‘ธนาธร’ ชิงธง ‘นายก อบจ.’ 5 พรรคเปิดศึกชิงมวลชน ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’

เลือกตั้งท้องถิ่น2

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ไฟเขียวให้เลือกตั้งท้องถิ่นระดับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 จังหวัด ในเดือนธันวาคม เปิดรูระบายทางการเมืองหลังว่างเว้นการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นมากว่า 6 ปี คาดหมายกันว่าอยู่ในกรอบ 13 หรือ 20 ธันวาคมนี้

วัดความพร้อม กลุ่ม-พรรคที่ออกตัวแรงนำโด่งหนีไม่พ้นคณะก้าวหน้านำโดย 3 หัวหอก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-พรรณิการ์ วานิช” และแบ็กอัพอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิการเมืองระดับชาติ แต่ยังมีช่องให้ลุยงานท้องถิ่น ชูแผนการยกระดับการเมืองท้องถิ่นทั้งโครงสร้าง

“ชำนาญ จันทร์เรือง” กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะขบวนที่คุมเลือกตั้งท้องถิ่น คิกออฟเปิดตัว 30 ตัวแทนลงนายก อบจ. กล่าวว่า คณะก้าวหน้าพร้อมทำแคมเปญหาเสียง 2 ตอน ตอนแรกเป็นนโยบายรวมทั้งประเทศ ซึ่งการทำภาพรวมทั้งประเทศเพราะในอดีตที่ผ่านมา แต่ละ อปท.ต่างคนต่างลง เวลาจะผลักดันเรียกร้องกฎหมาย ไม่มีพลัง ถ้าได้นายก อบจ. 10 คน แล้วผนึกกำลังกัน เวลาเรียกร้องอะไรก็จะสะเทือนถึงการเมืองระดับใหญ่

ตอนที่ 2 แคมเปญเฉพาะพื้นที่เน้นเรื่องการจัดการขยะ การขนส่งสาธารณะ ผลักดันกฎหมายจังหวัดจัดการตนเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมืองท้องถิ่นผูกติดกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ลักษณะ “การเมืองบ้านใหญ่” คณะก้าวหน้าเตรียมแผนไว้ว่า “ทุกครั้งที่เลือกตั้งท้องถิ่นคนมาใช้สิทธิน้อยมาก เพียงแค่ 40% จึงหวังกลุ่มรุ่นใหม่ 40% ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง จะแคมเปญให้คนกลุ่มนี้เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าผูกพันกับชีวิตตั้งแต่ตื่นจนหลับ เกิดจนตาย ให้เขากลับมาเลือกคณะก้าวหน้า”

ถ้าได้เก้าอี้นายก อบจ.เกินครึ่ง นโยบายเรื่องท้องถิ่นจะเปลี่ยนแปลงไป กระทรวงมหาดไทยที่ใช้อำนาจคุมท้องถิ่นเยอะเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องระวังการใช้อำนาจมากขึ้น

ขณะที่งานในสภาคณะก้าวหน้าจะเชื่อมกับพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองที่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องท้องถิ่น ในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปท้องถิ่น

ขณะที่ความชัดเจนของ “เพื่อไทย” มียุทธศาสตร์ ส่งผู้สมัครเฉพาะเขตที่มั่นใจว่าชนะแน่ เน้นภาคอีสานและเหนือ จะไม่ส่งหว่านทุกพื้นที่

ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย มีการประกาศเปิดตัวผู้สมัครชัดเจนมี 5 แห่ง อาทิ นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ “น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์” ว่าที่ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงราย

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคใหม่ถอดด้าม บอกว่า พรรคเตรียมการหารือเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ รอพื้นที่ส่งข้อมูลใหม่ มาให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณา ซึ่งอาจมีการปรับบทบาทใหม่ เพราะเดิมมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานสรรหา

ส่วนพรรคเบอร์ 1 ผู้นำรัฐบาล “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ที่มีพี่ใหญ่-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ลูกพรรคยังรอ “คำสั่ง” ว่า “พี่ป้อม” จะให้จัดการอย่างไรกับการเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านการประชุมพรรคในสัปดาห์หน้า

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคมีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนจะส่งหรือไม่ส่งถือเป็นอีกเรื่อง เพราะหลายพื้นที่อาจจะมีการทับซ้อนกัน บางทีเป็นเครือข่ายของ ส.ส. และจังหวัดหนึ่งมี ส.ส.หลายคน ดังนั้น ก็ต้องมาดูภาพรวม ให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคดูให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตาม พรรควางตัว “ขุนพล-ส.ส.ภูธร” ที่คลุกคลีในพื้นที่ 10 หัวเมืองใหญ่เป็นผู้คุม “หัวคะแนน” ท้องถิ่นไว้พร้อมสรรพ ฐานสำคัญคือภาคเหนือ

พรรคอันดับ 2 ในฝ่ายรัฐบาล อย่าง “ภูมิใจไทย” ไม่ขอประกาศเป็น “ทางการ” เพราะใช้วิธีรู้กันในพื้นที่-ท้องถิ่นว่านี่คนของภูมิใจไทย มีผู้สมัครที่เป็น “เลือดภูมิใจไทย” ชัดเจน บุรีรัมย์, สุรินทร์, พัทลุง, สตูล

ขณะเดียวกัน อาจมีการไกล่เกลี่ยในพื้นที่ แบ่งเก้าอี้ให้กันในบางพื้นที่ ผ่านนักการเมืองระดับชาติที่มีหลังบ้าน-คนในครอบครัวเล่นการเมืองท้องถิ่น เช่น อาจจะใช้วิธีนายก อบจ.เป็นคนของภูมิใจไทย ส่วนรองนายกอาจเป็นฝ่ายพลังประชารัฐ หรือสลับกัน อยู่ที่เคลียร์กันลงตัวแค่ไหน หรือบางพื้นที่มีคนที่เคยเป็นนายก อบจ.มาก่อนแล้ว และได้เปลี่ยนฝั่งมาอยู่ภูมิใจไทย

“ส่งในนามพรรคแบบที่ประกาศกันโครม ๆ ไม่ใช่สไตล์ภูมิใจไทย แต่สรรพกำลัง ส.ส.ก็จะช่วยในพื้นที่เหมือนชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่จำเป็นต้องบอกว่าสมัครในนามเพื่อไทย แต่เป็นพันธมิตร” แหล่งข่าวในภูมิใจไทยกล่าว

และ “พรรคประชาธิปัตย์” ขอใหญ่ลำดับ 3 ในรัฐบาล ก็เตรียมแผนเลือกตั้งท้องถิ่น โดย “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรค ระบุว่า พรรคได้เตรียมความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นมาต่อเนื่อง

โดยมอบหมายให้รองหัวหน้าภาคทั้ง 4 ภาคหาผู้สมัครนายก อบจ.ที่มีความพร้อม ใกล้ชิดกับประชาชน-คุณสมบัติครบถ้วน เพื่อมาเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการท้องถิ่นของพรรค ส่วนจะลงแข่งขันครบ 76 จังหวัดหรือไม่ พรรคยังไม่ได้เคาะ

แต่หากบางพื้นที่ไหนที่มี ส.ส.ของพรรค เห็นว่ามีบุคคลที่มีความเหมาะสมก็สามารถเสนอให้เป็นผู้สมัครในนามพรรคได้ เช่น กรณี “ไพรเจน มากสุวรรณ์” ผู้สมัครนายก อบจ.สงขลา ซึ่งได้รับรองจาก ส.ส. และรัฐมนตรีในพรรค

อีก 60 วันกว่า ๆ ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นอันดุเดือดจะระเบิดขึ้นในรอบ 6 ปี