ส่องอสังหาริมทรัพย์ 2019 ปีแห่งการปรับตัว-GDP หนุนโต 5%

เก็บตกจากเวทีสัมมนาแห่งปี “ส่องอสังหาฯ 2019 Living for The Future” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจร่วมกับพันธมิตร บริษัท แกรนด์โฮม จำกัด เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ถึงแม้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก ให้สัมภาษณ์สอดคล้องกันว่า แนวโน้มปี 2562 เป็นปีที่ไม่สดใสสำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยหนุนนำให้ภาพรวมตลาดยังสามารถเติบโตได้อยู่ เพียงแต่อาจเป็นการเติบโตในอัตราที่ลดลง ประเมินอยู่ที่โต 5% บวกลบ ซึ่งเป็นมุมมองของผู้บริหารค่ายศุภาลัยกับเสนา ดีเวลลอปเม้นท์

ต้องชัวร์ก่อนจะซื้อที่ดิน

“อ.ยุ้ย-รศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์การทำธุรกิจปี 2562 ในส่วนของเสนาฯ จะต้องทำหลายองค์ประกอบ จุดเน้นคือ “เน้น selective ในเรื่องทำเล-ชัวร์เรื่องดีมานด์-รู้ซัพพลายก่อนเริ่มก่อสร้าง”

โดยมองว่าคัมภีร์พัฒนาที่ดินปัจจุบันที่บอกต่อกันมาว่า “ทำเล ทำเล ทำเล” นั้นไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในยุคนี้อีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องเพิ่ม features ตัวโปรดักต์ เพื่อเป็นตัวเร่งการตัดสินใจของลูกค้า

“หลายคนมักพูดว่าโลเกชั่นที่ดีคือทุกสิ่ง ตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีรถไฟฟ้าวิ่งบริการแล้ว ไปไหนก็สะดวก คอนโดมิเนียมอยู่ติดถนนใหญ่ แต่ขายไม่ออกเต็มเลย เสนาฯก็เป็นด้วย เพราะดีมานด์-ซัพพลายไม่ไปด้วยกัน”

ภาวะแข่งขันสูงจากเพื่อนในวงการ ไม่ว่าบิ๊กแบรนด์ ยักษ์ใหญ่ต่างธุรกิจที่เข้ามาลงทุนอสังหาฯ ไปจนถึง new comer กลยุทธ์ที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ จึงต้องรวมถึงกระบวนการตั้งแต่ได้ที่ดินมาจนถึงออกแบบ ขออนุญาตและเปิดสำนักงานขายต้องทำให้เร็วขึ้น ปกติใช้เวลาเฉลี่ย 8 เดือน …วันนี้ยังเร็วไม่พอ

พลิกเป็นโอกาส-ช็อปของถูก

“อสังหาฯเป็นธุรกิจที่เกิดไซเคิลง่าย เป็นธุรกิจที่ซัพพลายตอบสนองช้า สมมติเราตั้งใจเปิดคอนโดฯวันนี้ แต่ใช้เวลาเตรียมการ 8 เดือน ถ้าบางโซนต้องทำ EIA (รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม) กว่าจะผ่าน ยังไม่ได้เปิดขาย แต่ปรากฏว่าเพื่อนมาเต็มเลย เราก็ไม่ได้รู้เรื่องทุกอย่าง เราซื้อที่แล้ว อันนี้ก็เกิดเอฟเฟ็กต์ในเรื่องดีมานด์ ซัพพลายได้ เป็นสิ่งที่ต้องบอกตัวเองอยู่เสมอว่า เราควรเรียนรู้วิธีการที่ได้ข้อมูลที่เร็วขึ้น มากขึ้น เพื่อตัดสินดีมานด์และซัพพลายในทำเลได้”

มุมมองที่น่าสนใจเป็นเรื่องการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส “ดร.ยุ้ย” มองว่า ปีหน้าสำหรับทุกท่านที่อยู่ในซัพพลายเชน จริง ๆ เวลาที่มันไม่ค่อยดี เป็นเวลาของถูก ในช่วงเวลาที่คนคิดว่าดี ทั้งหมดเป็นเวลาของแพง ถ้าเกิดนักลงทุนหรือดีเวลอปเปอร์ซื้อที่ดินในช่วงที่บรรยากาศคลุมเครือ ดูหมือนไม่ค่อยดี มีโอกาสเป็นเวลาจับจ่ายใช้สอยหรือได้ดีลราคาต่ำลง แลนด์แบงก์ราคาถูกลง หรืออย่างน้อยก็ไม่ขึ้นราคาสูงเกินไป

