พรรคใหม่ “ประยุทธ์” 3 ป. แยกปลาในบ่อพลังประชารัฐ

รายงานพิเศษ

ท่าทีของพี่-น้อง 3 ป. แห่งบูรพาพยัคฆ์ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต่อกระแสตั้งพรรคสำรอง-พรรคอะไหล่ กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง

สนิมเนื้อในพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรค เป็น “ก้อนกรวดในท็อปบูต” กัดกร่อนความไว้เนื้อเชื่อใจ “พล.อ.ประยุทธ์”

พรรคพลังประชารัฐ “นั่งร้าน 3 ป.” เครื่องมืออันทรงพลังของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเลือกตั้ง มีนาคม 2562 ยังไม่ถึงฉากจบ หลังรัฐธรรมนูญ-กติกาเลือกตั้งใหม่ “บัตร 2 ใบ” อุบัติขึ้น

การคิด-อ่าน นับ 1 ก่อร่าง-สร้างพรรคใหม่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ สุ่มเสี่ยงแท้งก่อนลืมตาดูโลกการเมือง

ปฏิบัติการ “ยึดพรรค” ส่ง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี-ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เข้าไป “สร้างบ้านใหม่” ให้เป็นสถาบันการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องรื้อกระดานบางแผ่น จนถูก “ลูกบ้าน” ต่อต้านอย่างหนัก

คู่ขนานไปกับการ “เดินเกม” ของ “ก๊วน 6 รัฐมนตรี” ในการถอนรากถอนโคน “เครือข่ายธรรมนัส” แต่จดหมาย-หนังสือลาออกจ่าหน้าซองไม่ถึง “พล.อ.ประวิตร”

“ลูกเล่นใหม่” คือ การโยนหินถามทาง “เทกโอเวอร์” พรรคไทยสร้างสรรค์ เพิ่มน้ำหนักความเป็นพรรคใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยรายชื่อ “6 บิ๊กเนม” พลังประชารัฐ กับอีก 1 อดีตรัฐมนตรีของผมเป็นผู้ก่อการ-ก่อตั้ง

พรรคไทยสร้างสรรค์ (ท.ส.ส.) จดจัดตั้งกับนายทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 มีนายธำรงค์ เรืองธุระกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และ น.ส.ญาณิศา จันทร์เรือง เป็นเลขาธิการพรรค

ก่อนหน้านี้ยังมีชื่อพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) จดจัดตั้งกับนายทะเบียนพรรคการเมือง กกต. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 มีนางรัชนี ศิวเวชช เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายเมธาวี เนตรไสว เป็นเลขาธิการพรรค เป็นพรรคจริง-พรรคหลอก

แม้กระทั่ง “พรรคปลัดฉิ่ง” ของ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ “จุดไม่ติด” แสงริบหรี่ลงไปเรื่อย ๆ ขณะที่ “บิ๊กฉิ่ง” หลังจากเกษียณอายุราชการเงียบหายเข้ากลีบเมฆ-รอสัญญาณพิเศษ

“มีข่าว (ตั้งพรรคปลัดฉิ่ง) พอสมควร ในแวดวงการเมือง แต่ในช่วงหลังไม่เกิดขึ้น ผมจึงหาพรรคที่คิดว่าดีที่สุด (พรรคกล้า) เพื่อทำการเมืองต่อ” พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ “ขุนพลปักษ์ใต้” ป้ายแดง พรรคกล้า ระบุ

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม “กติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ” ประกาศใช้ อาจส่งผลให้พรรคอะไหล่ พล.อ.ประยุทธ์ “ปิดประตู” ?

แกนนำพรรคพลังประชารัฐประเมินกระแสตั้ง “พรรคประยุทธ์” ว่า เป็นเพียงข่าวลือ ส่วน “พรรคปลัดฉิ่ง” จบแล้ว “ดู พ.อ.สุชาติ ย้ายไปอยู่พรรคกล้าแล้ว” แกนนำพลังประชารัฐคนดังกล่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระดับสูงตึกไทยคู่ฟ้าระบุว่า ด้วยบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ “สู้ไม่ถอย-เป็นนักสู้” และ “สู้แบบมีทางเลือก” กระแสการตั้งพรรคสำรองจึงมีความเป็นไปได้-ไม่ปิดประตูตาย
“สุดท้ายกลับไปเรื่องเดิม ฝ่ายการเมืองไว้ใจ ร.อ.ธรรมนัส มากน้อยแค่ไหน 9 ใน 10 คน พูดตรงกันหมด ต้องมีแผน 1 แผน 2 plan A plan B plan C”

