ศบค.เตือน คลัสเตอร์ตลาด ระบาดทั่ว ปท. มหาสารคามสั่งห้ามกินข้าวร่วมกัน

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เจอคลัสเตอร์ใหม่อื้อ หลายจังหวัด ระบุคลัสเตอร์ “ตลาด” พบมากสุด คาดระบาดกระจายไปทั่วประเทศแล้ว ขณะที่ กทม.เฉพาะตลาดพบผู้ป่วยมากสุดถึง 66 ราย ยังไม่รวมสถานพยาบาล สถานดูแลผู้สูงอายุ เผยมหาสารคามเป็นจังหวัดแรกออกประกาศสั่งงดกินข้าวร่วมกันทุกสถานที่ ทั้งที่ทำงานและสถานที่ราชการ กระตุ้น 10 จังหวัดฉีดวัคซีนน้อยสุดเร่งฉีด จับตาขาขึ้นยอดติดเชื้อใหม่ประเทศในเอเชีย

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยรายใหม่ 10,470 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 284,036 ราย หายป่วยแล้ว 223,890 ราย และเสียชีวิตสะสม 605 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,507,471 ราย หายป่วยแล้ว 2,392,384 ราย เสียชีวิตสะสม 22,303 ราย

จี้เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 กลุ่ม 607

ส่วนผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 11,063 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 15,217 ราย ส่วนเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้นมีจำนวน 190,258 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 117,094,785 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,506,813 ราย คิดเป็น 75.5% ของประชากร
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,938,007 ราย คิดเป็น 70.4% ของประชากร
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 15,649,965 ราย คิดเป็น 22.5% ของประชากร

“ผู้ที่มารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปยังน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ หรือฉีดไปได้ 2.4 ล้านคน คิดเป็น 19% เท่านั้น และจังหวัดที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในกลุ่ม 607 ได้น้อยรวม 10 จังหวัดได้แก่ บึงกาฬ นราธิวาส ปัตตานี หนองคาย สกลนคร สระแก้ว นครพนม กาฬสินธุ์ เลย และยะลา”

ซึ่งจากรายงานประจำวันผู้เสียชีวิตจะเห็นว่า ส่วนใหญ่เกือบ 100 % จะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นครอบครัวใดที่มีผู้สูงอายุอยู่ภายในบ้านก็ต้องขอความร่วมมือมาฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ไปแล้ว ขอให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุดด้วย

ทั้งนี้มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ และทีมงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ไม่ว่าจะได้รับเป็นวัคซีนยี่ห้อใดสามารถลดความรุนแรง ลดอาการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตได้ถึง 96% และป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอนได้ 68%

จับตาขาขึ้นยอดติดเชื้อใหม่ประเทศในเอเชีย

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 395,882,670 ราย อาการรุนแรง 90,593 ราย รักษาหายแล้ว 314,743,461 ราย เสียชีวิต 5,758,593 ราย

ขณะที่อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 78,017,402 ราย 2.อินเดียจำนวน 42,271,202 ราย 3.บราซิล จำนวน 26,536,597 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 20,758,371 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 17,803,325 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 จำนวน 2,507,471 ราย

“สถานการณ์ทั่วโลก ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังมีแนวโน้มลดลง แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดมีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งยอดของผู้ติดเชื้อน่าจะผ่านระดับสูงสุดลงมาแล้วทั้งในสหรัฐและยุโรป และกำลังเป็นขาขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อในทวีปเอเชีย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

