องค์การเภสัชฯยันลงนามซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด 30 ส.ค.นี้ ย้ำไม่ลดสเป็ก

องค์การเภสัชกรรม เตรียมลงนามสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด 30 ส.ค.นี้ ชี้ไม่ลดสเป็ก จัดซื้อตาม สปสช.กำหนดชัดเจนในรูปแบบ Self Test/Home use ตามมาตรฐาน อย. ย้ำ สปสช.ไม่ได้ระบุแต่แรกต้องผ่านมาตรฐาน WHO

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า การจัดซื้อ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และโรงพยาบาลราชวิถี องค์การไม่ได้เป็นผู้ปรับลดข้อกำหนด หรือ Spec แต่อย่างใด

ทั้งนี้ การจัดซื้อดังกล่าวใช้ข้อกำหนดที่ สปสช.เป็นผู้กำหนดมาตั้งแต่แรก ว่ามีความต้องการชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Covid-19 Antigen test Self-Test kits ) หรือ Home use ไม่ใช่ Professional Use

อีกทั้ง สปสช.ส่งข้อกำหนดล่าสุดในการจัดซื้อ โดยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพียงอย่างเดียว ไม่ได้กำหนดว่าต้องผ่านมาตรฐาน WHO แต่อย่างใด

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการนั้น วานนี้ (26 ส.ค.) คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษของ สปสช.ได้เห็นชอบราคาชุดตรวจ ATK ที่องค์การเสนอ พร้อมได้ให้โรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดซื้อจากองค์การต่อไป

โดยในวันนี้ (27 ส.ค.) องค์การกับบริษัทได้เข้าร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อจัดเตรียมแผนการส่งมอบ การตรวจสอบคุณภาพ ATK และเตรียมการลงนามในสัญญา ซึ่งกำหนดการลงนามในวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 นี้

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการตรวจสอบและติดตามคุณภาพสินค้าที่ส่งมอบนั้น องค์การมีนโยบายคุณภาพชัดเจนที่จะไม่ยอมให้ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพไปสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค

สำหรับ ATK นี้ องค์การมีกระบวนการตรวจสอบและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน โดยจะมีการตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจรับก่อนส่งให้หน่วยบริการ จนถึงตรวจติดตามเฝ้าระวังคุณภาพของ ATK ภายหลังการส่งมอบด้วย

ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของชุดตรวจ ATK แก่สังคม ในมุมมองต่าง ๆ ทั้งเรื่องของมาตรฐานคุณภาพ วิธีการใช้งาน ตลอดจนราคาของ ATK และที่สำคัญคือการที่มีการแข่งขันในการเสนอราคา ทำให้ราคาของ ATK ในประเทศที่ยังสูงอยู่มากนั้น มีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงการตรวจด้วย ATK ได้มากขึ้น ค้นหาผู้ติดเชื้อในวงกว้าง เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงหากมีการใช้กันอย่างแพร่หลายจากการที่หาซื้อได้ง่าย จะทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถผ่อนคลายมาตรการได้รวดเร็วขึ้น

นางศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหารรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด ตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจ ATK ของบริษัท ออสท์แลนด์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทต้องการให้คนไทยได้เข้าถึงชุดตรวจ ATK แบบสวอบจมูกมาจำหน่ายในราคาที่ถูกลง

โดยชุดตรวจจากบริษัท Lepu นี้เป็นที่นิยมใช้เป็นตัวหลักในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และอีกหลาย ๆ ประเทศในยุโรป เมื่อบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ได้รับการอนุมัติจาก อย. จึงสนใจและเป็นฝ่ายเข้าไปติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย สำหรับกระจายให้กับหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มงานราชการ ซึ่ง ATK จะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมทำให้ประเทศไทยกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น และในภาคเศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อ