“ดังนั้น คิดว่าภายใต้ภาวะที่ดูเหมือนมีข้อลบมากกว่าข้อบวก จะเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนซื้อที่เก็บไว้ และซื้อของราคาถูกได้”

โดยสรุป ผู้บริหารค่ายเสนาฯระบุกลยุทธ์การแข่งขันปี”62 เป็นปีที่ต้องลงทุนรวดเร็ว และ selective ให้มากขึ้น

ดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลจิ๊บ ๆ

“ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นด้วยการแชร์มุมมองตลาดคอนโดฯร้อนแรงจากการทะลักเข้ามาของกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติ โฟกัสให้ตรงจุดพบว่า สัดส่วน 90% เป็นลูกค้าจีน เมื่อลองหักยอดขายลูกค้าจีนออกไป สิ่งที่ค้นพบคือยอดขายคอนโดฯแทบไม่ได้เติบโตในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2559-2560)

ในขณะที่ปีหน้าต้องเผชิญกับมาตรการแบงก์ชาติบังคับเพิ่มเงินดาวน์ ปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ต้นทุนราคาที่ดินทำเลในเมืองปรับเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดอยู่ที่ปีละ 15-20-25% เทียบกับทำเลชานเมืองสำหรับทำแนวราบ ขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-5%

ประเด็นที่มองต่างมุม คือ แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น “ไตรเตชะ” นำเสนอสถิติ 13 ปี (2548-2560) เพื่อหาความสัมพันธ์ของยอดขายกับอัตราดอกเบี้ยพบว่า อัตราดอกเบี้ย MRR ซึ่งเป็นดอกเบี้ยผ่อนบ้านของผู้กู้รายย่อย มีผลน้อยมากต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

กล่าวคือช่วงดอกเบี้ยต่ำในปี 2548 อยู่ที่ 6% กว่ายอดขายก็ไม่ได้ขายดีผิดสังเกต ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2555-2556 การซื้อโครงการก็ทะลักเพราะเพิ่งหลุดพ้นจากปีน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และในปี 2553 ยอดขายสูงจนสวนกลางกับอัตราดอกเบี้ยอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลเพราะเป็นปีที่รัฐบาลมีการประกาศลงทุนสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่จำนวนมาก

“realestate outlook ปีหน้าบอกยาก มีตัวเดียวที่ผมเห็นว่าเป็นปัจจัยบวก คือ รถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังสร้าง กับตลาดทาวน์เฮาส์ในแนวรถไฟฟ้าสายใหม่”

หวั่นแนวราบเหนื่อย

ประเด็นที่เอ็มดี ศุภาลัยเป็นห่วงคือ มาตรการสกัดฟองสบู่ของแบงก์ชาติ มีการควบคุมที่อยู่อาศัยแนวราบ (บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์) เทียบเท่าคอนโดฯ ในขณะที่พฤติกรรมการซื้อแนวราบเป็นลูกค้าเรียลดีมานด์ แตกต่างกับสินค้าคอนโดฯที่มีลูกค้าซื้อเก็งกำไร

“จะมีกลยุทธ์อะไรของบ้านแนวราบมารองรับมาตรการแบงก์ชาติ ปรับตัวรองรับไม่ได้ เดิมให้ดาวน์ซื้อบ้าน 5% มาตรการใหม่บังคับเพิ่มเป็น 20% เคยดาวน์ล้านละ 5 หมื่น เพิ่มเป็นดาวน์ล้านละ 2 แสนบาท ผมยกตัวอย่างบ้านราคา 5 ล้าน ผู้ซื้อต้องมีรายได้เดือนละ 6-8 หมื่นบาท ถ้าดาวน์ 20% เท่ากับต้องมีเงินดาวน์ 1 ล้าน ใช้เวลาสร้างอย่างมาก 6-8 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 1 แสนกว่าบาท เป็นไปไม่ได้ที่ลูกค้าจะจ่ายดาวน์สูงขนาดนี้”

แนวโน้มทำให้มาตรการสกัดฟองสบู่ของแบงก์ชาติ อาจกลายเป็นการสกัดความอยู่รอดของผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก ที่สายป่านไม่ยาว ซึ่งปกติเสียเปรียบรายใหญ่อยู่แล้ว ทั้งด้านเงินทุนแลนด์แบงก์ ฯลฯ และอาจต้องหดตัวลงหรือหายไปจากตลาด

