การค้ำประกันหุ้นกู้ (Monoline Insurance) จิ๊กซอว์ที่ตลาดหุ้นกู้ไทยกำลังต้องการ

หุ้นไทย
ภาพ pixabay
คอลัมน์ สถานีลงทุน
ศิรินารถ อมรธรรม
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ผู้ออกหุ้นกู้หน้าใหม่ที่มีขนาดไม่ใหญ่ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของนักลงทุน หรือผู้ออกที่ไม่จัดอันดับเครดิต เมื่อเริ่มจะออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรกมักจะประสบปัญหาขายหุ้นกู้ยาก นักลงทุนไม่มั่นใจในความสามารถใช้หนี้คืนจึงทำให้ต้องจ่ายคูปองสูงจนผู้ออกหลายรายล้มเลิกการออกหุ้นกู้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดตราสารหนี้ในการเป็นทางเลือกการระดมทุนได้ดังเช่นบริษัทขนาดใหญ่

เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัว ซึ่งก็เป็นนโยบายหนึ่งที่ภาครัฐพยายามจะผลักดันให้ SMEs มีความเข้มแข็งและเติบโตให้มากขึ้น

วิธีการหนึ่งที่สำคัญก็คือ การให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเพียงพอผ่านการออกหุ้นกู้ที่มีการค้ำประกัน โดยผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแทนผู้ออกหากเกิดเหตุผิดนัดชำระขึ้น

Monoline insurance หรือการค้ำประกันหุ้นกู้ เป็นบริการให้การค้ำประกันหุ้นกู้ที่จะช่วยให้ผู้ออกจ่ายคูปองที่ต่ำลงจากการมีอันดับเครดิตดีขึ้น หรือนักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้นจึงยอมรับคูปองที่ต่ำลง

โดยผู้ออกก็ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันตามความเสี่ยงในการผิดนัดชำระระยะเวลาการคุ้มครองและวงเงินการคุ้มครอง ดูไปก็คล้ายกับการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกัน ถ้าประเมินแล้วความเสี่ยงสูงเกินไปบริษัทค้ำประกันก็ไม่ขายประกันให้

และเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงของตัวเอง บริษัทให้การค้ำประกันก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงกำหนดมูลค่าการค้ำประกันผู้ออกในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนถึงการทำประกันต่ออีกทอดหนึ่งดังเช่นที่บริษัทให้การค้ำประกันในต่างประเทศ

Monoline insurance ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 1971 ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อค้ำประกันการออกพันธบัตรท้องถิ่น จากนั้นมีการขยายให้ครอบคลุมการออกหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่ทำหน้าที่ค้ำประกันการออกตราสารหนี้ทั้งหมด 9 รายที่ดำเนินการในสหรัฐอเมริกาและมีสาขาทั่วโลก โดยบริษัท Assured Guarantee Ltd. มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยสัดส่วน 60.1% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด หรือคิดเป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เกาหลีใต้มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) ทำหน้าที่ค้ำประกันการขอสินเชื่อและการออกหุ้นกู้ ก่อตั้งในปี 1976 ภายใต้การกำกับดูแลของ Financial Services Commission (FSC) ด้วยทุนจดทะเบียน 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9.9 หมื่นล้านบาท จากการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชน (ธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการ) ณ สิ้นปี 2018 ให้การค้ำประกันไปแล้วกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4 ล้านล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการค้ำประกันการขอสินเชื่อ

Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ทรัสต์ฟันด์ของ ADB ก่อตั้งเมื่อพฤศจิกายน 2010 โดยความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) ร่วมกับประเทศสมาชิก ASEAN+3 ทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันการออกหุ้นกู้สำหรับผู้ประกอบการในประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ปัจจุบันให้การค้ำประกันบริษัทต่าง ๆ กว่า 35 บริษัท มูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.5 หมื่นล้านบาท) บริษัทเอกชนไทยหลายแห่งก็ได้รับการค้ำประกันจาก CGIF

มาเลเซียมีหน่วยงานค้ำประกันการออกหุ้นกู้ที่จัดตั้งขึ้นภายหลังวิกฤตการเงินของโลกในปี 2009 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในนาม Danajamin Nasional Berhad ทุนจดทะเบียนตั้งต้นที่ 1,000 ล้านริงกิต (7.3 พันล้านบาท) ดำเนินงานในรูปแบบบริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของ 100% (Minister of Finance Incorporated 50% และ Credit Guarantee Corporation Malaysia Berhad 50%) กำกับดูแลโดยธนาคารกลางของมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia)

และมีคณะกรรมการบริหารงานจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีความเป็นอิสระและโปร่งใสในการดำเนินงาน โดย ณ สิ้นปี 2019มีมูลค่าคงค้างการค้ำประกันการออกหุ้นกู้อยู่ที่ 5.23 พันล้านริงกิต หรือราว 3.8 หมื่นล้านบาท

ในแง่ของนักลงทุน หากผู้ออกได้รับการค้ำประกันก็ดูจะมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะผู้ออกเหล่านี้ได้ผ่านการตรวจสอบประเมินความเสี่ยงมาแล้วระดับหนึ่ง แถมยังเป็นการเพิ่มช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี


ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ออกที่มีขนาดไม่ใหญ่ ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก หรือมีอันดับเครดิตไม่สูง รวมถึงปิดช่องว่างของ CGIF ที่ผู้ออกบางรายไม่เข้าเงื่อนไขการขอรับประกัน การจัดตั้ง Monoline insurance ของไทยดูจะเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนให้บริษัทเอกชนไทยฟื้นตัวจากโควิด และใช้ประโยชน์จากตลาดตราสารหนี้ให้มากขึ้นในการเป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุน