วิธีนับคะแนนเลือกตั้ง กฎหมายลูก ด่านที่ 2 แก้รัฐธรรมนูญ

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ พ่วง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน คู่ดูโอ้ 2 ช. พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี

เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐสภา ผ่านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ที่แก้ในวาระที่ 3

เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาเป็นบัตรสองใบ เลือกคนที่ใช่-พรรคที่ชอบ แบบรัฐธรรมนูญ 2540 โดยที่ ส.ว.สายทหารไม่มีแตกแถว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ผ่านวาระ 3 ของรัฐสภาไปแล้ว ยังมี “ช่องว่าง” ก่อนที่ นายกฯจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากมีสมาชิกรัฐสภาเห็นว่า กฎหมายอาจขัดกับรัฐธรรมนูญให้รวมชื่อ 1 ใน 10 ยื่นส่งศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานรัฐสภา

โดยพรรคเล็กที่ขวัญผวากลัว “สูญพันธุ์” หากหวนใช้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พยายามชวนพรรคใหญ่ พรรคกลางมาร่วมลงชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

แต่เมื่อ 2 ป. ให้ผ่าน โอกาสที่เกมรัฐธรรมนูญจะแท้งเป็นไปได้น้อย…จบไปสำหรับแก้รัฐธรรมนูญซีซั่นที่ 1

ขึ้นต้นซีซั่นที่ 2 ท่ามกลางความวิตกของ ส.ว.พลเรือนที่ร่วมขบวน กปปส.ไล่เครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2557 เกรงการย้อนกติกาเลือกตั้งให้กลับไปเป็นแบบเลือกตั้งปี 2540 และ 2550 ว่า “ทักษิณ” จะกลับมาแลนด์สไลด์

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหอกแก้รัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล มองว่า สถานการณ์ “เพื่อไทย-ทักษิณ” กลับมาแลนด์สไลด์ เหมือนการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 เป็นไปได้ยาก เพราะบริบททางการเมืองไม่เหมือนกัน

กระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ลดลงทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และในปี 2554 ก็มีเพียงพรรคเพื่อไทย พรรคเดียว แต่ปัจจุบันมีพรรคประเภทเดียวกับพรรคเพื่อไทยเกิดขึ้นหลายพรรค เช่น พรรคไทยสร้างไทย พรรคก้าวไกล ดังนั้น พรรคเหล่านี้ย่อมตัดคะแนนพรรคเพื่อไทยไปด้วย

“และพรรคต่าง ๆ ก็มีความสามารถในการแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ การแลนด์สไลด์ของทักษิณจึงเป็นไปไม่ได้”

ไพบูลย์จึงข้ามชอตการแก้รัฐธรรมนูญ ไปยังการแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับกติกาใหม่

ไฮไลต์การแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เตรียมเนื้อหากฎหมายลูก โดยนำสูตรการ “คำนวณ” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2554 โดยวิธีคำนวณให้ดูผลคะแนนเลือกตั้งรวมของ ส.ส.ปาร์ตี้ ทั้งประเทศ จากนั้นหารด้วย 100

เช่น ในปีการเลือกตั้งปี 2554 มีผู้ลงคะแนนในระบบปาร์ตี้ลิสต์ 35 ล้านเสียง นำมาหาร 100 ก็จะได้สัดส่วนคะแนนที่จะได้ ส.ส.พึงมี 350,000 ต่อ ส.ส. 1 คน

ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เตรียมแก้ไขมีปัญหาที่พรรคการเมือง “ปวดหัว” เรื่องการทำไพรมารี่โหวต เตรียมการนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 กันยายน 2561

เรื่องการแก้ปัญหาไพรมารี่โหวตในกฎหมาย พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบัน ที่กำหนดในมาตรา 49 มาตรา 50 ให้มี “คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร” ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

จากนั้นในแต่ละเขตเลือกตั้ง จะมีการเรียกประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าห้าสิบคน เพื่อลงมติเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งให้คณะกรรมการบริหารพรรค “ประทับตรา” การเป็นผู้สมัครของพรรค

โดยหยิบวิธีการในคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าวมาสวมแทน กล่าวคือ ให้คณะกรรมการสรรหาฯมีหน้าที่ และอำนาจพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพรรค “ประทับตรา”

ให้คณะกรรมการสรรหาฯรับฟังความคิดเห็น จากหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก มาประกอบการพิจารณาสรรหาด้วย ตัดเรื่อง “การโหวตเลือกผู้สมัครในระดับพื้นที่” ทิ้งไป

บัดนี้เตรียมขึ้น chapter ใหม่ คือการแก้กฎหมายลูกแล้ว