โรคใบร่วงยางระบาดหนัก 3 จังหวัดใต้เสียหาย 5 แสนไร่

ระบุ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “โรคใบร่วง” ระบาดเสียหายแล้ว 500,000 ไร่ ลุกลามไปสุราษฎร์ธานี ตรัง พังงา และสงขลา

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรคใบร่วงยางพาราได้เกิดระบาดขยายเติบโตไปหลายจังหวัด โดยเฉพาะขณะนี้ สวนยางพาราในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ได้รับผลกระทบแล้วประมาณ 500,000 ไร่ ที่ได้รับความเสียหาย จะต้องปิดกรีด เพราะหากกรีด จะได้น้ำยางที่ปริมาณน้อยมากเพียง 10% นอกจากนี้โรคใบร่วงยางพารายังแพร่ระบาดไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา ตรัง และสงขลา ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ทางด้าน สมพงศ์ ราชสุวรรณ เจ้าของสวนยางและประธานกลุ่มน้ำยางบ้านพรุเตียว อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า ในกลุ่มสมาชิกยังไม่ปรากฏโรคใบร่วงระบาด เพราะเป็นพื้นที่แห้งและฝนยังไม่ตก ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานจากสมาชิกเครือข่าย แต่นอกเครือข่ายได้รับรายงานว่าได้เกิดขึ้นแล้ว

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยยางจังหวัดสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ระบุว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. โดยได้เกิดโรคใบร่วงชนิดใหม่พบระบาด ทำให้ใบยางร่วงรุนแรงเป็นพื้นที่กว้างขวางครั้งแรกในเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2560 และจากนั้นจนถึงปี 2562 เพียง 3 ปี โรคได้แพร่ลุกลามอย่างรวดเร็วเข้าสู่ประเทศผู้ปลูกยางใกล้เคียงแล้วทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และไทย โดยประเทศอินโดนีเซียมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 382,000 เฮกตาร์

ในส่วนของประเทศไทย โรคใบร่วงระบาดรุนแรงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จนถึงเดือนตุลาคมได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า 280,000 ไร่ นอกจากนี้มีการระบาดของโรคในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในเดือนตุลาคมพบระบาดในพื้นที่อำเภอย่านตาขาว และอำเภอเมือง จังหวัดตรัง รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้วไม่น้อยกว่า 320,000 ไร่


สาเหตุของโรคใบร่วงเกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรืออาจมีเชื้ออื่นร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งต้องพิสูจน์โรคต่อไป ทั้งนี้สภาพการแพร่ระบาดยังไม่ชัดเจน แต่มักระบาดในช่วงที่มีความชื้นสูงในระยะใบแก่ แพร่ระบาดโดยลมและน้ำฝน ทั้งนี้ ผลกระทบทำให้ใบแก่ร่วงรุนแรงในยางพาราทุกพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางใหญ่ โรคทำให้ทรงพุ่มใบเหลือง และใบร่วงอย่างรุนแรง ถึงร่วงหมดทั้งต้นเป็นพื้นที่กว้างขวาง ผลผลิตลดลงมากกว่า 50% เมื่อใบยางร่วง ต้นยางจะผลิใบใหม่ เมื่อใบยางแก่เต็มที่ หากมีสภาพอากาศที่เหมาะสม เชื้อราสามารถเข้าทำลายซ้ำทำให้ใบยางร่วงได้อีก ในรอบปีอาจทำให้ใบยางแก่ร่วงซ้ำถึง 3 รอบ จึงมีผลต่อผลผลิตอย่างรุนแรง และอาจทำให้กิ่งเล็ก ๆ ตายแห้งได้