เดดล็อกสูตรเลือกตั้งหาร 500 ดักทาง “ประยุทธ์และพวก“ คุมเกมเลือกตั้ง

ประยุทธ์ สภา
รายงานพิเศษ

วิถีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ…. หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. อันเป็นที่มาของความวุ่นวายว่าจะใช้สูตรคำนวณหาร 100 หรือหาร 500 ยังคงฝุ่นตลบ

สูตรหาร 500 ที่เหมือนจะตายกลางสภาไปตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม หลังองค์ประชุมล่ม ส่อแววพิจารณาไม่ทันตามเดดไลน์ 180 วัน

แต่แล้วสูตรหาร 500 ก็ถูกชุบชีวิต เพราะ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำตามคำขอพรรคเล็ก เพิ่มวันที่ 15 สิงหาคมเป็นวันประชุม พ.ร.ป.เลือกตั้งกันในยกสุดท้าย

จุดเริ่มต้นความผิดพลาด

ความผิดพลาดทั้งหมดเกิดขึ้นตั้งแต่การ “กลัดกระดุม” เม็ดแรก เมื่อรัฐสภา “ตั้งลูก” แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่มีบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต อีกใบหนึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมกับปรับจำนวน ส.ส. จาก ส.ส.เขต 350 คน เป็น 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 150 คน เป็น 100 คน ซึ่งก็ดูว่าไม่น่ามีอะไร

แต่ตัวแปรเกิดขึ้นตรงที่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่เสนอกันมา 12 ร่าง ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่าจะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดมาพิจารณา ปรากฏว่า ที่ประชุมรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.มีมติคว่ำร่างแก้ไขถึง 11 ร่าง

ไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย 2 พรรคใหญ่ ที่เขียนรายละเอียด – วิธีปฏิบัติอย่างชัดเจนในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ทว่า ที่ประชุมรัฐสภา กลับเห็นชอบเพียง 1 ร่าง คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีเพียง 3 มาตรา ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง รวมแล้วไม่กี่ย่อหน้า ไม่มีขั้นตอน – วิธีปฏิบัติ สาระสำคัญอยู่ที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 91 แต่ไม่ได้มีการแก้ไข สัญลักษณ์ทางการเมืองของระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว คือคำว่า “พึงมี” ในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และ 94

ครั้น กรรมาธิการที่พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พยายามจะตัดคำว่า “พึงมี” ออก ก็เกรงว่าจะถูกฟ้องเรื่อง “แก้ไขเกินหลักการ” กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่จึง “ถอย” โดยคิดว่า คำว่า “พึงมี” สัญลักษณ์บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ประหนึ่งเป็น “ไส้ติ่ง” เมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีผลบังคับใช้ จึงต้องมีการร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เพื่อวางกติกาเลือกตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ที่ยืนยันสูตรคำนวณหาร 100 (สัมพันธ์ทางตรงกับ จำนวน ส.ส.บัญขีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาโดยตลอด ต้องกลับกลายเป็นหาร 500

สัญญาณประยุทธ์ ถึงสภา

เมื่อกระแสแลนด์สไลด์พรรคเพื่อไทย ดังขึ้นเรื่อย ๆ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลอาจเกรงว่า สูตรหาร 100 เข้าทางพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน ก็มีแรงกดดันจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก ฐานเสียงรัฐบาล ที่ต้องการสูตรหาร 500 มากกว่า พร้อมกับขู่ว่าถ้าผู้มีอำนาจไม่ยอมทำตามสูตรหาร 500 จะไม่ยกมือสนับสนุนรัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทั้งสองแรงกดดันดังกล่าวก็ส่งผลถึงการตัดสินใจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เมื่อเรียกแกนนำ – หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาถามทีละคนว่าจะเอาสูตรหาร 100 หรือหาร 500 สุดท้ายหวยก็ลงตัวที่สูตรหาร 500 ตามคำบัญชาจากทำเนียบรัฐบาล ข้ามไปยังรัฐสภา

ในการประชุมรัฐสภา 6 กรกฎาคม ที่ประชุมก็ลงมติในวาระที่ 2 ด้วยเสียง 392 ต่อ 160 งดออกเสียง 23 ไม่ลงคะแนน 2 และมีมติเห็นชอบกับสูตรหารด้วย 500 ตามข้อเสนอของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และ กมธ.เสียงข้างน้อย ด้วยเสียง 354 ต่อ 162 งดออกเสียง 37 ไม่ลงคะแนน 4

เวลาผ่านไป 2 สัปดาห์ นักการเมืองที่ร่วมเห็นชอบสูตรคำนวณแบบหาร 500 อาจเริ่มคิดได้ว่า นอกจากพรรคเพื่อไทยแก้เกมหาร 500 ด้วยการขู่ว่าจะแตกพรรค เพื่อเก็บ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือให้ยก ส.ส.บัญชีรายชื่อให้พันธมิตรฝ่ายค้านในปัจจุบันได้แล้ว พรรครัฐบาลบางพรรคยังเสี่ยงที่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย

เมื่อนายกฯ เปลี่ยนใจ

ความโกลาหลก็เกิดขึ้นอีก อังคารที่ 2 สิงหาคม ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกเช่นเคย มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยมือจากการคุมเกมกฎหมายลูกแล้ว ไม่กี่อึดใจ เกมคว่ำสูตรหาร 500 ก็ถูกชุมนุมสุมหัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับการหาหนทางที่จะนำสูตรหาร 100 กลับคืนมาอีกครั้ง โดยมีแกนนำพรรคฝ่ายค้าน “เพื่อไทย” ร่วมผสมโรง

พรรคเพื่อไทย – พลังประชารัฐ 2 พรรค ต่างขั้ว แต่ต้องการได้สูตรหาร 100 เหมือนกัน จึงแท็กทีมให้สูตรหาร 500 แท้งคาสภา โดยใช้กลเกมยื้อให้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.พิจารณาไม่ทันตามกำหนด 180 วัน ซึ่งบังคับอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) โดยมีเส้นตายอยู่ในวันที่ 15 สิงหาคม รัฐสภาจึง “ล่มแล้ว – ล่มอีก” อีกทั้งวันประชุมของรัฐสภา ก็ถูกขีดเส้น “วันสุดท้าย” คือ วันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งองค์ประชุมก็ล่ม

พรรคเล็ก ที่สนับสนุนหาร 500 จึงต้องเปิดปฏิบัติการ ยื่นหนังสือให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา นัดประชุมรัฐสภาเพิ่มอีกวัน แล้วความพยายามของพรรคเล็กก็เป็นผล

ชวน นัดประชุมรัฐสภาครั้งสุดท้าย 15 สิงหาคม ซึ่งเป็น “เส้นตาย” 180 วัน deadlock ที่รัฐสภาจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ให้เสร็จ

3 ทาง ชี้ชะตาสูตรหาร 500

เมื่อเกมเดินทางมาถึงบทสรุปในวันที่ 15 สิงหาคม ทุกฝ่ายต่างมั่นใจว่าจะได้สูตรเลือกตั้งที่ตัวเองต้องการ

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ หัวขบวนสูตรหาร 500 กล่าวว่า พรรคเล็กยังมีอีกหนึ่งเฮือกที่ต้องโหวตกัน เมื่อเปิดประชุมวันที่ 15 สิงหาคม ต้องเริ่มพิจารณาในมาตรา 24/1 เมื่อเปิดมาก็จะมีการเช็กองค์ประชุม และลงมติทันที

“ถ้าครบองค์ประชุมก็โหวต ถ้าไม่ครบองค์ประชุมก็กลับบ้าน ชีวิตนี้ถ้ายังไม่สิ้นลมหายใจก็ยังมีหวังอยู่”

“ถ้าองค์ประชุมล่มอีก ฝ่ายที่ทำให้องค์ประชุมล่มก็ต้องรับกรรมฝ่ายเดียว ส่วนพวกผมไม่มีปัญหา ขอให้มีการประชุม สภาเดินได้ ต่อให้มีการโหวตคว่ำกฎหมายในวาระที่ 3 ก็คว่ำไป จะโหวตให้ผ่านก็ผ่าน ไม่มีปัญหา”

สุดท้ายโอกาสถูกดองให้กฎหมายลูกครบ 180 วัน แล้วตกไป กับโอกาสจะถูกรัฐสภาโหวตคว่ำในวาระ 3 อย่างไหนมีมากกว่ากัน “นพ.ระวี” กล่าวว่า ทำนายได้เลยว่าเป้าหมายเขาคือคว่ำวาระ 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มันตัดสินอนาคตของพรรคการเมือง

“มันเหมือนต่อยมวย บางฝ่ายเกือบถูกน็อกแล้ว แต่พอได้จังหวะสวนกลับได้ สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร”

หมอระวี ทำนายว่า สมมุติผ่านวาระ 2 จนจบทุกมาตรา เพื่อไทยขู่เต็มที่แล้วที่ประชุมครบองค์ตลอด ถ้าวาระ 3 โหวตผ่าน เส้นทางนี้สูตรหาร 500 ก็ไปฉลุย แต่ถ้าจะตกก็ต้องถูกคว่ำในวาระ 3 ถ้าคว่ำวาระ 3 ผลก็คือกฎหมายตกหมดทั้งสูตรหาร 500 สูตรหาร 100 รัฐสภาต้องไปร่างกฎหมายลูกกันใหม่ และต้องเลือกระหว่างหาร 100 กับ 500 ดังนั้น อาจจะต้องถอยกลับไปแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่

