เปิด 9 ข้อหา สกัดจุด พปชร. อลหม่านคดียุบพรรคท่วม กกต.

อุบัติเหตุแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย “ยุบพรรค” เพราะเข้าข่ายกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

ขยายวงจากยุบ ทษช.ลามสู่ปมการชงยุบ “พรรคพลังประชารัฐ” เพราะชูสุดแขน-ทุ่มสุดตัว ให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เบิ้ลอำนาจรอบ 2 ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

ทว่า ด้วยเหตุที่ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯในสถานการณ์พิเศษ ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง แต่มาจากการรัฐประหาร

พรรคที่เรียกแทนขั้วตัวเองว่า ขั้วประชาธิปไตยที่ปักป้ายอยู่คนละขั้วข้างกับรัฐบาล คสช. จึงระดมยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย

1 วัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยยุบ ทษช. คนในเครือข่ายพรรคเพื่อไทย เริ่มตั้งสติได้ ส่ง “วิญญัติ ชาติมนตรี” ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และหมวกอีกใบ คือ เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ชงเหตุผล 4 ข้อ ยุบพรรคพลังประชารัฐ

1.มีกลุ่มบุคคลครอบงำการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ 2.ใช้ตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐโดยมิชอบเพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้สมัครหรือพรรคการเมือง 3.เป็นการกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ 4.สมคบใช้นโยบายของรัฐเพื่อเป็นนโยบายพรรคการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ จูงใจ ในการหาเสียงเลือกตั้ง

ตามด้วยคำร้องของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคไทยรักษาชาติ วางไว้ 3 ข้อหายุบพลังประชารัฐ 1.นายอุตตม สาวนายน ครอบงำพรรคพลังประชารัฐ เพราะในวันที่พรรคพลังประชารัฐมีการประชุมใหญ่ และเลือกนายอุตตมเป็นหัวหน้าพรรค ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิกพรรค ถือว่า นายอุตตม เป็นคนนอกที่มารับตำแหน่ง ถือเป็นคนนอกตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

2.จัดงานระดมทุนโดยขายโต๊ะจีนราคาโต๊ะละ 3 ล้านบาท เข้าข่ายแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน เพราะกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองใช้เงินในการเลือกตั้งได้แค่ 35 ล้านบาท แต่จัดระดมทุนได้ถึง 600 ล้านบาท และ 3.เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ถือเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย

ตามด้วย “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส” หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ตามยื่นให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ 2 ข้อหา เพราะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค เป็นการสนับสนุนการเป็นปรปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย จึงเข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรคการเมืองมากกว่า แถมยังขู่ฟ้อง กกต. มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หาก กกต.เพิกเฉยไม่เร่งพิจารณา

ก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ยื่น กกต.เอาผิดแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ประกอบด้วย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค กอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ในข้อหาค้ามนุษย์และฟอกเงิน จากกรณีการซื้อขาย กักขังหน่วงเหนี่ยวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จากปมการดูดอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย 40 คน พรรคประชาธิปัตย์ 20 คน มาอยู่พลังประชารัฐ

แต่อีกฟากหนึ่งมีสำนวนสอบ “พรรคเพื่อไทย” อยู่ 1 สำนวน ไม่มีคู่กรณีทางการเมืองเป็นผู้ยื่นฟ้อง แต่เป็นกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 93 ได้สั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐาน กรณีที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลมายังแกนนำพรรคเพื่อไทย ประกาศว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือไม่

ซึ่งยังเป็นเรื่องเสียวสันหลังของแกนนำพรรคเพื่อไทยอยู่

ทว่า คำร้องที่ยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐที่เกิดในช่วงชุลมุนยุบพรรค ทษช. อย่างน้อยมี 9 ข้อหา


3 ใน 9 ข้อหา ของ 3 พรรคที่ยื่นยุบพรรคพลังประชารัฐ โทษฐานเข้าข่ายกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะดันไปเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ผู้ที่มาจากการรัฐประหาร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี