กสิกรไทย เตือนตลาดหุ้นเดือน ส.ค.ผันผวนสูง-ฝรั่งขายหนักสุด

บล.กสิกรไทย เปิดสถิติตลาดหุ้นเดือน ส.ค.ย้อนหลัง 10 ปี ผันผวนสูง-ต่างชาติขายหนักสุด คาดเดือน ส.ค.ปีนี้ยังผันผวนสูงเช่นกันจากปัจจัยลบที่กดดัน ‘สงครามการค้าสหรัฐ/จีน-แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐล่าช้า-ยอดติดเชื้อโควิดในเอเชียพุ่ง’ ประเมินกรอบ SET Index เดือนนี้ระหว่าง 1,270-1,390 จุด

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์ “KS Daily View” ประจำวันที่ 4 ส.ค.63 ว่า ในเดือนสิงหาคมปีนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าความผันผวนจะสูงมากสอดคล้องกับสถิติในอดีต หากอิงจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ปรับตัวลงในเดือนสิงหาคมเฉลี่ยประมาณ 1.16% เป็นรองเพียงเดือนพฤษภาคมที่มีการปรับลดลงเฉลี่ยประมาณ 2%

ในขณะเดียวกันความผันผวน (Volatility) สูงสุดเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ และหากประเมินในเชิงมูลค่าการซื้อขาย พบว่า เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสูงที่สุดเช่นกันที่ 1.44 หมื่นล้านบาท หรืออาจกล่าวได้ว่าสิงหาคมเป็นอีกหนึ่งเดือนที่หากอิงกับสถิติพบว่าผลตอบแทนต่ำและความผันผวนสูง

สำหรับเดือนสิงหาคมปีนี้ ฝ่ายวิจัยมีมุมมองสอดคล้องกับสถิติ กล่าวคือประเมินว่าความผันผวนจะสูงมากเนื่องจาก

1) ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งสหรัฐ

2) แผนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐล่าช้าจากความขัดแย้งระหว่างสองพรรค

3) บางประเทศในเอเชียเริ่มกลับมารายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระดับสูงอีกครั้ง นำโดยญี่ปุ่นที่ 1,100 คนต่อวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ที่ 5,000 คนต่อวัน ถือเป็นระดับสูงสุด ส่งผลให้เกิดความกังวลของการกลับมาปิดเมือง รวมถึงการเปิดประเทศที่ช้ากว่าแผนเดิม หากสะท้อนผ่านดัชนียอดรวมผู้ติดเชื้อ 7 วันย้อนหลัง เทียบกับประชากร 1 แสนคน พบว่าประเทศดังกล่าวปรับขึ้นทำระดับสูงสุดเช่นกัน สำหรับทั่วโลกพบว่าอยู่ที่ระดับ 23 รายต่อประชากร 1 แสน เมื่อเทียบช่วงเดือน เม.ย.อยู่ที่ 5-10 รายเท่านั้น

ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวถือเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในเดือนสิงหาคม โดยฝ่ายวิจัยประเมินกรอบ SET Index ที่ 1,270-1,390 จุด อิงอัตราส่วนผลตอบแทนตลาดหุ้นและพันธบัตรย้อนหลัง 10 ปี (EYG%) ที่ระดับ 0.25 – 0.75 SD

ในเชิงกลยุทธ์แนะทยอยสะสมกลุ่มหุ้นที่มีการเติบโต (Growth Stock) ที่คาดว่าผลตอบแทนจะทำระดับสูงสุดท่ามกลางโควิด-19 และผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องทั้งในครึ่งปีหลังของปี 2563 และปีถัดไป นำโดย บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) คาดกำไรสุทธิงวดไตรมาส 2 ที่ 865 ล้านบาท เติบโต 400% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และเติบโต 105% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (QoQ)

ถัดมา บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) คาดการณ์กำไรเติบโต 35% YoY และ 89% QoQ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) คาดว่าจะเติบโต 40% YoY และ 1% QoQ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) เติบโต 22% YoY และ 1% QoQ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ฝ่ายวิจัยประมาณการ (ครอบคลุม 104 บริษัท คิดเป็น 63% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตลาด) ที่คาดจะหดตัว 53% YoY และหดตัว 13% QoQ สอดคล้องกับสถิติตลาดหุ้น MSCI Asia ex-Japan Growth Price Index ที่ปรับขึ้นสูงสุดกว่า 11% ในเดือนที่ผ่านมา

ด้านปัจจัยแวดล้อม เมื่อคืนที่ผ่านมา สหรัฐรายงานตัวเลข ISM หรือ ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ โดยพบว่าดีดตัวขึ้นเป็น 54.2 ในเดือนกรกฎาคม (จากที่ตลาดคาดการณ์ที่ 53.6) สูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. จากระดับ 52.6 ในเดือน มิ.ย. สะท้อนมาตรการผ่อนคลายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลำดับถัดไปแนะจับตาการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอดภาคเกษตรเดือน ก.ค. ที่จะมีการรายงานในวันศุกร์นี้ (7 ส.ค.63) ซึ่งตลาดประเมินไว้ที่ 1.5 ล้านตำแหน่ง และอัตราการว่างงานที่ 10.5%

ส่วนมุมมองตลาดหุ้นวันนี้ คาดว่า SET Index จะเกิดการฟื้นตัวเชิงเทคนิก (Technical Rebound) ในกรอบ 1,335-1,340 จุด โดยแนะทยอยสะสม บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เนื่องจากมีความเด่นสุดในกลุ่มปิโตรเคมี จากราคาเม็ดพลาสติก HDPE ที่ยังทำระดับสูง รวมถึงแนะนำทยอยสะสม MTC และ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ที่คาดผลประกอบการอาจดีกว่าที่ตลาดประเมิน

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การลงทุนยังคงแนะนำกลุ่มสื่อสาร (ICT) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัดจากโควิด-19 แต่สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำแนะรอดูจำนวนผู้ติดเชื้อว่าจะมีคลื่นลูกที่ 2 หรือไม่

ส่วนหุ้นแนะนำ ได้แก่ PTTGC ราคาพื้นฐาน 55.25 บาท ได้ประโยชน์จากส่วนต่างราคาอะโรเมติกส์พื้นฐานที่สูงขึ้นในสัปดาห์ก่อน MTC ราคาพื้นฐาน 62.25 บาท โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 2/63 จะแตะจุดสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25 พันลบ. เพิ่มขึ้น 22% YoY และ 1% QoQ จากสินเชื่อที่เติบโตขึ้น YoY และต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง นอกจากนี้ คาดว่ากำไรครึ่งปีหลังจะโตขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกด้วยแรงหนุนจากอุปสงค์สินเชื่อที่สูงขึ้นจากการกลับมาเปิดสถานศึกษาและต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง