หมอรามาฯ เล่าอาการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า เผยข้อดีซิโนแวค

หมอเผยข้อดีวัคซีนซิโนแวค

พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล สาขาวิชาโรคภูมแพ้ รพ.รามาธิบดี เล่าอาการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า เผยข้อดีซิโนแวค ช่วยกำจัดไวรัสได้เร็ว ลดการอักเสบที่ปอด

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 หลัง พญ.ประภาพร พิสิษฐ์กุล สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชา​อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก (2 ก.ค.) ว่าตนเองตรวจพบเชื้อโควิด หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

การติดเชื้อระยะเริ่มแรก

ล่าสุด พญ.ประภาพร ได้โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้ง เล่าถึงอาการหลังการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ระบุว่า ตนได้ทราบผลการตรวจ Swab พบว่า ไวรัสที่ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์เดลต้า โดยในระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเริ่มต้นคล้ายเป็นหวัดทั่วไป เป็นไข้ ปวดเมื่อยตัว น้ำมูก ระคายคอ คันคอ เจ็บคอ

อาการเหล่านี้แทบจะแยกไม่ได้จากอาการหวัดทั่วไปเลย แต่อาการจมูกไม่ได้กลิ่น ดูเหมือนจะเป็นอาการที่ค่อนข้างจำเพาะกับการติดเชื้อโควิด (แต่อาการจมูกไม่ได้กลิ่นนี้ ไม่ได้เกิดในวันแรก ๆ จะมาพร้อม ๆ กับอาการคัดจมูกและมีน้ำมูก)

ถ้าดูในรูปจะเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย การรักษาก็คือ การรักษาตามอาการ (ให้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก แก้ไอ เจ็บคอ) และการให้ยาต้านไวรัสในช่วงนี้จะช่วยลดปริมาณไวรัสลงและช่วยให้มีโอกาสการเกิดอาการแทรกซ้อนลดลง โดยระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ การทำงานของภูมิคุ้มกัน

การฉีดวัคซีนในระยะนี้ จะช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิด CD8 T cells ให้มีความทรงจำต่อเชื้อโรคได้ดีจะทำให้เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว CD8 T cells เหล่านี้จะเป็นกองหน้าที่แข็งแรงและมีความทรงจำกับเชื้อโรคที่เคยเห็นตอนได้วัคซีนกระตุ้นก็จะออกมาขจัดเชื้อโรคและอาจทำให้เรารับเชื้อแต่ไม่มีอาการเลยก็ได้ โดยวัคซีนที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้น CD8 memory T cells ที่ดีคือ mRNA vaccine และ Viral vector DNA

ส่วนซิโนแวคซึ่งใช้ตัวกระตุ้นภูมิเป็น Alum จะมีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้าง แอนติบอดีได้ดี แต่ไม่ค่อยกระตุ้น CD8 memory T cells (อันนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ค่อยดี)

ซิโนแวค ช่วยระบบคุ้มกันส่วนไหน

เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้ามาในร่างกาย ตัวเชื้อจะจับกับตัวรับบนผิวเซลล์ในทางเดินหายใจ เพื่อเพิ่มจำนวนไวรัส และเมื่อไวรัสกินอยู่ในเซลล์เรียบร้อยแล้ว ไวรัสก็ทำลายผนังเซลล์ทำให้เซลล์ตาย เมื่อเซลล์ตายก็เหมือนกับบ้านพังต้องมีเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ มาเก็บกินซากปรักหักพังรวมทั้งออกมาสู้กับไวรัสตัวร้ายที่ทำลายผนังเซลล์ ดังนั้นการปล่อยให้ไวรัสเข้าเซลล์ได้ง่าย ๆ และเพิ่มจำนวนเร็ว ๆ จะทำให้เกิดการอักเสบตามมาและการอักเสบที่มาก ๆ จะนำไปสู่ระยะที่สองของการติดเชื้อ

การติดเชื้อระยะที่สอง

เมื่อเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็มีโอกาสลุกล้ำเข้าไปสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบได้ โดยการดำเนินของโรคระยะที่สองจะอยู่ในช่วงปลายสัปดาห์แรกต่อกับสัปดาห์ที่สอง ในช่วงนี้ถ้าภูมิคุ้มกันของเราสามารถจัดการขจัดเชื้อโรคได้เร็วเราก็อาจไม่เกิดปอดอักเสบหรือเกิดเล็กน้อยและสามารถดีขึ้นได้

ขณะเดียวกัน หากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่สามารถคุมไวรัสได้ จะเกิดการสู้กันระหว่างเม็ดเลือดขาวกับเชื้อโรค ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Cytokine storm เกิดขึ้น และเมื่อเกิดภาวะนี้แล้วก็ต้องมีการใช้ยาต้านอักเสบกลุ่ม steroid หรือยา biologics อื่น ๆ เพื่อหยุดการอักเสบ

ซิโนแวคช่วยขจัดไวรัสได้เร็ว ลดการอักเสบที่ปอด

ดังนั้น Protective immunity ที่ได้จากซิโนแวค ก็จะมีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถจัดการขจัดไวรัสไปให้เร็วขึ้นและการอักเสบและการลุกลามไปที่ปอดเกิดลดลง ถึงเป็นที่มาของข้อมูลที่ซิโนแวคช่วยลดอาการรุนแรง ลดการตายในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

สำหรับข้อสังเกตของผู้ติดเชื้อโควิดว่าเราจะเริ่มมีอาการของปอดอักเสบร่วมหรือไม่ แนะนำว่าให้วัดออกซิเจนปลายนิ้วมือก่อนและหลังออกกำลังกายสัก 3 นาที ถ้าลดลงหลังออกกำลังกายคงต้องสงสัยว่า อาจมีอาการของปอดอักเสบร่วมด้วย

“สุดท้ายนี้อยากบอกทุกท่านว่าในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้วัคซีนก็คงช่วยเราไม่ได้ 100% เราคงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของระบบภูมิคุ้มกันของเราเองให้ดี ป.ล. หวังว่าจะเข้าใจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแบบง่ายๆที่เล่ามานี้นะคะ ไว้ครั้งหน้าจะมาเล่าหลักการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนแต่ละเทคโนโลยีและวิธีง่ายๆของการเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อการฉีดวัคซีนค่ะ”