ศบศ.เดินหน้าดึงนักลงทุนต่างชาติ แก้กฎ-ลดภาษี ฟื้นเศรษฐกิจ

แพ็กเกจดึงดูดเศรษฐีต่างชาติ-ดึงเงินจากต่างประเทศ รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน-การจ้างงาน กำลังเดินอยู่บนทางสองแพร่ง

แพร่งที่หนึ่ง การรุกของ “ทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ” ที่มี “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เป็นหัวหน้าทีม แพร่งที่สอง บนความเคลื่อนไหวของ “ทีมความมั่นคง” แบ็กอัพให้ฝ่ายการเมืองรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ดึงฟืนออกจากไฟ ตัดกระแสข่าวที่โจมตีรัฐบาล

การพิจารณามาตรการดึงดูดเศรษฐีต่างชาติในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) 2 ครั้งที่ผ่านมาจึงยังไม่ตกผลึก-สะเด็ดน้ำ

ครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 การประชุม ศบศ. ครั้งที่ 2/2564 รับข้อเสนอของ “ทีมปฏิบัติการเชิงรุก” ที่ประชุมให้นำกลับไป “ทบทวน” เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่ยังไม่ตกผลึก ครั้งที่สอง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 การประชุม ศบศ. ครั้งที่ 3/2564 ใช้เวลาถก-เถียงกันยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง แต่ยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ”

“ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษก ศบศ. แถลงผ่านไลน์-จับถ้อยคำได้ว่า “ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาข้อเสนอในรายละเอียดต่อไป”

เบื้องลึก-เบื้องหลังการตีกลับ ให้กลับไปทบทวน (อีกครั้ง) เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ละเอียดว่า ทำได้-ไม่ได้ และนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุม ศบศ.อีกครั้ง

เพราะเหตุผลที่แหล่งข่าวในที่ประชุมระบุว่า “ทุกประเด็นมีปัญหา ถ้าต้องไปแก้กฎหมายก็เป็นเรื่องใหญ่ แต่ทุกอย่างต้องแก้กฎหมายทั้งหมด การเมืองตอนนี้ก็มีปัญหา เสนอในสิ่งที่อ่อนไหวก็พังเท่านั้น”

แต่ “ทีมปฏิบัติการเชิงรุก” ยังคงเดินหน้า-ผลักดันแพ็กเกจดึงเศรษฐีลงทุนให้ทันภายในสิ้นปี’64 โดยจะมีการปรับรายละเอียดอีกหลายประเด็นก่อนส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ไปรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตัดสินใจของ ครม.

ฝ่ายทีมรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจระบุว่า ที่ประชุม ศบศ.เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 รับหลักการทุกข้อ “ยกเว้น” เรื่องสิทธิประโยชน์การคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราคงที่ที่ร้อยละ 17

จะมีการปรับปรุง “จากเดิม” สิทธิประโยชน์จะให้ทั้ง 4 กลุ่ม จะถูกตัดออก-เหลือเพียง “กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ” เท่านั้น

“กฎหมายที่จะออกมาจะคล้ายกับการให้สิทธิประโยชน์ในพื้นที่อีอีซี 17% แต่จะเป็นการใช้ทั่วประเทศ และอาจจะปรับให้เลือกระหว่างการคิดภาษีในอัตราคงที่ 17% หรือคิดในอัตราก้าวหน้าได้

และถ้าอยากจะให้อีอีซีดึงดูดมากขึ้นก็ลดลงให้เหลือ 15% ขณะนี้มีบริษัทระดับโลกให้ความสนใจ เช่น บริษัท Microsoft และบริษัท Foxconn” แหล่งข่าว ศบศ.ระบุ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติที่จะดึงมาลงทุน-พำนักระยะยาว 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (wealthy global citizen) ที่มีรายได้สูง เดินทางบ่อย ใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ และมีทรัพย์สินอยู่ทั่วโลก

คุณสมบัติในการขอวีซ่าต้องลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ และมีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

และมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปตลอดระยะเวลาถือวีซ่า

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีรายได้สำหรับการเกษียณอายุที่มั่นคงเป็นประจำจากต่างประเทศ ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐในพันธบัตรรัฐบาลไทย

ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือในอสังหาริมทรัพย์ และมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ตลอดระยะเวลาถือวีซ่า

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ทำงานให้กับนายจ้างในต่างประเทศ และสามารถทำงานทางไกลจากประเทศอื่นได้ มีรายได้ที่มั่นคงจากต่างประเทศ มี 2 ประเภทย่อย 1.ผู้ประกอบอาชีพด้านดิจิทัล และ 2.พนักงานองค์กรขนาดใหญ่และใกล้จะเกษียณอายุ

และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ มีประสบการณ์ทำงานทักษะสูง และจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

พ.ศ. 2560 เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่จะเข้ามาทำงานหน่วยงานของรัฐ หรือเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

มีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน รายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป

และมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปตลอดระยะเวลาถือวีซ่า

โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้ 1.สิทธิประโยชน์วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร 2.ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน

3.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ 4.คิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราคงที่ที่ร้อยละ 17 และ 5.สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดิน)

“ทีมปฏิบัติการเชิงรุก” คาดการณ์ผลที่คาดว่าจะได้รับไว้ว่า จะสามารถดึงดูดผู้พำนักระยะยาวกว่า 1 ล้านล้านรายเข้าสู่ประเทศไทย และใช้จ่ายในประเทศ 1 ล้านล้านบาทต่อปีต่อคนโดยเฉลี่ย

และมีเม็ดเงินจากการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท ประมาณการจากการลงทุนจากกลุ่มประชากรโลกประมาณ 1 หมื่นคน และกลุ่มผู้เกษียณอายุ 8 หมื่นคน มีรายได้ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ 4 แสนคน รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ สู่ประเทศไทย และเพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ

หลังจากนี้ จะดำเนินการรับฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขกฎหมาย-กฎระเบียบที่จำเป็น 11 เรื่อง 1.กำหนดวีซ่าประเภทพิเศษตามโครงการ เช่น ระบบอำนวยความสะดวกให้รับอนุมัติวีซ่าอย่างรวดเร็วและสะดวก และยกเว้นไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน

2.กำหนดให้คนต่างด้าวต้องทำประกันภัยสุขภาพตามเงื่อนไขที่กำหนดในวีซ่า

3.ให้ผู้ถือวีซ่าตามโครงการสามารถทำงานในประเทศได้ตามคุณสมบัติตามที่ได้ขอวีซ่าไว้

4.ลดพิกัดอัตราอากรนำเข้าไม่เกินกึ่งหนึ่งสำหรับสินค้าที่เป็นของใช้อุปโภค เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภท โดยให้กรมศุลกากรพิจารณาศึกษาและเสนอรายการสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

5.ทายาทไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกของทรัพย์ที่อยู่นอกประเทศไทย

6.ผู้ถือวีซ่าปัจจุบันที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเปลี่ยนประเภทวีซ่าผู้พำนักระยะยาวได้ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วน

7.ผู้ถือวีซ่าผู้พำนักระยะยาวสามารถขอใบอนุญาตทำงานได้ โดยไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาการออกใบอนุญาตทำงานเรื่องการกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คนต้องจ้างพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คนของกระทรวงแรงงานและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

8.เปิดบัญชีธนาคารทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศได้สะดวก

9.สิทธิประโยชน์จากการลดอัตราค่าธรรมเนียมและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการส่งและรับเงินระหว่างประเทศ


10.ปรับปรุงกฎระเบียบศุลกากรที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและออกซึ่งสิ่งของส่วนตัวและทรัพย์สินมีมูลค่า 11.กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศในอัตราคงที่เป็นร้อยละ 17