การล่วงละเมิดเด็ก : สถิติน่าห่วง วิธีแก้ปัญหา ช่องทางขอความช่วยเหลือ

เปิดสถิติการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
ภาพจาก pixabay

การล่วงละเมิดเด็กยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวลในประเทศไทย ยูนิเซฟเคยชี้ช่องโหว่ของปัญหาระดับชุมชน พร้อมเสนอ 2 แนวทางแก้ไข ขณะที่เอกชนช่วยกันเผยแพร่สื่อ เพื่อให้เด็กรู้จักป้องกันตัวเอง 

วันที่ 27 ตุลาคม 2564 กรณีโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์การแสดงความรักต่อลูกสาวของนักดนตรีชื่อดัง ทำให้มีการยกประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบต่อเนื่องในประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสถิติการล่วงละเมิดเด็ก การเคลื่อนไหวของเหยื่อ และความพยายามในการแก้ปัญหาจากหน่วยงานต่าง ๆ

สถิติการล่วงละเมิดเด็ก 2563

วันที่ 28 ธันวาคม 2563 มติชน รายงานว่า นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี  จังหวัดปทุมธา นีแถลงผลการดำเนินงาน และสถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมูลนิธิฯ ประจำปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2563 – 25 ธันวาคม 2563 รวมรับเรื่องราวร้องทุกข์ทั้งสิ้น 10,147 ราย

ทั้งนี้มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้จำแนกเป็นปัญหาต่าง ๆ ซึ่งปัญหาอันดับ 1 ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ การข่มขืนและทำอนาจาร จำนวน 863 ราย จัดเป็นประเภทปัญหาที่ต้องความสำคัญและให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ปัญหาข่มขืนและทำอนาจาร พบว่า ปี 2563 มีผู้มาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือถึง 863 ราย เพิ่มมากกว่าปี 2562 (786 ราย) ถึง 77 ราย ร้องทุกข์เฉลี่ยวันละ 2.40 ราย เปรียบเทียบกับปี 2562 จำนวน 786 ราย เพิ่มขึ้น 9.80 % พบว่า

  • อันดับ 1 ผู้ที่ข่มขืนเป็นคนรู้จัก/แฟน/เพื่อน 340 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 43.26%
  • อันดับ 2 ผู้ที่ข่มขืนเป็นญาติ/คนในครอบครัว/พ่อเลี้ยง 241 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 30.6%
  • อันดับ 3 ผู้ที่ข่มขืนเป็นคนข้างบ้าน 44 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 5.60% ข่มขืน

ข้อสังเกต และน่าเป็นห่วงคือ

  1. เด็ก แรกเกิด 0-5 ปี ถูกข่มขืน 28 ราย
  2. เด็ก อายุ 5-10 ปี ถูกข่มขืน 94 ราย ตัวอย่าง เคสข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายอายุน้อยสุด เป็นเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ 10 เดือน แจ้งมูลนิธิปวีณาฯวันที่ 24 ก.พ. 63 จังหวัดเพชรบูรณ์ ว่า ลูกสาวได้มาบอกว่าเจ็บอวัยวะเพศ จึงได้สอบถามลูก เล่าว่าถูกตาข้างบ้าน อายุ 40 ปี ใช้นิ้วแหย่เข้าไปที่อวัยวะเพศ

ไทยขาดความเชี่ยวชาญการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน

วันที่ 22 เมษายน 2562 องค์กรยูนิเซฟ ประเทศไทย องค์กรส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เผยแพร่บทความเรื่อง ประเทศไทยยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน ระบุว่า

ความรุนแรงต่อเด็กเป็นสิ่งที่แพร่หลายในสังคมไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้าย โดยส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หนำซ้ำตัวเลขนี้อาจเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เนื่องจากกรณีที่รับทราบก็มักเป็นกรณีที่รุนแรงมาก ๆ เท่านั้น

ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานด้านคุ้มครองเด็กในหลายด้าน เช่น การจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Centre) ในระดับจังหวัดและอำเภอ และจัดตั้งบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัดเพื่อให้การดูแลรักษาและช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางรวมทั้งเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง อีกทั้งยังจัดให้มีบริการสายด่วน 1300 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนทุกปัญหาสังคมรวมทั้งการกระทำรุนแรงต่อเด็ก

อย่างไรก็ตาม เด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึงบริการด้านการคุ้มครองเด็กดังกล่าว เนื่องจากบริการเหล่านั้นมักตั้งอยู่ในระดับจังหวัด แต่เหตุการณ์รุนแรงหรือการล่วงละเมิดต่อเด็ก ๆ ส่วนใหญ่กลับเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นหรือระดับหมู่บ้าน ซึ่งแทบไม่มีนักสังคมสงเคราะห์หรือเจ้าหน้าที่ด้านการคุ้มครองเด็กที่ประจำอยู่เลย

