6 โบรกฯ ปรับราคาเป้าหมาย ศรีตรังโกลฟส์ สูงสุด 111 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ 6 แห่ง ปรับเป้าราคาหุ้น ‘ศรีตรังโกลฟ์’ สูงสุดถึง 111 บาท เหตุราคาขายเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส 5-10% คาดการณ์กำไรปี’63 เติบโตกว่า 500% อานิสงส์ยอดขายทะลักช่วงโควิด-19

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือหุ้น STGT จัดประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยหลังการประชุมพบว่านักวิเคราะห์ในตลาดต่างปรับเพิ่มราคาเป้าหมายใหม่อีกครั้ง นำโดย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส ให้ราคาเป้าหมาย 111.00 บาท บล.เอเซีย พลัส 90.00 บาท บล.เคทีบี (ประเทศไทย) 85.00 บาท บล.กสิกรไทย 85.00 บาท บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง 56.00 บาท และ บล.โนมูระ พัฒนสิน 43.00 บาท

นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า การประชุมนักวิเคราะห์เป็นไปในเชิงบวก จากความต้องการใช้ถุงมือยางที่เติบโตมากจากการระบาดของโควิด-19 จนปัจจุบัน STGT มีคำสั่งซื้อถุงมือยางเต็มจนถึงงวดไตรมาส 3/64 แล้ว ทำให้ STGT และผู้ประกอบการถุงมือยางในมาเลเซียล้วนปรับเพิ่มราคาขายถุงมือยางขึ้นต่อเนื่องถึง 5-10% ต่อเดือน จากงวดไตรมาส 1/63 ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบน้ำยางข้นยังอยู่ในระดับต่ำ หนุนประสิทธิภาพการทำกำไรของ STGT จะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/63

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2563-2564 ขึ้น 42.3% และ 42.1% สะท้อนการปรับราคาขายถุงมือยางเฉลี่ยปี 2563-2564 ที่จะเพิ่มขึ้น 10.3% โดยภายหลังปรับเพิ่มประมาณการคาดว่ากำไรสุทธิปี 2563-2564 จะเพิ่มขึ้นถึง 558.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ 7.4% YoY จากแนวโน้มปริมาณขายถุงมือยางปี 2563-2564 ที่เพิ่มขึ้น 40.8% YoY และ 7.1% YoY ตามลำดับ

ขณะที่คาดการณ์ราคาขายถุงมือยางเฉลี่ยปี 2563 จะเพิ่มขึ้นถึง 26.3% YoY และทรงตัวสูงต่อเนื่องในปี 2564 ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิงวดไตรมาส 2/63 จะเติบโตชัดเจนทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (QoQ) และ YoY จากการปรับเพิ่มราคาขายถุงมือยาง และแนวโน้มปริมาณขายถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นจากงวดไตรมาส 1/63

“เราแนะนำ ‘ซื้อ’ ประเมินราคาเหมาะสมปี 2563 ของ STGT ใหม่เท่ากับ 90 บาท จากเดิม 45 บาท โดยราคาหุ้นปัจจุบันมีมูลค่าที่น่าสนใจมาก มีค่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (ค่า P/E) ปี 2563 ที่ 23 เท่า และราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ที่ 5 เท่า น่าสนใจกว่าหุ้นที่ผลิตถุงมือยางในมาเลเซียที่ซื้อขายบน P/E เฉลี่ย 35 เท่า” นายเอนกพงศ์ กล่าว