ทีมเศรษฐกิจ 3 พรรคชิงแสนล้าน ดุลอำนาจ แข่งถมงบ “รัฐสวัสดิการ”

รายงานพิเศษ

การ “แบ่งเค้ก” โควตาเก้าอี้รัฐมนตรีพรรคร่วม 19 พรรค รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ” ทว่ากระทรวงเกรดเอ-กระทรวงเศรษฐกิจหลักได้ตกไปอยู่กับ “พรรคครึ่งร้อย” อย่างประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ไม่ใช่พรรคหลัก-พรรค 116 เสียง อย่างพลังประชารัฐ

“ทีมสมคิด” ที่มี “สี่กุมาร” เป็นตัวตายตัวแทน วางมือ-เว้นวรรคการเดินสายต่อรอง-แลกเก้าอี้โต้รุ่งชั่วคราว เพื่อตั้งวงร่างพิมพ์เขียว-นโยบายรัฐบาล ก่อนวาระแถลงต่อรัฐสภาเพื่อเปิดวงเจรจารอบใหม่

นโยบายผสม 19 พรรคหืดขึ้นคอ 

สำหรับ 12 นโยบาย ที่มี “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค “นั่งหัวโต๊ะ” ได้มอบหมาย “ทีมงานรุ่นใหม่” แกะนโยบาย 18 พรรคร่วมเพื่อร่างเป็นนโยบายรัฐบาล ประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 นโยบายที่ต้องสานต่อจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนที่ 2 นโยบายของพลังประชารัฐ ส่วนที่ 3 นโยบายของ 18 พรรคร่วม โดยจะนำไปหารือกับพรรคร่วมก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน วันที่ 22-23 มิ.ย. เพื่อหาข้อยุติต่อไป

“เรื่องกระทรวงถือว่าจบแล้ว หลังจากนี้ก็เหลือเพียงการร่างนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งอาจจะต้องตกลงกับพรรคร่วม โดยเฉพาะพรรคที่ได้โควตากระทรวงเศรษฐกิจหลัก จะพบกันคนละครึ่งทางได้อย่างไร”

ความยากของการร่างนโยบายเพื่อแถลงต่อรัฐสภาในครั้งนี้ คือ เป็นครั้งแรกที่การแถลงนโยบายต้องกำหนด “แหล่งที่มาของรายได้” ที่จะนำไปใช้ดำเนินนโยบาย ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 8 ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี มาตรา 162 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา…และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย”

รัฐบาลปริ่มน้ำ-ไม่มีเสถียรภาพ

ยากขึ้นไปอีกเมื่อต้องขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ “รัฐบาลผสม 19 พรรค” สู่การปฏิบัติ เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 “ไม่มีเสถียรภาพ” ยากยิ่งกว่ายากเมื่อตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คุมเศรษฐกิจ จากที่เคยเบ็ดเสร็จ-เด็ดขาด อยู่ในมือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กลายเป็นการบริหารเศรษฐกิจแบบผ่านรองนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าพรรค “ต่างพรรค” ที่ได้รับการจัดสรรโควตาเก้าอี้กระกรวงเกรดเอ-กระทรวงเศรษฐกิจหลัก 2 พรรค อย่างประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทยยกแผง

นอกจากนี้ “รัฐบาล คสช.ภาคต่อ” ยังเป็น “ยักษ์ที่ไม่มีกระบอง”-ไม่มีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ทำให้เป็น “โจทย์หิน” ในการล่องเรือรัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ “สมัยที่สอง” โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-บริหารกระทรวงปากท้อง มิหนำซ้ำต้องตกอยู่ในสภาพ “รัฐบาลปริ่มน้ำ” ในสภา ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากแขวนอยู่บนเส้นด้ายในทุกญัตติการโหวต

3 ทีมเศรษฐกิจประยุทธ์ 2/1

เมื่อหมดยุค “แม่ทัพเศรษฐกิจ” ทุบโต๊ะเปรี้ยงเขยื้อนทั้งองคาพยพ “หัวหน้าสี่กุมาร”-สมคิด ที่จะ “คัมแบ็ก” เก้าอี้รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจอีกครั้ง อาจไม่ใช่งานง่ายที่จะฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก

ถึงแม้จะมี “สี่กุมาร” อย่าง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุมสำนักงบประมาณ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “คั่วอยู่ในโผ ครม.”