ทำให้ไม่มีกลไกในการระบุตัวเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางหรือเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง รวมถึงไม่มีกลไกในการส่งตัวเด็กให้เข้ารับบริการในระดับจังหวัดที่เหมาะสมต่อไป

แม้งานด้านคุ้มครองเด็กถือเป็นงานที่ค่อนข้างซับซ้อนและต้องลงทุนในทรัพยากรทั้งด้านบุคลากรและเงินทุนในการดำเนินงาน แต่หน่วยงานท้องถิ่นกลับไม่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กเป็นลำดับต้น ๆ และมักจัดสรรทรัพยากรไปกับเรื่องอื่น ๆ ก่อน ทั้ง ๆ ที่งานวิจัยต่าง ๆ จะชี้ชัดว่า ความรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กตลอดชีวิต

ปัจจุบัน อัตราส่วนของนักสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยคือราว ๆ 4 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 207 คน หรืออังกฤษซึ่งมี 137 คนต่อประชากร 100,000 คน ในระดับท้องถิ่น คาดว่ามีการขาดแคลนนักสังคมสงเคราะห์ราว 7,000 คน

ซึ่งการขาดแคลนนักวิชาชีพเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองเด็กที่มีประสิทธิภาพ และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้เด็กต้องถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนจะเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสม หรือไม่ก็อาจตกหล่นในกระบวนการส่งต่อ

คำถามที่สำคัญ คือ เราต้องทำอย่างไรเพื่อให้แต่ละท้องถิ่นมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและครอบครัวที่เปราะบางหรือถูกกระทำรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ผ่านการเฝ้าระวัง การระบุตัวเด็ก หรือการส่งต่อเด็กไปรับบริการในระดับจังหวัด ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ความท้าทายเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ประสบอยู่

องค์กรยูนิเซฟได้แนะแนวทางแก้ปัญหาออกมาเป็น 2 ข้อ ที่อาจจะเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทำควบคู่กัน ดังนี้

1.จัดให้มีนักสังคมสงเคราะห์ประจำอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือมอบหมายบทบาทและความรับผิดชอบงานด้านคุ้มครองเด็กให้แก่เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะต้องได้รับการฝึกอบรมให้สามารถประสานงานกับเครือข่ายและอาสาสมัครเพื่อระบุตัวเด็ก ตลอดจนสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนสามารถส่งต่อเด็กไปยังบริการระดับจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

2.มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานในภาคประชาสังคม เช่นเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ ให้ทำหน้าที่นี้แทน โดยรัฐต้องให้ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้มี “อำนาจหน้าที่” ในการคุ้มครองเด็ก เพื่อเอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงตัวเด็กที่อยู่ในระดับท้องถิ่นได้

เหยื่อเสนอ ศธ. เรื่องการสอนเด็ก

วันที่ 25 สิงหาคม 2563 ข่าวสด รายงานว่า ข้างกาย เอรียาสกุล เจ้าของธุรกิจเช่าสินสอด ออกมาเปิดเผยเรื่องราวในอดีตผ่านเฟซบุ๊กเพจ “KhangGuy – ผู้หญิงที่ชื่อ ข้างกาย” ผ่านสื่อว่า เคยตกเป็นเหยื่อจากการถูกละเมิดตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และตลอดชีวิตที่ผ่านมา เคยถูกข่มขืนจากผู้ชายถึง 16 คน โดยคนใกล้ตัว

ก่อนหน้านี้ นางสาวข้างกายได้ยื่นหนังสือผ่าน นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและล่วงละเมิดทางเพศ

จี้ลงโทษขั้นสูงสุดในคดีข่มขืน โดยให้ฉีดยาผู้กระทำผิดให้หมดสมรรถภาพทางเพศ เพื่อยุติความต้องการทางเพศ และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเหยื่อ เนื่องจากเห็นว่าการปรับ จับ และขัง เป็นการลงโทษที่ไม่เพียงพอ

อีกทั้งเธอยังได้เดินหน้าสร้างเกราะป้องกันให้กับเด็กน้อยที่อาจถูกละเมิดโดยไม่รู้ตัว ด้วยการยื่นข้อเสนอ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น) เพราะไม่อยากให้เด็กคนไหนตกเป็นเหยื่อแบบเธออีกแล้ว รวมถึงผลักดันให้มีการปรับแนวทางการสอนเด็กเล็ก ตั้งแต่อนุบาลให้รู้จักภัยใกล้ตัวหากถูกล่วงละเมิดจะได้แจ้งผู้ปกครองได้ เพื่อให้อนาคตการถูกล่วงละเมิดในเด็กจะน้อยลง

ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยินดีติดตามปัญหานี้อย่างเข้มข้น พร้อมกล่าวว่า

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเหมือนแผลเป็นของชีวิต ไม่สมควรเกิดขึ้นในโรงเรียน หรือที่บ้าน ส่งผลให้การพัฒนาการเรียนการสอนของเด็กด้อยลง เพราะมีสิ่งที่เข้ามาทำร้ายจิตใจ อยากจะขจัดคนพวกนี้ออกไปจากสังคม อย่างน้อยในสังคมการศึกษา พร้อมยินดี และติดตามปัญหาอย่างเข้มข้น ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ อย่างในอดีต เราไปย้อนกลับมาไม่ได้ แต่ในอนาคตเราป้องกันได้”

