
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยฉบับที่ 7 ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก รวมถึงมีฝนตกสะสมในภาคเหนือ อีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน คาด “พายุขนุน” ไม่เข้าไทย
วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ว่าที่ร้อยตรีธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 7 เตือนภัยลักษณะอากาศ เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2566)
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ญี่ปุ่นสู้ศึก EV จีน-ลุยส่งออก โตโยต้ายอดพุ่ง “BYD-เทสลา” แรง
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
ส่วนในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุไต้ฝุ่น “ขนุน (KHANUN)” กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ทิศทางไม่ได้มุ่งเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบกับบ้านเรา (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 1 สิงหาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์
มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก : จังหวัดจันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 2 สิงหาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก
และพิษณุโลก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ
และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก : จังหวัดจันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
วันที่ 3 สิงหาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2566
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปใน วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 05.00 น.