ครม.เห็นชอบร่างมาตรฐานส่งออกทุเรียน สร้างเม็ดเงินใหม่ 1 ล้านล้าน

ทุเรียน

ครม.เห็นชอบร่างมาตรฐานส่งออกทุเรียน ขีดเส้นต้องเป็นทุเรียนแก่ ใช้เกณฑ์น้ำหนักแห้งเป็นตัวกำหนด หวังได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มอีก 50% สร้างเม็ดเงินใหม่ 1 ล้านล้านบาท

วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจหรือรับผลทุเรียนในโรงรวบรวม และโรงคัดบรรจุให้เป็นมาตรฐาน โดยให้มีผลบังคับใช้หลังจากนี้อีก 1 ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เนื่องจากทุเรียนกำลังเป็นสินค้ายอดนิยมในด้านสินค้าเกษตร ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 แสนล้านบาท จากการส่งออกทุเรียนประมาณ 9 แสนตัน ซึ่งเกือบทั้งหมดส่งไปประเทศจีน โดยประเทศจีนบริโภค 7 ขีดกว่าต่อคนต่อปี

ขณะที่ประเทศที่บริโภคทุเรียนสูงสุดในโลก คือประเทศมาเลเซีย บริโภคคนละ 11 กิโลกรัม มากกว่าจีน 15-16 เท่า ซึ่งแนวโน้มคนจีนจะบริโภคทุเรียนมากขึ้น เนื่องจากมีความคลั่งไคล้การบริโภคทุเรียนมาก ๆ ดังนั้น มองเทรนด์ใน 10 ปีข้างหน้า ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ดีจะทำให้การบริโภคทุเรียนของคนจีนเพิ่มขึ้นมหาศาล โดยคาดว่าเพิ่มขึ้น 15 เท่า จะเท่ากับประมาณ 15 ล้านกิโลกรัม

ประเทศไทยไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ส่วนแบ่งการตลาดในขณะนี้ 70-80% หากอนาคตไทยแบ่งได้เพิ่มอีก 50% จะมองเห็นตัวเลขอีก 7-8 ล้านตัน คูณด้วยราคาหน้าสวนประมาณ 130 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินใหม่ที่จะเป็นรายได้จากการส่งออกทุเรียนประมาณ 1 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงรับนโยบายด้วยการเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจหรือรับผลทุเรียน โดยกำหนดว่าต้องตัดทุเรียนแก่เท่านั้น ให้เป็นมาตรฐานของโรงที่รวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนจะต้องมีใบรับรองมาตรฐานทุเรียน

ADVERTISMENT

โดยใช้เกณฑ์น้ำหนักแห้งเป็นการกำหนดมาตรฐาน โดยทุเรียนหมอนทอง น้ำหนักแห้งต้อง 32% ชะนี 30% และกระดุม 28% ด้วยมาตรการดังกล่าวโรงรวบรวมคัดบรรจุทุเรียนจึงต้องมีการตรวจสอบ และมีใบรับรองก่อนการส่งออก เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ และความสามารถในการแข่งขันของทุเรียนไทยที่จะออกไปแข่งขันในตลาดโลก