ภัยไซเบอร์เพิ่มไม่หยุด “สกมช.” ปั้นหลักสูตรเพิ่มคนไอที

“สกมช.” ผนึก “พาโล อัลโต” เดินหน้าจับมือมหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ตั้งเป้าเพิ่มบุคลากรเพิ่มจาก 100 คน เป็น 1,000 คน ภายในปี 2565

น.อ.อมร ชมเชย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาภัยไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามผลักดัน

และแก้ปัญหาต่อเนื่องด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ รวมถึงออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ

หน่วยงานด้านสาธารณสุขเป็นเซ็กเตอร์ที่มีความอ่อนไหวจากการมีข้อมูลการรักษาจำนวนมาก

จึงกลายเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีทางไซเบอร์ ขณะที่มีการลงทุนด้านการรักษามากกว่าด้านไอที โดยจากสถิติพบว่าคนไอทีด้านสาธารณสุข 1 คน ต้องดูแลคอมพิวเตอร์ถึง 200 เครื่อง

อีกกลุ่มที่เป็นเป้าหมายการโจมตี คือบริษัทหรือหน่วยงานที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจำนวนมาก เช่นอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น ซึ่ง สกมช.ไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปดูแลโดยตรง แต่ก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อยู่

“หลายหน่วยงานยังไม่มีความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ประกอบกับประเทศไทยขาดแคลนบุุคลากรด้านนี้ โดยแต่ละปีผลิตได้ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนถือว่าน้อยกว่า

ซึ่ง สกมช.ก็พยายามแก้ไขปัญหา เช่น มีการจัดอบรมพนักงาน และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านไอทีเพิ่มขึ้น เป็นต้น”

ล่าสุดร่วมกับบริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค จัดโครงการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก และจัดการแข่งขัน Capture the Flag (CTF) เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มความรู้ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์

รวมถึงบ่มเพาะทาเลนต์ด้านระบบความปลอดภัยไซเบอร์ให้ประเทศ มีทีมที่เข้ารอบสุดท้าย 10 ทีม แข่งขันกันผ่านระบบออนไลน์ จากผู้สมัครทั้งสิ้น 87 ทีมจาก 34 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

“ผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องมีความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น การระบุปัญหาด้านความปลอดภัย และการกำหนดค่าที่ไม่ถูกต้องในสภาพแวดล้อมบนคลาวด์สาธารณะผ่านการทดสอบในหลายแง่มุมด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเข้ารหัสข้อมูล และวิศวกรรมย้อนกลับ เป็นต้น”

ด้าน ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการ พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และอินโดจีน กล่าวว่า ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับกระบวนการทำงานสู่ดิจิทัลสิ่งที่เกิดขึ้นคือภัยไซเบอร์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นภาคธุรกิจ และรัฐบาลจึงต้องเร่งปรับกระบวนการ โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะบุคลากรด้านไอที เพื่อรองรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งที่ผ่านมา

บริษัทได้จัดโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Academy Program) พร้อมกันทั่วโลก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์

โดยในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 15 แห่ง ผลิตบุคลากรได้เฉลี่ย 50-60 คน/ปี/แห่ง และคาดว่าจะขยายให้ครบ 30 แห่ง ในปี 2565

สำหรับ Cybersecurity Academy Program ประกอบด้วยหลักสูตรทางวิชาการ และหลักสูตรทางเทคนิคด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ

หลังจบหลักสูตรผู้เข้าอบรมจะได้ประกาศนักเทคนิคระดับเริ่มต้นด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (Palo Alto Networks Certified Cybersecurity Entry-Level Technician (PCCET))


หรือใบประกาศผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่าย (Palo Alto Networks Certified Network Security Administrator (PCNSA)) โดยตั้งเป้าว่าผลิตบุคลากรเฉลี่ย 1,000 คนต่อปี เพิ่มจากที่ไทยผลิตได้เพียง 100 คนต่อปี ขณะที่ความต้องการบุคลากรด้านนี้ในอีก 3 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 100,000 คนต่อปี