“เปรียบเหมือนปลาในบ่อน้ำ ปลามีเท่าเดิม 121 ตัว จะไปตั้งพรรคใหม่ ปลา 121 ตัวก็อยู่ในพรรคนี้ จึงยังไม่จำเป็นต้องตั้งพรรคใหม่ แต่อย่างน้อยการตั้งพรรคใหม่จะได้รู้ว่า เป็นปลาของใคร”

ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 กกต. จำนวน 85 พรรคการเมือง โดยมีพรรคการเมืองที่จดจัดตั้งหลังวันที่ 24 มีนาคม 2562 -หลังการเลือกตั้ง จำนวน 24 พรรค ได้แก่ ปี’62 จำนวน 2 พรรค พรรคสร้างชาติ (สช.) วันที่จัดตั้ง 8 กรกฎาคม 2562 พรรคเพื่ออนาคตไทย (พอท.) วันที่จัดตั้ง 7 พฤศจิกายน 2562

ปี’63 จำนวน 9 พรรค พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) วันที่จัดตั้ง 7 เมษายน 2563 พรรคเส้นทางใหม่ (สทม.) เดิมชื่อ “พรรคไทยชอบธรรม” วันที่จัดตั้ง 7 เมษายน 2563 พรรคก้าวใหม่ (พ.ก.ม.) วันที่จัดตั้ง 14 เมษายน 2563

พรรคไทยรวมไทย (ทรวท.) วันที่จัดตั้ง 22 มิถุนายน 2563 พรรคกล้า (ก.) วันที่จัดตั้ง 29 มิถุนายน 2563 พรรครวมพลังคนรุ่นใหม่ (รพม.) วันที่จัดตั้ง 10 สิงหาคม 2563 พรรคยุทธศาสตร์ชาติ (ย.ศ.ช.) วันที่จัดตั้ง 10 สิงหาคม 2563

ปี’64 จำนวน 15 พรรค พรรคสหประชารัฐ (สปร.) วันที่จัดตั้ง 10 มีนาคม 2564 พรรคพลังสังคมใหม่ (พ.ส.ม.) วันที่จัดตั้ง 17 มีนาคม 2564 พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) วันที่จัดตั้ง 23 มีนาคม 2564 พรรคมิติใหม่ (มต.) วันที่จัดตั้ง 31 มีนาคม 2564

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) วันที่จัดตั้ง 31 มีนาคม 2564 พรรคมวลชนสยาม (มชส.) วันที่จัดตั้ง 21 เมษายน 2564 พรรคเพื่อประชาชน (พป.) วันที่จัดตั้ง 12 พฤษภาคม 2564 พรรคพลังสยาม (พส.) วันที่จัดตั้ง 12 พฤษภาคม 2564

พรรคไทยรักกัน (ทรก.) วันที่จัดตั้ง 12 พฤษภาคม 2564 พรรคไทยภักดี (ทภด.) วันที่จัดตั้ง 24 สิงหาคม 2564 พรรคแนวทางใหม่ (นทม.) วันที่จัดตั้ง 24 สิงหาคม 2564 พรรคเสมอภาค (สมภ.) วันที่จัดตั้ง วันที่ 24 สิงหาคม 2564

พรรคไทยชนะ (ทช.) วันที่จัดตั้ง 31 สิงหาคม 2564 พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) วันที่จัดตั้ง 25 ตุลาคม 2564 และพรรคไทยสร้างสรรค์ (ท.ส.ส.) วันที่จัดตั้ง 25 ตุลาคม 2564

เอฟเฟ็กต์จากรัฐธรรมนูญ “บัตร 2 ใบ” คนการเมืองขาใหญ่-ขาจร พูดเป็นเสียงเดียวกัน พรรคใหญ่ได้เปรียบ-พรรคเล็กสูญพันธุ์ กลบกระแสพรรคใหม่-พรรคอะไหล่ 3 ป. เงียบกริบ