ส่วนถ้าองค์ประชุมไม่ครบ และพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ทัน 180 วัน ก็ต้องใช้ร่างของรัฐบาลที่พิจารณารับหลักการเป็นร่างหลัก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 (1) สภาใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน ส่งไปยัง กกต. จากนั้น กกต.ก็ต้องส่งความเห็นกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นรัฐสภามีเวลา 30 วันก่อนให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ

“เมื่อส่งให้นายกฯ แล้ว ต้องทิ้งไว้ 5 วัน พวกผมก็จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าสูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่ขัดรัฐธรรมนูญนายกฯ ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้ากฎหมายเลือกตั้งมีปัญหาก็ส่งกลับสภา ไม่ว่า 100 หรือ 500 ก็มีปัญหา จะต้องย้อนกลับไปแก้รัฐธรรมนูญกันใหม่ แต่มั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องได้ใช้สูตรหาร 500”

เพื่อไทย ไม่ร่วมสังฆกรรม

“สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง และรองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงท่าทีพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการสูตรหาร 100 ในวันที่ 15 สิงหาคม ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ต้องไปตั้งหลักอะไร เพราะพรรคเพื่อไทย บอกตลอดว่าถ้าเป็นสูตรหาร 500 พรรคเพื่อไทยไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย ดังนั้น เพื่อไทยอาจจะไม่เข้าประชุมเลย โดยมาลงชื่อแต่ไม่เป็นองค์ประชุมให้

“อยู่ที่ฝ่ายเสียงข้างมากจะว่าอย่างไร ถ้าให้ผ่านก็เรื่องของเขา ถ้าจะให้กฎหมายตกก็ว่ามา อย่างไรก็ตาม ถ้าผ่านวาระ 2 ไปได้ โอกาสถูกคว่ำในวาระ 3 ก็มี เพราะสุดท้ายกฎหมายตกไป อำนาจในการออก พ.ร.ก.มาใช้ในการเลือกตั้งก็อยู่ที่นายกฯ แต่ถ้าตกตอนนี้ ปล่อยให้ครบ 180 วัน เอาร่างกฎหมายฉบับหาร 100 กลับมาดีกว่าเยอะ”

“แต่ถ้าสูตรหาร 500 ผ่านวาระที่ 3 พรรคเพื่อไทยก็จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา รวมถึงยื่น ป.ป.ช.เอาผิดคนผ่านกฎหมายด้วย” นายสมคิดกล่าว

รอบิ๊กตู่-บิ๊กป้อมนอนฝัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย และเป็นอดีต กกต. วิเคราะห์เกมในวันที่ 15 สิงหาคม ว่า 2 วันนับจากนี้ ขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะนอนหลับฝันแล้วเปลี่ยนใจอะไรอีกหรือเปล่า

“เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทิศทางของการลงมติในสภานั้นจะบอกว่าเป็นอิสระก็คงไม่ใช่ ดูเหมือนว่าจะฟังเสียงของผู้มีอำนาจนอกสภาทั้งสิ้น ดังนั้น แล้วแต่เขาว่าตื่นมาแต่ละวันนั้นจะเปลี่ยนวิธีคิดไปใหม่ไหม วันก่อนหาร 100 เข้าทางพรรคเพื่อไทย เอ๊ะเราเสียประโยชน์ ขอเปลี่ยนกลับอีกที”

“ที่ผ่านมายังไม่มีการเปลี่ยนจุดยืน เพราะยังไม่ได้ลงมติสักมาตราเดียว ก็ยังไม่เห็นจุดยืนที่ชัดของเสียงส่วนใหญ่ในสภาว่าจะไปทางไหน ขณะนี้รอ 2 คนนั้นเขาฝัน”

สมชัย ประเมิน 4 ทางว่า 1.สภาล่ม เป็นปัญหาภาพลักษณ์ของสภาใครทำสภาล่ม 2.อภิปรายถึงเที่ยงคืนของวันที่ 15 สิงหาคม โดยไม่สามารถพิจารณาได้เสร็จ อันนี้ดีกว่าสภาล่ม 2 ทางนี้ สูตรหาร 100 จะกลับมา โดยใช้ร่างกฎหมายของรัฐบาลมาเป็นร่างหลักส่งให้ กกต. 3.ล้ม – คว่ำในวาระ 3 เท่ากับว่าไม่มีกฎหมาย ต้องไปดำเนินการกันใหม่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้น 4.สูตรหาร 500 ผ่านวาระ 3 ก็ต้องส่งให้ กกต. ซึ่งคาดว่า กกต.จะไม่ขัด

สมชัย ฟันธงว่า ไม่ว่าเอาสูตรหาร 100 หรือสูตรหาร 500 ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ถึงตอนนั้นหวยออกได้ทั้งสิ้น