หนุนปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” จุดชนวน “ควันพิษ” ข้ามแดนภาคเหนือ-เมียนมา

ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ปัญหาหมอกควันพิษได้ปกคลุมทั่วภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี และในปีนี้หมอกควันมาเร็วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และกินเวลายาวนาน นับเป็นปีที่ถือว่าวิกฤตสูงสุด มีปฏิกิริยาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างรุนแรงอย่างมีนัย

ตัวชี้วัดที่ชัดเจนและไม่สามารถซ่อนเร้นได้ คือ จุด hotspot ในแผนที่ดาวเทียม ที่มีการกระจุกตัวอยู่ที่รัฐฉานของเมียนมา รวมถึงภาคเหนือตอนบน และลาวตอนเหนืออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศที่นิ่ง และกดทับไม่ให้อากาศหมุนเวียนทำให้หมอกควันมลพิษ PM 2.5 ได้ปกคลุมทึบท้องฟ้าภาคเหนือตอนบนของไทย 9 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ต่อเนื่องเกือบ 1 เดือน

พืชเชิงเดี่ยวต้นตอ “ควันพิษ”

หากวิเคราะห์ต้นเหตุของหมอกควันแล้ว มีการประมวลสาเหตุมาอย่างต่อเนื่อง คือ การส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการขยายการลงทุนไปทำเกษตรพันธสัญญาในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะรัฐฉานของเมียนมา ส่งผลให้ปัญหาหมอกควันเพิ่มสูงขึ้นแปรผันตามราคาของข้าวโพด

ส่วนภายในประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัทเอกชน ประกาศจุดรับซื้อในพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด และมีสหกรณ์จำนวน 274 สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงเกษตรกรที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว โดยตัวเลขเกษตรกรที่แสดงความจำนงร่วมโครงการ 114,775 ราย พื้นที่ 1,000,111 ไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อำนวยความสะดวกให้สินเชื่อเกษตรกรที่จุดรับสมัครด้วย

โดยรายชื่อบริษัทภายใต้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ แจ้งรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท บีอาร์เอฟ ฟีด (ไทยแลนด์) จำกัด 2.บริษัท ลีพัฒนาอาหารสัตว์ จำกัด 3.บริษัท เบทาโกร จำกัด และ 4.บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

ส่วนบริษัทภายใต้สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยที่สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ราคาพิเศษ ผ่านร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่รับบัตรเกษตรสุขใจ (A-Shop) มี 4 บริษัทหลัก ได้แก่ 1.บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด 2.บริษัท ชินเจนทา ซีดส์ จำกัด 3.บริษัท เมล็ดพันธุ์ เอเชีย จำกัด และ 4.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เป็นต้น โดยทุกบริษัทสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้ทุกจังหวัด เกษตรกรสามารถเลือกใช้ได้ตามความชอบ

ส่วนราคาข้าวโพดในปีนี้จูงใจในการปลูก โดยกระทรวงเกษตรฯระบุว่า ในปีการผลิต 2561/2562 จะมีการซื้อข้าวโพดในราคา 8 บาท/กก. คาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 8,365 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,810 บาทต่อไร่ จึงจะได้กำไรถึง 4,555 บาทต่อไร่ และราคาที่หน้าโรงงานอาหารสัตว์สูงถึง 10-10.25 บาท

บ.ข้ามชาติรุกปลูกข้าวโพดรัฐฉาน

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตรว่า ไตรมาส 1 ปี 2562 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.74 ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ประกอบกับภาครัฐมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2561/2562 ในโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2561/2562 ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉลี่ยไตรมาส 1 ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.66 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2561

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ได้มีการลงนาม MOU ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. กับกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ของไทย และบรรษัทข้ามชาติ เช่น ซีพี มอนซานโต้ ซินเจนทา แปซิฟิคซีดส์ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนพื้นที่นา 2 ล้านไร่ ให้เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีการคำนวณว่าบริษัทเมล็ดพันธุ์จะได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด 6-7 ล้านกิโลกรัม/ปี

ในเมื่อพื้นที่ในเขตภาคเหนือถูกปูพรมด้วยการปลูกข้าวโพดเต็มพิกัด การขยายตัวของระบบเกษตรพันธสัญญาจึงถูกรุกคืบไปยังพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เพื่อส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าส่วนใหญ่เข้าไปเปิดหน้าดินปลูกข้าวโพดในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เพื่อส่งไปเป็นอาหารสัตว์ในประเทศจีน

ราคาดีแห่ปลูกผลผลิตพุ่ง 6%

มีรายงานข่าวจากประเทศพม่าคาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวโพดอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 6% เนื่องจากมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่อาศัยน้ำฝนธรรมชาติ และประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการข้าวโพดเพิ่มมากขึ้น โดยเมียนมามีผลผลิตข้าวโพดประมาณ 850,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังจีน โดยผลผลิตร้อยละ 30-35 ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และร้อยละ 5-6 ใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ข้าวโพดสำหรับการแปรรูปและแอลกอฮอล์ และคาดว่าจะเพิ่มถึง 1 ล้านตันในอนาคต เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเริ่มหันมาใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์แทนข้าวหักเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เกิดวงจรพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพดภาคเหนือ และในประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ได้มีการให้ความรู้ การจัดการปลูก การจัดการภายหลังการเก็บเกี่ยว ปัญหาที่ตามมา คือ “มวลอากาศพิษ” ก้อนใหญ่ที่สุดที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือในวันนี้ กับตัวเลขที่เสียหายทางเศรษฐกิจปีละกว่า 2 แสนล้านบาท และสุขภาพของประชาชน

หน่วยงานรัฐ รวมทั้งบริษัทเอกชน ในฐานะผู้ส่งเสริมสนับสนุนจึงหนีไม่พ้น การแก้โจทย์ข้อใหญ่ วิกฤตหมอกควันพิษ มหันตภัยมืดที่ลุกลามบานปลาย เพราะเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของคนใน 9 จังหวัดภาคเหนือกับผลดีที่ได้…ไม่น่าจะคุ้มค่า