เพราะแม้แต่ “ทีมเศรษฐกิจในพรรค” ที่มีชื่ออยู่ในโผ อย่าง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำกลุ่มสามมิตร หรือ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” แกนนำกลุ่มอดีตทหารเสือ กปปส. ยังแซะ-ปล่อยข่าวพิฆาตเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ขณะที่ “ทีมเศรษฐกิจนอกพรรค”-ประชาธิปัตย์ เมื่อ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” กุมบังเหียนรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกบ “พ่อบ้านพรรค”-เฉลิมชัย ศรีอ่อน นั่งแท่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การบัญชาการ “เศรษฐกิจรากหญ้า” จึงเป็นเอกเทศ-ขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์…แต่ทีมเศรษฐกิจ “ไม่เป็นเอกภาพ”

“ทีมภูมิใจไทย” ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” กอดเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี “ควบแน่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คุม “โมเดลท่องเที่ยวเบ็ดเสร็จ”

ขณะที่เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์-เกษตรฯและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตกอยู่กับพรรคลำดับ 4-5 แบ่งโควตาสลับสับเปลี่ยนกันเพียง 2 พรรค ไม่เหลือให้ “สิบก๊ก” ในพลังประชารัฐได้มีที่ยืน

โปรเจ็กต์-งบฯ 3 พรรค

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายของพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถึงแม้เกิด “ดราม่าการเมือง” ตอบโต้ “ใครลอก (นโยบาย) ใคร” แต่เนื้อในเรื่อง “วิธีการ” และ “แหล่งที่มาของเงิน” ที่เติมลงไปในนโยบาย “นับแสนล้าน” แตกต่างกัน

โดยเฉพาะนโยบาย “สวัสดิการประชารัฐ” ของพลังประชารัฐ กับ “รัฐสวัสดิการ” ของประชาธิปัตย์ รวมถึงนโยบาย “ทลายทุกข้อจำกัด เพื่อปากท้องประชาชน” ของภูมิใจไทย

พลังประชารัฐ เปิดนโยบายด้วยแพ็กเกจ “สวัสดิการประชารัฐ” อาทิ สานต่อนโยบายบัตรสวัสดิการประชารัฐ ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) “มารดาประชารัฐ” รวมทั้งสิ้น 1.81 แสนบาทต่อเด็ก 1 คน

เกษตรยั่งยืน ข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน อ้อย 1,000 บาทขึ้นไปต่อตัน ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม มันสำปะหลัง 3 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม ปาล์มราคาเป้าหมาย 5 บาทต่อกิโลกรัม

ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน อาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน ลดอัตราภาษีเงินได้มนุษย์เงินเดือนร้อยละ 10 ยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปี ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี

เปย์ประชารัฐ 1.24 ล้านล้าน

โดยมีแหล่งที่มาของงบประมาณ โดยการสร้างเศรษฐกิจ-เพิ่มรายได้ประเทศเป็น 19 ล้านล้านบาท ภายในปี 2565 ได้แก่ 1.ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจใหม่ สร้างการลงทุน สร้างงาน เพิ่มรายได้เป็น 2 ล้านล้านบาท 2.ตั้งเป้ารายได้จาการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านล้านบาท และ 3.เพิ่มรายได้เศรษฐกิจฐานรากเป็น 2 ล้านล้านบาท

เพิ่มทางเลือกแหล่งที่มาของเงินเพื่อดำเนินนโยบาย ได้แก่ 1.ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีแบบบูรณาการ ทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี จำนวน 300,000 ล้านบาทต่อปี 2.เก็บภาษีผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ จำนวน 40,000 ล้านบาทต่อปี 3.ปฏิรูปการบริหารสินทรัพย์ของประเทศ อาทิ กรมธนารักษ์ จำนวน 100,000 ล้านบาทต่อปี