โดยประเทศในทวีปเอเชียที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับสูง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยญี่ปุ่นยอดติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นไปถึงแสนกว่าราย ส่วนประเทศไทยยังมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“สถานการณ์บ้านเราวันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 10,470 ราย และขึ้นสู่ระดับหลักหมื่นรายวันนี้เป็นวันที่ 3 แล้วของการระบาดระลอกเดือนมกราคม 2565” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ส่วนผู้เสียชีวิต 12 รายในวันนี้ เป็นชาย 3 ราย หญิง 9 ราย เป็นคไนทย 11 ราย เป็นออสเตรีย 1 ราย และเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่ม 607 หรือเป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังทั้ง 100% โดยพบที่ ปทุมธานี สมุทรปราการ รวม 2 ราย นครราชสีมา 2 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ตรัง พัทลุง สงขลา 3 ราย ชลบุรี ลพบุรี อ่างทอง รวม 3 ราย แต่วันนี้ไม่มรายงานผู้เสียชีวิตในกรุงเทพมหานคร

จากการคาดการณ์สถานการณ์ในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นไปตามการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ และสามารถควบคุมได้ ถึงแม้ว่าจะมีการติดเชื้อในหลักหมื่นรายต้น ๆ ขณะที่อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างทรงตัว และระบบสาธารณสุขของไทยเราสามารถรองรับได้

โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานอายุ 20-49 ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% และติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิดถึง 47.3% และไปสถานที่เสี่ยงหรือคลัสเตอร์ต่างประมาณ 48.4% นอกจากนี้มีผู้ตรวจ ATK เป็นบวก และไปตรวจ PCR มีผลตรวจพบเชื้อ 3.6%

ส่วนอาการป่วยพบว่า จากข้อมูล 32,758 ราย มีอาการป่วย 54.86% และไม่มีอาการป่วย 45.14%

“การวิเคราะห์อันนี้เป็นการรรายงานทุกครั้งว่าการติดเชื้อยังพบกระจายเป็นคลัสเตอร์เล็ก ๆ กระจายไปทั่วประเทศ เช่น คลัสเตอร์จากงานเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานศพ งานบวช ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากในแต่ละคลัสเตอร์ แต่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายอย่างสูงสำหรับเชื้อโอมิครอน และสามารถกระจายไปยังครอบครัวโดยมีอัตราการติดเชื้อ 40-50% ขณะที่สายพันธุ์เดลต้าอยู่ที่ 10-20% ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนระบาดได้ง่าย”

กทม.เจออีกหลายคลัสเตอร์

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีการรรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร วันนี้มีรายงาน 1,391 ราย ซึ่งเมื่อเช้านี้ในที่ประชุมของ ศบค.ชุดเล็ก ทางตัวแทนของกรุงเทพมหานครได้ชี้แจงถึงการติดเชื้อในกรุงเทพมหานครยังมีอยู่เป็นระยะ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบในคลัสเตอร์สถานดูแลผู้สูงอายุ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 25 ราย โดยขอให้โรงพยาบาลที่อยู่ในกรุงเทพฯหากพบผู้ติดเชื้อให้รายงานอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนผู้ที่ค้างรายงานอยู่ประมาณ 200-300 คน

ส่วนอันดับ 2 รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 962 ราย ชลบุรี 962 ราย นนทบุรี 474 ราย ภูเก็ต 436 ราย นครปฐม 274 ราย ราชบุรี 265 ราย นครราชสีมา 263 ราย นครศรีธรรมราช 213 ราย และขอนแก่น 208 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อวันนี้มาจากคลัสเตอร์ต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่มก้อนแรกมาจาก “สถานพยาบาล” พบใน กทม. 39 ราย ขอนแก่น ปทุมธานีและชลบุรี 8 ราย สมุทรปราการ 7 ราย ลพบุรี 5 ราย สงขลา นนทบุรี ภูเก็ต จังหวัดละ 4 ราย สระบุรี มหาสารคาม ปัตตานี จังหวัดละ 3 ราย

ส่วนคลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษาที่พบมาเป็นระยะ พบที่สระแก้ว 44 ราย สุรินทร์ 26 ราย ยโสธร 25 ราย สุพรรณบุรี 20 ราย น่าน 19 ราย ราชุบรี 13 ราย มหาสารคาม 11 ราย ขอนแก่นและปราจีนบุรีจังหวัดละ 9 ราย อำนาจเจริญและมุกดาหารจังหวัดละ 5 ราย

