บริษัทใหญ่ต่อคิว แห่ขายหุ้นกู้ “ล็อกต้นทุน-ตุนสภาพคล่อง”

หุ้นกู้-แบงก์-ตลาดหุ้น

บริษัทใหญ่แห่ขาย “หุ้นกู้” คึกคัก เข้าคิวเสนอขายหลายบริษัท ทั้ง “ทรูคอร์ป-SCGP” ซีเอฟโอแสนสิริเผยเร่งตุนสภาพคล่องปิดความเสี่ยงในอนาคต สมาคมตราสารหนี้เผยไตรมาสแรกมีหุ้นกู้ครบดีล 1.94 แสนล้าน ชี้ยักษ์ใหญ่มีทางเลือก บางรายหันไปใช้เงินกู้แบงก์ เพราะจ่ายดอกเบี้ยถูกกว่า ฟากรายย่อยเจอพิษดอกเบี้ยฝากต่ำ โยกมาลงทุนซื้อหุ้นกู้มากขึ้น

ขายหุ้นกู้คึกคักตั้งแต่ต้นปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเดินหน้าระดมทุนด้วยการเสนอขายตราสารหนี้หรือ “หุ้นกู้” เพื่อตุนสภาพคล่องรองรับการดำเนินธุรกิจคึกคักตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งในภาวะดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำก็ทำให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุน

โดยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีบริษัทเสนอขายหุ้นกู้หลายบริษัททยอยออกมาเกือบทุกสัปดาห์ อาทิ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เสนอขายหุ้นกู้รวม 3 หมื่นล้านบาท, บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) 2,500 ล้านบาท, บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) นอกจากนี้ยังมี บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (MJD) 2,000 ล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่ในเดือน ก.พ.นี้ก็มีเจ้าใหญ่หลายรายที่เปิดขายอยู่คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น, บมจ.แสนสิริ, บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล เป็นต้น นอกจากนี้ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ก็เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ มูลค่าไม่เกิน 5,500 ล้านบาท อายุ 3 ปี 8 เดือน อันดับเรตติ้ง A+ ในช่วงต้นเดือน มี.ค. 64

ธุรกิจใหญ่มีทางเลือก

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 ยังต้องจับตาดูว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะเร่งระดมทุนออกหุ้นกู้เพื่อเก็บสภาพคล่อง เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและเตรียมแผนการลงทุนในอนาคตมากน้อยแค่ไหน ขณะที่บางบริษัทเมื่อปีที่ผ่านมากลับไปขอสินเชื่อธนาคาร เพราะส่วนต่างต้นทุนดอกเบี้ยอาจน่าสนใจกว่า

ปีนี้คงต้องประเมินบรรยากาศและภาวะตลาดว่าจะทำให้บริษัทต่าง ๆ สนใจมาออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งสูง ๆ ต้นทุนการออกจะต่ำกว่าเมื่อ 2 ปีก่อนด้วยซ้ำ แต่บางธุรกิจที่มีเงินสดล้นมือ ก็อาจยังไม่เห็นโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ จึงรอดูสถานการณ์ไปก่อน หรือไม่จำเป็นต้องเร่งระดมทุนหรือรีบกู้เงิน

“ตอนนี้ธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกมาก และแบงก์ก็มีสภาพคล่องล้น ก็อยากปล่อยกู้กับคนไม่เสี่ยง ถ้าถามว่าข้อดีในการออกหุ้นกู้คืออะไร นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ในขณะที่ดอกเบี้ยแบงก์ลอยตัว และไม่ต้องใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้นไฮยีลด์บอนด์)” นางสาวอริยากล่าว

Q1/64 ครบดีล 1.94 แสนล้าน

นางสาวอริยากล่าวว่า ในไตรมาส 1/2564 มีหุ้นกู้จะครบกำหนดรวม 194,700 ล้านบาท โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. 64 มีหุ้นกู้ครบกำหนด 43,700 ล้านบาท ซึ่งมีการออกหุ้นกู้ใหม่ใกล้เคียงเดิมจำนวน 44,000 ล้านบาท แต่ไม่ใช่หุ้นกู้ครบกำหนดออกใหม่ทั้งหมด เช่น กรณี บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีการออกหุ้นกู้ใหม่มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท แต่ซีพีเอฟจะมีหุ้นกู้ครบดีลในเดือน ส.ค. 64

