ธุรกิจขาใหญ่จ่อขาย “หุ้นกู้” 12 บริษัทครบดีล 1.9 แสนล้าน

เงินบาท-หุ้นไทย

แม้ว่าปีนี้จะยังอยู่ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ของภาคธุรกิจดูจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว โดยข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

พบว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาภาคธุรกิจมีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ส่งผลให้มียอดการออกหุ้นกู้รวมทั้งสิ้นมากกว่า 5 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 67% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ในครึ่งปีหลังแนวโน้มภาคธุรกิจก็ยังคงระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้กันต่อเนื่อง

โดย “ธาดา พฤฒิธาดา” กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA บอกว่า ครึ่งปีแรกมีหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ของ 17 บริษัทที่ขอยืดหนี้ออกไปเป็นมูลค่ารวม 9,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายใหม่ 4 บริษัท มูลค่า 3,480 ล้านบาท

ที่เหลือเป็นรายเดิมที่เคยมีปัญหา แต่เป็นหุ้นกู้รุ่นใหม่ที่ครบกำหนดต้องขอยืดหนี้ออกไปจำนวน 5 รุ่น จาก 3 บริษัท มูลค่า 3,910 ล้านบาท และรายเดิมที่ขอยืดหนี้หุ้นกู้รุ่นเดิมอีก 8 รุ่น มูลค่า 2,450 ล้านบาท

ธุรกิจแห่ออกหุ้นกู้สูงกว่าคาด

ขณะที่ “อริยา ติรณะประกิจ” รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า สถานการณ์หุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ถือว่ากลับไปใกล้เคียงกับช่วงปี 2562 ที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อยู่ระดับ 5.17 แสนล้านบาท ส่งผลให้การระดมทุนออกหุ้นกู้ใหม่น่าจะมากกว่าที่สมาคมเคยคาดการณ์ไว้ตอนต้นปีที่ 7-7.5 แสนล้านบาท

“ปีนี้คิดว่าน่าจะมีหุ้นกู้ออกใหม่ไม่ต่ำกว่า 8-8.5 แสนล้านบาท หลังจากช่วงครึ่งปีแรกการออกหุ้นกู้มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน และกลับไปใกล้เคียงระดับเดียวกันกับช่วงปี 2562

โดยครึ่งปีแรกที่ผ่านมาหุ้นกู้อายุ 5 ปีที่มีเรตติ้ง A จ่ายดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยราว 2.7-2.9% ส่วนหุ้นกู้เรตติ้ง BBB+ จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.2-4.5% ถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจทีเดียวในยุคดอกเบี้ยต่ำ” นางสาวอริยากล่าว

120 บจ. ครบดีลเฉียด 4 แสนล้าน

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ พบว่ามีถึง 120 บริษัทที่หุ้นกู้จะครบกำหนด คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 3.73 แสนล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งมาจากผู้ออกรายใหญ่ 12 ลำดับแรก (ดูตาราง) ซึ่งมีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมกันกว่า 1.88 แสนล้านบาท และแต่ละรายมีวงเงินหุ้นกู้ตั้งแต่ 7,500 ล้านบาทขึ้นไป

โดยบริษัทที่มีหุ้นกู้ครบดีลสูงสุดในช่วงครึ่งปีหลัง คือ บมจ.ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) จำนวน 28,935 ล้านบาท แบ่งเป็นเดือน ส.ค. 11,998 ล้านบาท เดือน พ.ย. 5,962 ล้านบาท

และเดือน ธ.ค. 10,975 ล้านบาท รองลงมาคือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบดีลในเดือน ต.ค. 2564 ถัดมาคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 21,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นเดือน ก.ค. 14,000 ล้านบาท และเดือน พ.ย.อีก 7,000 ล้านบาท อีกรายคือ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 20,000 ล้านบาท ครบดีลในเดือน ส.ค.