“สิ่งที่ผมแชร์มุมมองปีหน้าอาจยากลำบาก แต่มาตรการ LTV ของแบงก์ชาติกระทบกับส่วนแบ่งตลาดที่เป็นส่วนน้อย 10% กว่า กลยุทธ์ของศุภาลัยจึงมองว่าไม่เป็นปัญหากับการเติบโตยอดขายกับรายได้ แต่มองเป็นโอกาส เพราะเราโฟกัสอยู่กับลูกค้าบ้านหลังแรกเป็นหลัก ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของตลาด”

มิกซ์ยูสฉ่ำ 4 ล้านตารางเมตร

ถึงคิวของมิกซ์ยูสโปรเจ็กต์ “ธนพล ศิริธนชัย” ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ เปิดประเด็นด้วยดาต้าเบสแนวโน้มทำเลถนนพระราม 4 อยู่ระหว่างลงทุนโครงการมิกซ์ยูสกว่า 4 ล้านตารางเมตร

จุดสังเกตเป็นการลงทุนมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ วัน แบ็งคอก 1.25 แสนล้านบาท, เดอะปาร์ก 2 หมื่นล้านบาท, สามย่านมิตรทาวน์ 8,500 ล้านบาท, เดอะฟอเรสเทียส์ 9 หมื่นล้านบาท, วิสซ์ดอม 101 3.5 หมื่นล้านบาท, สินธร หลังสวน 2.6 หมื่นล้านบาท, ไอคอนสยาม 5.4 หมื่นล้านบาท, ดุสิต+เซ็นทรัล 3.7 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

“มิกซ์ยูสคือโครงการที่มีส่วนประกอบของอาคารที่มีความแตกต่างกันมาอยู่รวมกัน เช่น ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน, ค้าปลีก, โรงแรม, พิพิธภัณฑ์ หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยส่วนใดส่วนหนึ่งต้องไม่เกิน 60% เพราะพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยถ้ารวมกันอย่างลงตัวจะได้ประโยชน์ใช้สอยสูงสุด”

เทรนด์ที่กดดันให้หันมาลงทุนมิกซ์ยูสมากขึ้น มาจาก 3 L 1.land price-ราคาที่ดินแพงใจกลางเมือง ผู้ซื้อก็เริ่มไม่คุ้ม ผู้ขายก็เริ่มเสียดาย จึงออกมาในรูปแบบการเช่าทำมิกซ์ยูสมากขึ้น 2.land right-กรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำเลในเมืองเริ่มหายาก ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นที่ดินรัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ให้เช่าระยะยาว 30-60 ปี

3.land size-ขนาดของที่ดิน ในอดีตพัฒนาบนพื้นที่ 2-5 ไร่ แต่วันนี้ 20-50-100 ไร่ ล่าสุดบริเวณท่าเรือที่เตรียมประมูลที่ดิน 260 ไร่ ทำให้ผลักดันเกิดการพัฒนามิกซ์ยูส เป็นเทรนด์ของมหานครต่าง ๆ ในโลกนี้ที่เกิดขึ้น

รองรับผู้บริโภคเจน Y

จุดโฟกัสของมิกซ์ยูสดูเหมือนปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นเจน Y (เกิดปี 1980-2000 หรือปี 2523-2543) หรือยุคมิลเลนเนียม สถิติทั่วโลกประชากร 7,000 ล้านคน แบ่งเจน Y 2,000 ล้านคน, ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก 3.2 พันล้านคน เป็นกลุ่มเจน Y ครึ่งหนึ่ง, ฝังตัวอยู่ในการใช้ LINE ถึง 75% เทรนด์เด่น คือ เป็นกลุ่มคนทำงานหลักภายในปี 2563 และภายในปี 2571 จะเป็นกลุ่มคนทำงานหลักสัดส่วน 75% ซึ่งหมายถึงเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลักของโลก

“เจน Y หรือคนมิลเลนเนียล ไลฟ์สไตล์ประเมินสัดส่วน 75% บอกว่า คนรุ่นใหม่ต้องการทำงานอิสระ เลือกทำงานเวลาไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ work life balance”