ซึ่งตามหนังสือชี้ชวนซีพีเอฟระบุว่า เงินส่วนนี้จะนำไปชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดราว 20,000 ล้านบาท และอีก 5,000-10,000 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือขยายธุรกิจในปี’64-65

ขณะที่เดือน ก.พ.นี้จะมีหุ้นกู้ครบกำหนด 43,400 ล้านบาท และเดือน มี.ค.ครบดีลกว่า 107,600 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ investment grade รายใหญ่ ก็คือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ครบดีล 42,800 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่มีการยื่นออกหุ้นกู้ เพราะกลุ่มนี้แบงก์ก็พร้อมปล่อยกู้ ซึ่งอาจได้ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการออกหุ้นกู้ในช่วงนี้

นางสาวอริยากล่าวว่า สำหรับเจ้าใหญ่ที่มีการออกหุ้นกู้เป็นประจำคือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ซึ่งจะออกหุ้นกู้ช่วง เม.ย.และ พ.ย.ของทุกปี โดยช่วง เม.ย.ปีนี้บริษัทก็มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดรวม 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้ล่าสุด บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ก็ได้ยื่นไฟลิ่งขอออกหุ้นกู้ชุดใหม่กับทางสำนักงาน ก.ล.ต.แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียด

ธุรกิจเร่งระดมทุน “ล็อกต้นทุน”

นายดนัย อรุณกิตติชัย ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การระดมทุนหุ้นกู้ในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างคึกคัก ซึ่งปกติการออกหุ้นกู้จะหนาแน่นในช่วงต้นปี เนื่องจากบริษัทต้องจัดเตรียมสภาพคล่องเพื่อนำไปบริหารจัดการระหว่างปี รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระ ส่งผลให้บริษัทต้องเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ออกมา

แต่ต้นปี 2564 ถือว่าเป็นช่วงพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ เอกชนที่จำเป็นต้องระดมทุนไว้ใช้ในระยะข้างหน้า จึงเร่งเสนอขายหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนการเงินไว้ ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว และอัตราผลตอบแทนในตลาดจะเริ่มปรับขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการเงินที่สูง

ในส่วนผู้ลงทุน จากสถานการณ์ดอกเบี้ยเงินฝากที่ค่อนข้างต่ำ ก็ทำให้ผู้ลงทุนต้องหาผลตอบแทนเพิ่ม ซึ่งการซื้อหุ้นกู้ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ขณะที่ความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มกลับมามากขึ้นเนื่องจากความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เชื่อว่าเกิดขึ้นไปแล้วในปี 2563 ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

“อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกเซ็กเตอร์หรือทุกบริษัทจะระดมทุนได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีต่อบริษัท รวมถึงแนวโน้มธุรกิจของอุตสาหกรรมนั้น ๆ หากเป็นท่องเที่ยวหรือโรงแรมอาจจะยังมีปัญหา และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะฟื้นกลับมาได้ ดังนั้น หากซื้อหุ้นกู้ต้องเลือกอุตสาหกรรม และดูเรตติ้งของบริษัทผู้ออกด้วย” นายดนัยกล่าว

แสนสิริออกหุ้นกู้ใหม่ 3,500 ล้าน

นางสาววรางคณา อัครสถาพร ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเดือน ก.พ.นี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ใหม่ 1 รุ่น อายุ 3 ปี 8 เดือน ดอกเบี้ย 4.20% ต่อปี วงเงินรวม 3,500 ล้านบาท โดยเปิดจองซื้อวันที่ 15-17 ก.พ. 64

ทั้งนี้เดิมบริษัทตั้งเป้าเสนอขายหุ้นกู้ใหม่วงเงินรวมแค่ 3,000 ล้านบาท (รวมกรีนชู 1,000 ล้านบาท) แต่จากการสำรวจความต้องการซื้อ ขณะนี้พบว่ามียอดจองเข้ามาพอสมควร จึงเพิ่มในส่วนของกรีนชูเพื่อให้ถึงมือรายย่อยมากขึ้น โดยการระดมทุนครั้งนี้ส่วนหนึ่งจะเป็นเงินทุนสำหรับโครงการใหม่ รวมถึงการซื้อที่ดินเพิ่ม