สำหรับคลัสเตอร์โรงงานและสถานประกอบการ พบที่ชลบุรี 20 ราย ลพบุรี 12 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 10 ราย ปราจีนบุรี 7 ราย สมุทรปราการ สุรินทร์ บึงกาฬ จังหวัดละ 6 ราย อุดรธานี 5 ราย

ส่วนคลัสเตอร์งานประเพณี งานศพเจอเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ที่อุลราชธานี 6 ราย มหาสารคาม 5 ราย และสงขลา 4 ราย งานแต่งงานพบที่ร้อยเอ็ดและสงขลาจังหวัดละ 4 ราย และราชบุรี 2 ราย งานบวชพบที่ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย ขอนแก่น 2 ราย

คลัสเตอร์ตลาดพบมากสุด คาดระบาดทั่วประเทศ

“ที่รายงานการติดเชื้อที่พบมากที่สุดในวันนี้คือคลัสเตอร์ตลาด กรุงเทพฯพบมากที่สุด 66 ราย ชลบุรี 29 ราย อุบลราชธานี 23 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 22 ราย ขอนแก่น 13 ราย น่าน 11 ราย หนองบัวลำภู 9 ราย ราชบุรี 8 ราย นครราชสีมา 6 ราย ร้อยเอ็ด ลพบุรี สมุทรสาคร จังหวัดละ 5 ราย กาญจนบุรีและฉะเชิงเทราจังหวัดละ 4 ราย เพชรบุรี 3 ราย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการกระจายในอีกหลายจังหวัด หรือเกือบทั่วประเทศ แต่เป็นคลัสเตอร์เล็ก ๆ ติดเชื้อประมาณ 1-2 คน”

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า จากการลงไปสอบสวนโรคจากคลัสเตอร์ตลาด ปัจจัยการติดเชื้อมาจาก 1.สถานที่ มีอากาศปิดอับ แผนในตลาดไม่เป็นระเบียบ มีคนหนาแน่น ทั้งคนในตลาดเองและคนที่มาใช้บริการ จับจ่ายซื้อของ ปัจจัยที่สองมาจากการไม่เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล ไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือสวมไม่ถูกต้อง ไม่มีการคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาด

และยังพบว่าคนที่ทำงานในตลาดมีการไปทำงานหลายแห่ง เป็นแรงงานที่มีการเคลื่อนย้ายบ่อย ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ จึงมีโอกาเสี่ยงที่จะติดโรคและแพร่ระบาดไปยังผู้อื่น

มหาสารคามสั่งห้ามกินข้าวร่วมกันจังหวัดแรก

ส่วนคลัสเตอร์สุดท้ายเป็นคลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิงถือว่ามีการระบาดน้อยลงเมื่อเทียบกับคลัสเตอร์อื่นๆ วันนี้ที่มีรายงานเข้ามาพบที่ขอนแก่น 15 ราย ร้อยเอ็ด 13 ราย มหาสารคามและประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 9 ราย สุพรรณบุรีและชลบุรี 5 ราย นอกจากนี้มีพบที่อุดรธานี สงขลา ชุมพร แพร่ น่าน จังหวัดละ 2-3 ราย

“จังหวัดมหาสารคามมีรายงานการพบการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ได้มีการประกาศให้งดกินข้าวร่วมกันเป็นจังหวัดแรก รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งงานประชุม การจัดเสวนา พิธีกรรมทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ งานแต่ง หรืองานบุญต่าง ๆ รวมถึงไม่ให้กินข้าวร่วมกันในสถานที่ทำงาน สถานประกอบการ และสถานที่ราชการอีกด้วย โดยคำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า

กรณีของจังหวัดมหาสารคามเป็นอีกหนึ่งมาตราการที่แต่ละจังหวัดสามารถนำไปปรับใช้ได้ จากการที่มีการระบาดจากการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อลดการแพร่กระจายการติดเชื้อดควิด-19