“โอกาสที่หุ้นกู้ของรายใหญ่ที่ครบดีลจะ roll over คิดว่าเกิน 80% แน่นอน และผู้ออกที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดวงเงินตั้งแต่ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป ก็มีอีกไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท ดังนั้น ถ้าออกมาตามที่คาดทั้งปีแนวโน้มการออกหุ้นกู้ถือว่าเกินระดับที่เคยตั้งเป้าไว้แล้ว” นางสาวอริยากล่าว

“อริยา” บอกด้วยว่า ตัวเลขหุ้นกู้ดังกล่าวยังไม่รวมหุ้นกู้ที่อาจมีการออกใหม่เพิ่มเติมเพื่อขยายธุรกิจโดยไม่ได้ทดแทนเฉพาะมูลค่าที่ครบกำหนด ซึ่งมีจำนวนหลายบริษัทที่ได้ทยอยประกาศเสนอขายแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีผู้ออกหุ้นกู้ในระดับลงทุน (investment grade) อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีหุ้นกู้ครบกำหนดในมูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาท รวมถึงบริษัทขนาดกลางหรือเล็กบางรายที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดไม่มากนัก และไม่มีอันดับเรตติ้ง

“เราเห็นดีมานด์ในตลาดตราสารหนี้ยังค่อนข้างหนาแน่น และสภาพคล่องในระบบสูง ทุกคนต้องการจะลงทุนอยู่แล้วเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นบริษัทเรตติ้งดี ๆ จะเริ่มมาขายให้กับประชาชนทั่วไป (PO) มากขึ้นด้วย

ถึงแม้สถานการณ์การระบาดของโควิดยังแย่อยู่ก็ตาม แต่ไม่ได้ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ยังทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้” นางสาวอริยากล่าว

แห่ล็อกต้นทุนรับโควิดลากยาว

“อริยา” กล่าวอีกว่า หากพิจารณาในมุมผู้ออกหุ้นกู้ อาจจะมองว่าสถานการณ์โควิดอาจจะลากยาว จึงต้องการล็อกต้นทุนไว้ก่อน อย่างกรณี บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (ThaiBev) เดิมหุ้นกู้ครบกำหนดช่วงต้นปี แต่มาออกหุ้นกู้ช่วงท้ายครึ่งปีแรก

หรือกลุ่ม ซี.พี. (CP) ที่เตรียมออกหุ้นกู้อีกค่อนข้างมาก และน่าจะยังมีอีกหลายกลุ่มธุรกิจที่จะออกหุ้นกู้ เช่น บมจ.ไมเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) หรืออีกหลาย ๆ กลุ่มที่ครบกำหนด แต่ออกมากกว่าที่ครบดีลเพื่อตุนสภาพคล่องเอาไว้

ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ปรับขึ้นไประดับสูงสุดเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2564 แต่ช่วงหลังนี้ลดระดับลงมาและค่อนข้างแกว่งตัวไซด์เวย์

โดยก่อนหน้านี้บอนด์ยีลด์ไทยดีดตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ ซึ่งเป็นอาการตกใจจากสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐเร่งตัวขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดการเข้าซื้อพันธบัตร (QE tapering)

“แนวโน้มที่เหลือของปีนี้ยังคาดการณ์บอนด์ยีลด์ลำบาก อาจจะมีช่วงที่เซนติเมนต์ตลาดจะกระตุกจนสร้างความกังวล ทำให้ตลาดเกิดความผันผวนได้อีกรอบ แต่ช่วงนี้ตลาดค่อนข้างนิ่ง ทำให้เป็นจังหวะเห็นบริษัทมาออกหุ้นกู้ระดมเงินทุนไว้ เนื่องจากสถานการณ์ข้างหน้ายังไม่สามารถคาดเดาได้ โดยในภาวะตอนนี้ยีลด์ในตลาดค่อนข้างนิ่ง และต้นทุนการออกหุ้นกู้อยู่ในระดับที่ทุกคนเห็นว่ารับได้” รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าว

ด้าน “พีรพรรณ สุวรรณรัตน์” ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ตามปัจจัยต่างประเทศที่ตลาดมองว่าเงินเฟ้อจะไม่ขึ้นเร็วเท่าที่เคยคิด

รวมถึงปัจจัยโควิด-19 อย่างไรก็ดี กสิกรไทยมองว่าช่วงครึ่งปีหลัง บอนด์ยีลด์จะยังเป็นขาขึ้น แต่คงไม่ได้ปรับขึ้นมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ทั้งนี้ ประเมินว่าถึงสิ้นปีนี้ บอนด์ยีลด์ระยะ 2 ปี จะอยู่ที่ 0.7% และ 10 ปี อยู่ที่ 1.9%

ดูแนวโน้มแล้ว ช่วงครึ่งปีหลัง การออกเสนอขายหุ้นกู้น่าจะยังคงคึกคัก และ น่าจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ในยุคที่เงินฝากท่วมระบบแบงก์อย่างเช่นทุกวันนี้