ประมูล ATK คุณภาพ WHO ร้อน ออสท์แลนด์-เวิลด์เมดิคอล ส่ง จม.แจงนายกฯ

Antigen test kit
DAVID GANNON / AFP

ออสท์แลนด์ ร่วม เวิลด์เมดิคอล ส่งจดหมายเปิดผนึกชี้แจงนายกรัฐมนตรี หลังสั่งการเบรกคำสั่งซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด จาก Lepu พร้อมระบุต้องผ่านมาตรฐาน WHO ชี้การประมูลไม่ได้ระบุแต่แรกต้องผ่าน WHO ยันปัจจุบันชุดตรวจโฮมยูสยังไม่มีบริษัทใดได้การรับรอง WHO

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้แทนจำหน่าย ATK ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยบริษัท ออสท์แลนด์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลงานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test”

ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้ร่วมกันส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี กรณีข้อกำหนดการจัดซื้อ TOR AJ23-845/2564 ชุดตรวจการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Home use) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่สั่งการว่า ต้องได้รับรองจาก WHO เท่านั้น โดยระบุว่า

ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยตอนหนึ่งในข้อที่ 6 กล่าวว่า การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงทีและพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด

โดยจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว โดยเฉพาะการระบุคุณสมบัติของชุดตรวจ ATK ที่จะต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก อาจจะทำให้การเตรียมจะเซ็นสัญญาระหว่างองค์การเภสัชกรรมและบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้ชนะการประมูล ไม่สามารถเดินต่อไปได้

เนื่องจากชุดตรวจ ATK ของ Lepu ไม่ได้รับการรับรองจาก WHO ซึ่งในข้อกำหนดการจัดซื้อ (TOR) ดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุถึง ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และ ณ ปัจจุบัน ได้มีเอกสารยืนยันว่า WHO ก็ยังไม่มีการอนุมัติชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Home use) ให้แก่บริษัทใด