นิทานสอนน้อง

วันที่ 6 ธันวาคม 2563 ข่าวสด รายงานว่า บนโลกโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ภาพบางส่วนของหนังสือนิทานเด็กเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “ปิงปิงไม่ยอม” โดยหนังสือนิทานเล่มดังกล่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนให้เด็กรู้จักป้องกันตัวจากการถูกล่วงละเมิด

หนังสือนิทานเล่มนี้ยังสอนให้เด็กรู้ว่าการล่วงละเมิดมีลักษณะเป็นอย่างไร และ หากตกเป็นเหยื่อ หรือหากเจอกับสถานการณ์ล่วงละเมิด ควรปฏิเสธ หรือ รับมืออย่างไร ทั้งยังมีเนื้อหาที่สอนให้เด็กช่วยกันสอดส่องว่ามีเพื่อนคนไหนเจอแบบปิงปิงหรือไม่ และ สอนให้เด็กเคารพสิทธิ์ในร่างกายของผู้อื่น โดยหนังสือนิทานเล่มนี้ มีทั้งเวอร์ชั่น เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ซึ่งมีเนื้อหาที่คล้ายกัน

นอกจากนี้ วันที่ 13 กันยายน 2563 มติชน เผยบทสัมภาษณ์ของ อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี นักแปลชื่อดังที่หันมาจับธุรกิจสำนักพิมพ์ และแตกยอดเป็น Mangmoom kids ได้กล่าวถึงหนังสือเรื่อง “ผีเสื้อของตั๋วตั่ว” ว่า

“เนื้อหาเป็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กโดยคนรู้จัก หนังสือเป็นหนังสือสัญชาติไต้หวัน แต่คุ้น ๆ ไหมว่า บ้านเราเป็นข่าวกันแทบทุกเดือน คนเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นนักสิทธิมนุษยชนเด็ก เขาบอกว่า เขาเล็งเห็นปัญหานี้ตั้งแต่สิบปีก่อนแล้ว สื่อที่สอนเด็ก ๆ เรื่องนี้มีนะ แต่มีในรูปแบบหนังสือวิชาการ สารคดี ไม่มีเลยที่เป็นนิทานภาพ

แต่นิทานภาพมันมีอิทธิพลในรูปแบบนิทานภาพ รอมาสิบปี ไม่มีก็คือไม่มี สุดท้ายเขาเลยเขียนเอง และที่อิมแพคกว่านั้นคือ นักวาดที่เขาเลือกใช้ ก็เป็นผู้มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศตอนเด็กเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้จึงทรงพลังมาก

ในไต้หวันมีการรวบรวมสถิติเอาไว้ว่า ทุก 37 นาทีจะมีการแจ้งความคดีคุกคามทางเพศหนึ่งครั้ง 62% ในนี้เหยื่อเป็นผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปี 90% ในนี้ผู้ก่อเหตุเป็นคนรู้จัก และการคุกคามทางเพศในเด็กโดยคนรู้จัก มันไม่ใช่การก่ออาชญากรรมแบบฉาบฉวย ทีเดียวจบ แต่มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตราบใดที่ยังไม่ถูกค้นพบและหยุดยั้ง คือฟังแค่นี้เราก็เจ็บปวดแล้ว

หนังสือเล่มนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่า ช่วยหยุดยั้งคดีที่ยังถูกกระทำอย่างต่อเนื่องได้ และที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้เราแพ็คคู่ไปกับคู่มือผู้ปกครอง ถ้าอ่านจนจบจะรู้ว่า แค่ติดอาวุธให้เด็กรู้ เด็กก็จะรอด”

พม.ห่วงเด็กถูกละเมิดช่วงโควิด

วันที่ 19 มกราคม 2564 มติชน รายงานว่า นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีการนำเสนอข่าวจำนวนมากเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนต้องเรียนหนังสือออนไลน์ และใช้ชีวิตที่บ้าน ซึ่งหลายครอบครัว พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่มีคนคอยดูแลบุตรหลาน

กระทรวง พม. ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการปกป้องและคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน ขอย้ำเตือนพ่อ แม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งเพื่อนบ้านและคนในชุมชน ช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่อง ดูแลพฤติกรรมบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการถูกกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ ยังขอให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เป็นหูเป็นตาสอดส่องและแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือทันท่วงที

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ประสบปัญหาบุตรหลาน ถูกกระทำความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศ หรือพบเห็นปัญหาดังกล่าว สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งปัจจุบันศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 ได้ขยายการให้บริการทั่วประเทศ โทรที่ไหนติดที่นั่น เพื่อการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น หรือติดต่อด้วยตนเองได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด