กรมเจ้าท่าดันสร้าง 3 ท่าเรือสำราญหรู 1.3 หมื่นล้าน แลนด์มาร์กใหม่ทะเลไทย

ท่าเรือสำราญหรู

กรมเจ้าท่าเผยผลการศึกษาท่าเรือสำราญหรู 3 แห่ง ที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี แหลมป่อง จังหวัดกระบี่ และแหลมบาลีฮาย จังหวัดชลบุรี งบประมาณการก่อสร้างรวม 13,631.38 ล้านบาท รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ชูแลนด์มาร์กใหม่แห่งท้องทะเลไทย

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ได้เปิดเผยถึงผลการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือสำราญในประเทศไทย จำนวน 3 พื้นที่ คือ

ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์
ภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์

1.โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจากผลการศึกษาเดิมพบว่าที่ตั้งที่เหมาะสมของท่าเรือ ได้แก่ บริเวณแหลมหินคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลงานสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 80 อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ของโครงการร่วมลงทุนและร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยวงเงินในการก่อสร้างโครงการนี้คือ 6,449 ล้านบาท

 ท่าเรือสำราญหรู

2.โครงการศึกษาวางแผนแม่บท เพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบ ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ได้ข้อสรุปผลการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมบริเวณอ่าวแหลมป่อง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยพัฒนาเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of Call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500-4,000 คน ผลงานสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 50 อยู่ระหว่างการออกแบบท่าเรือ และกำหนดรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีวงเงินการก่อสร้างที่ 3,700 ล้านบาท

 ท่าเรือสำราญหรู

3.โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน ได้ข้อสรุปที่เหมาะสม ในการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) คือเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of Call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500-4,000 คน ผลงานสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 60.00 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบท่าเรือ และกำหนดรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน วงเงินงบประมาณการก่อสร้าง 3482.380 ล้านบาท

 ท่าเรือสำราญหรู

ทั้ง 3 โครงการ รวมงบประมาณการก่อสร้างทั้ง 3 โครงการกว่า 13,361.38 ล้านบาท

รองอธิบดีกรมเจ้าท่ากล่าวถึงโครงการพัฒนาท่าเรือสำราญว่า “แนวคิดในการพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่นี้ เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางถึงระดับสูง ที่มีการใช้จ่ายเงินในการท่องเที่ยวจำนวนมาก สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ และระบบเศรษฐกิจสูง การศึกษา คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาให้มีท่าเรือต้นทาง (Home Port) ในประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยล่วงหน้า เพื่อที่จะลงเรือเริ่มต้นเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล หรือขึ้นจากเรือเมื่อสิ้นสุดการเดินทางและท่องเที่ยวต่อในประเทศไทย ก่อนเดินทางกลับ

พร้อมพัฒนาให้มีท่าเรือแวะพัก (Port of Call) ที่จะเป็นท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางเดินเรือผ่านประเทศไทย ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน อันจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจท่องเที่ยว การบริการ และธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดย่อม ไปถึงผู้ค้า ผู้ให้บริการรายย่อย การออกแบบท่าเรือจะนำเอาแนวคิดที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทยและท้องถิ่นมาผสมผสาน เพื่อให้ท่าเรือมีความโดดเด่นเป็นแลนด์มาร์กแห่งท้องทะเลไทย”