกว่า 60-70% ของประมาณการ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ปัจจุบันที่ 6.8 แสนล้าน EPS อยู่ที่ 64.00 บาท/หุ้น  (EPS63F เท่ากับ 64 บาท/หุ้น) โดยประเมินความเสี่ยงกำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2563 มีโอกาสถูกปรับลงอีก สวนทางกับ SET Index ที่ปรับขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะที่ยิ่งปรับขึ้นไป ยิ่งไกลพื้นฐาน

ในแง่ของเม็ดเงินลงทุน นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ไตรมาส 2 ตลาดหุ้นมีแรงซื้อกองทุนรวมเพื่อการออกพิเศษ (SSFX) จากสถาบันในประเทศ และแรงซื้อจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันต่างชาติตามดัชนี MSCI ขณะที่ทิศทางฟันด์โฟลว์ในระยะข้างหน้ายังยากที่จะเห็นเงินไหลกลับเข้ามา เนื่องจากมูลค่าตลาด (Valuation) หุ้นไทยค่อนข้างแพง จึงคาดว่าโฟลว์จะแผ่วลงในไตรมาส 3 แต่มีโอกาสกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4

ด้านกลยุทธ์การลงทุน เนื่องจากสถานการณ์ในปีนี้มีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย ดังนั้น การลงทุนจึงต้องเน้นหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุน กลุ่มหุ้นที่อิงกระแสการประมูลโครงการลงทุนของรัฐ และมาตรการกระตุ้นการบริโภค โดยเลือก BGRIM CPF CPALL INTUCH INSET และ SEAFCO ให้ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index อยู่ในกรอบ 1,250-1,420 จุด

ขณะที่เป้าดัชนีปี 2563 คาดว่าสิ้นปี SET Index มีโอกาสปรับขึ้นทดสอบ 1,440 จุด โดยประเมินว่าแนวโน้มตลาดหุ้นในไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยหนุน ได้แก่ ผลจากการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าไตรมาส 3 ภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ที่เป็นจุดต่ำสุด และไตรมาส 4 จะเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวทั้งในแง่เศรษฐกิจและผลประกอบการของ บจ.มากขึ้น

นอกจากนี้ ในไตรมาสสุดท้ายนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติจะให้น้ำหนักกับแนวโน้มเศรษฐฏิจและตลาดหุ้นในปีถัดไป (2564) ซึ่งจากมุมมองของหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะเป็นปีที่เห็นการฟื้นตัว