คลังหืดจับเก็บภาษีโค้งสุดท้าย ลุ้นกำไรบริษัทในตลาดหุ้นพยุงเป้ารายได้

เงินบาท-ตลาดหุ้น-02

กรมภาษีลุ้นเก็บรายได้โค้งสุดท้าย “สรรพากร” หวังผลประกอบการบริษัทในตลาดหุ้นดีหนุนภาษีนิติบุคคลรอบครึ่งปี ช่วยพยุงยอดจัดเก็บภาพรวมไม่ต่ำเป้ามาก ชี้ผลจัดเก็บรอบ 10 เดือน สูงกว่าปีก่อน 5% แต่ต่ำกว่าประมาณการ เหตุตั้งเป้าไว้สูงก่อนเจอโควิดถล่ม ขณะที่กรมศุลฯเผย “เงินบาทแข็งค่า” หนุนรายได้เดือน ก.ค.สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 20%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพากรในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563-ก.ค. 2564)ยังสามารถจัดเก็บได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วอยู่ 4-5%

แต่ยอมรับว่า ยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณค่อนข้างมาก เนื่องจากเป้าจัดเก็บที่ 2.08 ล้านล้านบาท ถูกตั้งไว้ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะรุนแรงขึ้น ซึ่งตั้งไว้ว่ารายได้จะเพิ่มถึง 13% แต่เมื่อเจอสถานการณ์ผลกระทบโควิดเช่นนี้ น่าจะลำบาก เพราะกรมสรรพากรก็ต้องช่วยผู้เสียภาษีด้วย คงไม่ไปไล่บี้ในช่วงนี้

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

ทั้งนี้ ในภาพรวมปีนี้ รายได้ภาษียังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งกรมจะพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งช่วงที่ผ่านมาภาษีบางรายการก็จัดเก็บได้ดีกว่าที่คาด เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากกรมมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยขยายฐานภาษี ทำให้ผู้ที่ไม่เคยเสียภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบได้

แต่ขณะเดียวกัน ก็ให้ความเป็นธรรม ไม่ได้เข้าไปทำให้ประชาชน หรือภาคธุรกิจเดือดร้อน เพราะเข้าใจว่าเป็นช่วงที่โควิดส่งผลกระทบไปทั่ว

“แนวโน้มที่เหลืออีก 2 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ เรากำลังรอดูยอดจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบครึ่งปี หรือ ภ.ง.ด.51 ว่าจะเข้ามามากแค่ไหน โดยเท่าที่ดูผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ออกมาดูดีกัน ก็น่าจะทำให้ได้ภาษีส่วนนี้เพิ่มขึ้น” นายเอกนิติกล่าว

ขณะที่ในส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กรมได้เปิดให้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาลงทะเบียนทางออนไลน์ผ่านระบบ VES (VAT for electronic service) แล้วตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุดมีลงทะเบียนเข้ามาแล้ว 34 ราย ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า ระยะแรกจะมีผู้ประกอบการราว ๆ 100 รายที่จะเข้าสู่ระบบ และประเมินว่าจะมีรายได้ส่วนนี้ปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท

“รายได้จากภาษี e-Service ยังไม่ได้เข้ามาในปีงบประมาณ 2564 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ เพราะพอกฎหมายบังคับใช้ ผู้ประกอบการก็ต้องนำรายได้จากการขายและบริการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมายื่น โดยรายได้งวดแรกจะเข้ามาในวันที่ 23 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงปีงบประมาณ 2565” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้ของกรมศุลฯในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สามารถทำได้ 8,356 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 20% แต่ต่ำกว่าประมาณการ 5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้มีการส่งออกมากขึ้น ซึ่งภาพรวมการค้าระหว่างประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 รวมทั้งกรมได้มีการแก้ไขอำนวยความสะดวก การเพิ่มระบบไอทีเข้ามาสนับสนุนการนำเข้าและส่งออก จึงส่งผลให้ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ดีขึ้น

“ส่วนเป้าจัดเก็บรายได้ที่ปรับลดลงมาล่าสุด เหลือ 9.3 หมื่นล้านบาทนั้น ต้องรอติดตามอีกครั้ง เนื่องจากตอนปิดประเทศช่วงปลายปี 2563 ทำให้กรมสูญเสียรายได้ไปในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563-ม.ค. 2564 ดังนั้น จึงมียอดจัดเก็บที่เก็บได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น” นายพชรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง รายงานผลการจัดเก็บรายได้ช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,738,161 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 195,357 ล้านบาท หรือ 10.1% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 49,527 ล้านบาท หรือ 2.9% โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ต่ำกว่าประมาณการ 9% กรมสรรพสามิตต่ำกว่าประมาณการ 11.5% และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ต่ำกว่าประมาณการ 21.5%