“ปลายปีนี้บริษัทมีหุ้นกู้ครบกำหนดประมาณ 8 พันล้านบาท แต่ที่เราตัดสินใจออกหุ้นกู้ใหม่ช่วงนี้ เพราะไทม์มิ่งตลาดบอนด์เป็นช่วงตลาดเปิด (มีดีมานด์) หลังจากปีที่แล้วตลาดปิด จากสภาพเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดโควิด ทุกคนเก็บเงินสด บริษัทต่าง ๆ ไม่กล้าออกหุ้นกู้ กลัวขายไม่หมด” นางสาววรางคณากล่าว

ส่วนปีนี้สภาวะเศรษฐกิจก็ยังคาดเดายากพอสมควร ไม่แน่ใจว่าปลายปีตลาดบอนด์จะปิดอีกหรือไม่ ฉะนั้นจังหวะที่ตลาดเปิดบริษัทจึงรีบระดมทุนออกหุ้นกู้ใหม่ไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าต้นทุนการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ถ้าเทียบกับหุ้นกู้ชุดก่อนที่เทอมคล้าย ๆ กัน ช่วงนี้แพงกว่าเล็กน้อย เพราะส่วนต่าง (spread) กว้างขึ้นเล็กน้อย ในช่วงที่ภาวะตลาดมีคิวการออกหุ้นกู้ค่อนข้างหนาแน่น

เพิ่มสัดส่วนแหล่งทุนจาก “หุ้นกู้”

ซีเอฟโอของแสนสิริกล่าวว่า ปัจจุบันแหล่งที่มาของเงินทุนของบริษัท ประมาณ 55-60% มาจากหุ้นกู้ และ 30% จากสินเชื่อโครงการ ส่วนอีก 10% เป็นเงินกู้ระยะสั้น โดยพยายามใช้แหล่งเงินทุนผสมกันเพื่อถั่วเฉลี่ยให้ดอกเบี้ยเหมาะสม และมีแผนปรับสัดส่วนของหุ้นกู้เพิ่มเป็น 60-70%

“เพราะโดยเทอมการลงทุนเรียลเอสเตต อยู่ประมาณ 3-5 ปี เราจึงชอบออกหุ้นกู้เพราะจะแมตชิ่งได้ง่าย และดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่สินเชื่อโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ส่วนมากดอกเบี้ยลอยตัว ก็ทำให้ต้นทุนการเงินในอนาคตไม่แน่นอน บริษัทจึงเพิ่มสัดส่วนของแหล่งทุนจากหุ้นกู้มากขึ้น เพราะมีความแน่นอนมากกว่า”

นางสาววรางคณากล่าวต่อว่า ปีนี้บริษัทตุนสภาพคล่องไว้จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจากเงินสดส่วนหนึ่งและวงเงินสินเชื่อพร้อมใช้ ซึ่งบางโครงการบริษัทขอโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ไว้ 100% แต่เบิกเงินออกมาใช้แค่ 20% ยังเบิกเงินได้อีก 80%

ฉะนั้นต่อให้ตลาดปิดหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดช่วงปลายปี บริษัทไม่ได้ roll over หุ้นกู้ครบดีลก็ไม่เป็นปัญหา เพราะบริษัทสามารถจ่ายเงินต้นดอกเบี้ย และยังเหลือสภาพคล่องอีกกว่า 7 พันล้านบาท ฉะนั้นยังมีเงินเพียงพอสำหรับใช้เป็นทุนหมุนเวียนในปีนี้

รายย่อยแห่ซื้อหาผลตอบแทน

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Markets Research ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ประกอบกับปัจจัยดอกเบี้ยต่ำทำให้เกิดการแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า (search for yield) เนื่องจากการลงทุนในเงินฝาก กองทุน หรือพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ พบว่าระยะหลังตลาดหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (high yield bond) ที่มีความเสี่ยงเครดิตรับกลาง ๆ หรือ BBB หันมาออกกันมากขึ้น โดยให้ผลตอบแทนสูงโดยเฉลี่ย 6-7% อย่างไรก็ดี นักลงทุนต้องระมัดระวังและต้องทำความเข้าใจในเรื่องของงบการเงินของบริษัทนั้น ๆ ก่อนจะมีการลงทุนด้วย

“ตอนนี้ความต้องการฝั่งผู้ซื้อมีมากกว่าฝั่งผู้ขาย และตลาดหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมาก็มีปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตค่อนข้างน้อย ประกอบกับนักลงทุนรายย่อยเริ่มรู้จักและต้องการผลตอบแทน ทำให้หุ้นจึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุน และเกิดการแข่งขันในตลาด high yield bond ที่ออกมาแข่งกับเงินฝากและกองทุน”