4.ปฏิรูปกระบวนการการบริหารงานหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 200,000 ล้านบาทต่อปี 5.ลดงบประมาณจากโครงการเอกชนร่วมลงทุนขนาดใหญ่ (PPP) จำนวน 300,000 ล้านบาทต่อปี 6.ลดงบประมาณจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (TFF) จำนวน 100,000 ล้านบาทต่อปี และ 7.ลดงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อสังคม (SIF) จำนวน 200,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสิ้น 1,240,000 ล้านบาทต่อปี

ถม 3 แสน ล.สร้างรัฐสวัสดิการ

ประชาธิปัตย์ มุ่งเน้นนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ด้านการศึกษา จำนวน 62,348 ล้านบาทต่อปี สวัสดิการสังคม จำนวน 148,928 ล้านบาทต่อปี เกษตรคุณภาพ จำนวน 130,000 ล้านบาทต่อปี แรงงาน จำนวน 50,000 ล้านบาทต่อปี สาธารณสุข จำนวน 739 ล้านบาทต่อปี รวม 329,015 ล้านบาทต่อปี อาทิ ค่าตอบแทน อสม. 739 ล้านบาทต่อปี

ที่มาของรายได้ที่ใช้ดำเนินโครงการตามนโยบาย 1.ปรับลดงบประมาณบางรายการ เช่น งบฯกลาง สํานักนายกรัฐมนตรี การลดงบประมาณโครงการเดิมที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน 2.ภาษีใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง

3.เงินกู้ชดเชยการขาดดุล 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี 5.รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.เงินร่วมทุนจากเอกชนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ

ปลดล็อกกฎหมาย-คิดนอกกรอบ

ด้านภูมิใจไทย เป็นนโยบายที่มี “สีสันฉูดฉาด” เพราะเน้นการ “แก้ข้อจำกัดข้อกฎหมาย-คิดนอกกรอบ”… #ทลายทุกข้อจำกัด เพื่อปากท้องประชาชน อาทิ “กัญชาเสรี” ปลูกกัญชาขายกิโลกรัมละ 70,000 บาท โดยการแก้กฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2522แก้กฎหมายขนส่ง ทำให้ Grab Car ถูกกฎหมาย “บุรีรัมย์โมเดล” ต้นแบบการพัฒนาเมืองเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน และนำแนวคิดไปเผยแพร่ในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ แก้กฎหมายประมง นำกฎหมาย EEC ไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นโยบาย “กำไรแบ่งปัน” สร้างระบบแบ่งปันผลกำไรการเกษตร profit sharing 70% : 15% : 15% ชาวนาได้เงิน 70% ข้าวขาว 7,900+800=8,700 หอมมะลิ 18,000+1,500=19,500 ราคาข้าวปี 2561+ส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนข้าว ปาล์มทะลายกิโลกรัมละ 5 บาท

นโยบายแก้หนี้ กยศ. มูลหนี้ 5 แสนล้านบาท ไม่มีดอกเบี้ย ยกเลิกค่าปรับ ปลดภาระผู้ค้ำประกันและพักหนี้ 5 ปี ยกระดับ อสม.เป็นหมอประจำบ้าน ได้ค่าตอบแทน 2,500-10,000 บาท เหมือนกับแพทย์ประจำตำบล

เรียนออนไลน์ ฟรีตลอดชีวิต ตั้งแต่มัธยมศึกษา สายวิชาชีพ ปวช. ปวส. ถึงอุดมศึกษา ด้วยสถาบันการศึกษาออนไลน์ รัฐจะใช้ระบบงบประมาณแบบ pay per viewทำงานที่ออฟฟิศสัปดาห์ละ 4 วัน work @ home ทำงานที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน โดยมีมาตรการจูงใจทางด้านภาษีสำหรับภาคเอกชน ภาครัฐจัดหา coworking space 1 แขวง 1 ที่ เป็นบริการที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายและมีอินเทอร์เน็ตให้บริการฟรี


3 พรรค 3 ทีมเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ-รัฐสวัสดิการ ภายใต้รัฐบาลผสม 19 พรรค ยากยิ่งกว่ายาก