คุยกับ “moreloop” พลิกไอเดียรักษ์โลกเป็นธุรกิจ

แม้กระแสรักษ์โลกจะเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น แต่โมเดลธุรกิจ และสตาร์ตอัพที่มีแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เน้นการนำวัตถุดิบหรือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า กลับยังมีไม่มากนัก

“moreloop” สตาร์ตอัพสัญชาติไทยเป็น 1 ในนั้น โดยสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาจากความต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าที่เหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่น

“อมรพล หุวะนันทน์ และธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์” 2 ผู้ก่อตั้ง moreloop เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแพลตฟอร์ม moreloop กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกิดจากความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีมีพลังที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ

รวมถึงความต้องการที่จะลดปัญหา “ขยะ” จึงเริ่มศึกษาโมเดลธุรกิจที่จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว และพบว่าขยะเกิดมาจากหลายแห่ง ทั้งขยะในชุมชนที่ผู้บริโภคทิ้ง (post-consumer)

และขยะที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม (preconsumer) จึงตัดสินใจสร้างธุรกิจจากขยะเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม

เปลี่ยน “ปัญหา” เป็นโอกาส

ด้วยว่า “ธมลวรรณ” หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “moreloop” เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และประสบปัญหา “ผ้า” เหลือจากการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจำนวนมาก เพราะการสั่งผ้าเข้ามาผลิตเสื้อผ้าแต่ละครั้งจะคำนวณเกินกว่าจำนวนที่จะผลิตจริง 3-5%

“แพลตฟอร์ม moreloop เปิดตัวปลายปี 2561 เริ่มจากการเป็นอีมาร์เก็ตเพลซ ขายผ้าสต๊อกที่เหลือจากอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า ก็เริ่มมีโรงงานหลายแห่งเริ่มนำผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมาขายบนแพลตฟอร์มของเรา

โดยในปี 2561 ระบายสต๊อกผ้าไปได้ 600 กิโลกรัม ปี 2562 เพิ่มเป็น 10,000 กิโลกรัม ปี 2563 10,000 กิโลกรัม ในครึ่งปีแรกปี 2564 ระบายไปได้แล้ว 10,000 กิโลกรัม

หรือคิดเป็น 40% จากเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะลดจำนวนคาร์บอนให้ได้ 1 ล้านกิโลคาร์บอน ภายในปี 2567 ก็ต้องถือว่าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

สำหรับโครงสร้างรายได้แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ 1.อีมาร์เก็ตเพลซ มีรายได้จากส่วนแบ่งการขาย 20% รวมค่าบริหารจัดการตั้งแต่ถ่ายรูป เก็บข้อมูล อัพโหลดขึ้นแพลตฟอร์ม

ปัจจุบันมีผู้ที่นำผ้ามาขายบนแพลตฟอร์มแล้ว 70 รายมีข้อมูลผ้าในระบบประมาณ 1 ล้านหลา 2.การผลิตสินค้าตามออร์เดอร์ลูกค้า ซึ่งจะให้คำแนะนำตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ และโรงงานผลิต เจาะกลุ่มองค์กรเป็นหลักมีรายได้คิดเป็น 70% ของรายได้รวม

และ 3.สร้างเฮาส์แบรนด์เสื้อยืด, หน้ากากอนามัย และชุด zerospace ใส่ไปทำกิจกรรมกลางแจ้งนอกบ้าน เป็นต้น

การสื่อสารโจทย์ท้าทาย

“อมรพล” บอกว่า การสื่อสารบอกเล่าแนวคิดในการสร้างธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกถึง “คุณค่า” จากการเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม moreloop

เพราะไอเดียนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ในตลาดประเทศไทยมาก และต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจด้วยว่า การสั่งสินค้ากับบริษัทอาจไม่ได้มีให้เลือกครบทุกสีตามจำนวนที่สั่ง เนื่องจากผ้ามีจำกัด เช่น บริษัท A สั่งผลิตเสื้อ 200 ตัว ก็อาจไม่ได้สีฟ้าโทนเดียวกันทั้งหมด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างการรับรู้ให้ลูกค้า

เช่นกันกับการหานักลงทุน เพราะการมีไอเดียที่แปลกใหม่ทั้งข้อดี และข้อเสีย โดยข้อดี คือเป็นธุรกิจที่แปลกใหม่ฉีกออกจากตลาด แต่ข้อเสีย คืออาจไม่เกิดเลยแต่แรก

“โมเดลของเราพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถทำจริงได้ สร้างรายได้ และเดินหน้าต่อได้”

เน็กซ์สเต็ป moreloop

“อมรพล” กล่าวด้วยว่า บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาระบบหลังบ้านให้ดีขึ้น หลังจากมีการเก็บข้อมูลลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีจึงใช้ระบบ และข้อมูลมาช่วยในทุกขั้นตอนทางธุรกิจ

ทำให้หารายได้เร็วขึ้นทั้งที่ใช้บุคลากรไม่มาก ปัจจุบันมีพนักงาน 4 คน และอยู่ระหว่างการสร้างระบบดาต้าเบส ซึ่งดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่งจากทุนที่มีเพื่อให้ข้อมูลที่มีเชื่อมต่อกันทั้งหมดก็จะสามารถลดกระบวนการทำงานลงได้ ซึ่งสิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือทำการตลาดมากขึ้น

“เราเริ่มต้นธุรกิจด้วยเงินลงทุนส่วนตัว 50,000 บาท และได้เงินจากโครงการ Banpu Champions for Change อีก 80,000 บาท เป็นตัวตั้งต้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนจากต่างประเทศทั้งอังกฤษ เนเธอร์แลนด์

และสิงคโปร์เข้ามาคุย และสนใจไอเดียเรา ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น และอยู่ระหว่างการสร้างโปรไฟล์ธุรกิจ เพื่อดึงความสนใจของนักลงทุน ทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ

ขณะที่โมเดลการหารายได้ของ moreloop มีความชัดเจน ประกอบกับกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก ถือเป็นมาตรฐานใหม่ โดยในยุโรปมีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้

หรือแม้แต่ประเทศไทยก็มียุทธศาสตร์ชาติในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (ปี 2564-2569) โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติม”

ปัจจุบัน moreloop มีกำไรสะสม และงบประมาณในการพัฒนาเทคโนโลยี และระบบหลังบ้านเพื่อรองรับการเติบโตอีก 3-5 เท่า แต่หากเงินลงทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนเข้ามาเสริมก็จะทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

“โควิด” บทพิสูจน์สตาร์ตอัพไทย

สำหรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 “ธมลวรรณ” บอกว่า แม้จะทำให้ผู้ประกอบการ สตาร์ตอัพหายไปจากตลาดจำนวนมาก แต่ก็ถือเป็นบทพิสูจน์ความแข็งแรงของโมเดลธุรกิจของสตาร์ตอัพไทยด้วยเช่นกัน

โดย “อมรพล” เสริมว่า ความสนใจของนักลงทุนเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้ว โดยช่วงที่วงการสตาร์ตอัพไทยบูมเริ่มขึ้นในปี 2558 มีนักลงทุนใส่เงินลงทุนเข้ามาในธุรกิจสตาร์ตอัพจำนวนไม่น้อย

แต่ผ่านไป 2-3 ปี หลังจากนั้นจำนวนสตาร์ตอัพเริ่มลดลง ทำให้เงินของนักลงทุนที่ลงไปหายไปด้วย ทำให้ตั้งแต่นั้นมานักลงทุนส่วนใหญ่จึงมีความระมัดระวังด้านการลงทุนมากขึ้น

โดยเลือกที่จะลงทุนในสตาร์ตอัพระดับซีรีส์ A หรือกลุ่มที่ประสบความสำเร็จแล้ว มากกว่าในกลุ่มสตาร์ตอัพที่มีไอเดียใหม่ ๆ ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดก็ยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น