สูตรการทำมิกซ์ยูสให้สำเร็จ ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอย่างอื่นมากกว่าตัวโปรดักต์ โดยเทรนด์เมืองนอกทั่วโลกไม่ว่าโตเกียว นิวยอร์ก ให้ความสำคัญ 3Cs placemaking 1.communal ต้องมี public space ซึ่งนักพัฒนารุ่นใหม่คำนึงถึงชุมชน เช่น ไอคอนสยามที่เพิ่งเปิดตัวบริเวณด้านหน้าเป็นหมื่นตารางเมตร จัดไว้ให้คนได้เดินเล่น พักผ่อน ทำกิจกรรม, โครงการ One Bangkok มี 50 ไร่ที่เปิดเป็น public space

“ในสิงคโปร์ เขามีกฎด้วยซ้ำไปในการออกแบบว่าในหนึ่งอาคาร 1 ดีเวลอปเมนต์ ควรมีที่สำหรับชุมชนสามารถมาใช้ทำกิจกรรมจัดคอมมิวนิตี้เซอร์วิส หรือใช้ประโยชน์เพื่อทางราชการได้ ให้เอกชนมีบทบาทส่งเสริมในเรื่องนี้”

2.conserve ต้องมีการลงทุนเรื่องสิ่งแวดล้อม บริหารตึกอาคารยังไงให้มีความยั่งยืน ลดการใช้พลังงาน ดูแล public space less maintenance 3.cultural ยากที่สุด การใส่วัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์เข้าไปในการดีไซน์โครงการ

QH โตด้วยคุณภาพ

“ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ประเมินแนวโน้มปีหน้าก็คงกังวลเรื่องมาตรการแบงก์ชาติ และภาพรวมเศรษฐกิจด้วย

“เราก็มองว่า…อาจกระทบกับเรานิดหน่อย ไม่ได้รุนแรงอะไร แต่สุดท้ายผู้บริโภคต้องปรับตัว ปริมาณของบ้านเกิน 10 ล้านจะโดน LTV สูงขึ้น แต่ลูกค้าเป็นคนมีตังค์ระดับหนึ่ง ไม่ใช่คนจน ผมก็ไม่ได้กังวลมาก และผมมองว่าช่วยให้เราดูลูกค้าได้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่ลูกค้ามาจองบ้าน สุดท้าย (สินเชื่อ) ไม่ผ่าน เสียเวลาไป 1 เดือน”

แผนธุรกิจปี 2562 วางแผนเปิดตัวใหม่ 12 โครงการ ต้อง growth เทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายลดแต่กำไรเพิ่ม

ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ของคิวเฮ้าส์ แบ่งตามประเภทสินค้าพบว่า ก่อนปี 2549 รายได้ตลาดบ้านหรู 100%, ช่วงปี 2549-2552 เริ่มทำทาวน์เฮาส์มีสัดส่วน 5% และช่วงปี 2553-ปัจจุบันที่เริ่มมีการทำคอนโดฯมากขึ้น สัดส่วน 25% โดยบ้านเดี่ยวยังเป็นรายได้หลัก 50% ทาวน์เฮาส์ 25%

หากแบ่งตามเซ็กเมนต์พบว่า ก่อนปี 2549 รายได้หลักมาจากตลาดบน, ช่วงปี 2549-2552 เริ่มเกลี่ยลงมาตลาดระดับกลาง สัดส่วน 45% ตลาดบน 55% และปี 2553-ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้มาจากตลาดบน 30% ตลาดกลาง 40% กับเกลี่ยลงมาเซ็กเมนต์ตลาดล่าง 30%

แสดงให้เห็น S-curves ของคิวเฮ้าส์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด “…คิวเฮ้าส์ทำเพื่ออะไร เราทำเพื่อบ้านที่มีคุณภาพ คือคำว่าควอลิตี้เฮ้าส์”

ดีไซน์อนาคตสไตล์ชัชชาติ”ดร.ชัชชาติ” มี 5 แนวคิดมาฝาก 1.ต้องถามตัวเองว่าเรายังมีความหมายอยู่ไหม ? (Are you still relevant ?) ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2573 คนไทยจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีถึง 6 ล้านคน และพอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังทำนายว่า เทคโนโลยีทำให้จีดีพีโตขึ้น แต่กระจุกตัวเฉพาะคนที่อยู่ด้านบน ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยี

2.เราเข้าใจอนาคตมากแค่ไหน รูปแบบธุรกิจมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะมีธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจจะมา disrupt มาแข่งขันด้วย ในส่วนอสังหาริมทรัพย์ เราต้องรับมือกับพลังของผู้บริโภคที่พร้อมจะร้องเรียนได้ตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องทำของที่มีคุณภาพ

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว จงหลงรักวิธีการไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ อย่างคิวเฮ้าส์แต่เดิมเราทำบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดฯ เราไปตามที่ผู้บริโภคต้องการ ขณะเดียวกัน เราก็ไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่อสังหาฯ เช่น โฮมโปร และ LH Bank เราต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย”

3.รู้จักรูปแบบใหม่ทางธุรกิจ หลายคนรู้สึกว่าเราถูกเทคโนโลยี disrupt จนธุรกิจล่มสลาย แต่มองว่ารูปแบบธุรกิจ (business model) ต่างหากที่ดิสรัปต์ธุรกิจเรา ดังนั้น อย่ากังวลเทคโนโลยีมากแต่ให้กลับมาดูโมเดลทางธุรกิจของตัวเองก่อน

4.คิดแบบ design thinking ถือเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบอนาคต หลักคิดง่าย ๆ คือ การสร้างนวัตกรรมโดยเอาคนคือลูกค้าและพนักงานเป็นศูนย์กลาง มี 5 ขั้นตอน คือ เข้าใจผู้ใช้ (empathize), ระบุโจทย์ (define), หาคำตอบ (ideate), ทำแบบจำลอง (prototype) และทดสอบ (test)

และ 5.เข้าใจถึงจิตใจของผู้อื่น การเข้าใจจิตใจคนอื่นจะทำให้เราสงบลง และอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น และถ้าเราไม่เข้าใจคนอื่นก็จะออกแบบอนาคตได้ยาก

แสนสิริ Quality of Life

“นพปฎล พหลโยธิน” ประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อนาคตธุรกิจอสังหาฯมองเห็นแนวทางได้ 2 อย่าง คือ เทคโนโลยีกับโกลบอลไลเซชั่น

ในด้าน “เทคโนโลยี” สิ่งแรกที่เห็นชัดเจนนึกถึงสมาร์ทโฟน ประชากรไทย 69 ล้านคน อาศัยอยู่ในตัวเมืองเกิน 50% ใช้อินเทอร์เน็ต 4 ใน 5 คน ใช้โมบายเฉลี่ย 80% ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อคน 10 ชั่วโมงต่อวัน พฤติกรรมทุกอย่างของคนในยุคปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่กับสมาร์ทโฟน

ส่วน “โกลบอลไลเซชั่น” สถิติมากกว่า 50% ของประชากรอาศัยอยู่ในเมือง มองภาพในกรุงเทพฯ พื้นที่โซนสิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น แนวโน้มในเรื่องความต้องการหรือดีมานด์ไม่เคยลดลง ไม่ว่าจะผ่านไป 5-10 ปี แต่พื้นที่ในการปลูกสร้างเริ่มน้อยลง ฉะนั้น ไซซิ่งลดลงตามไปด้วย ห้องชุดเคยมี 45-50 ตารางเมตร เหลือเพียง 20-26 ตารางเมตร

สิ่งสำคัญคือเมื่อพื้นที่ลดลง จะทำอย่างไรให้คุณภาพการอยู่อาศัยไม่ลดลงในฐานะต้นแบบสิ่งที่แสนสิริใส่ให้กับโครงการมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคัดทำเลอยู่ใกล้หรือติดสถานีรถไฟฟ้า, การสร้างคอมมิวนิตี้มอลล์ภายในโครงการ พัฒนามิกซ์ยูสเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้าน มีรถรับส่ง บริการสปา พัฒนาไปสู่คอนเซ็ปต์ของ products provider ร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพเกิดใหม่ เพื่อตอบโจทย์การให้บริการในบ้านและคอนโดฯ

ตัวอย่างเด่นชัด “แสนดี” หุ่นยนต์ที่นำไปใช้กับรูมเซอร์วิส ส่งพัสดุถึงหน้าประตู เปิดลิฟต์ได้, ในด้านบริการหลังการขายมีช่องทางสื่อสารผ่านแสนสิริโฮมเซอร์วิสแอป ล่าสุดเทรนด์คือ wellness living สำหรับคนที่ต้องการดูแลสุขภาพ รองรับเทรนด์ซีเนียร์ลิฟวิ่ง ฯลฯ

“Quality of Life ไม่ได้จบที่สร้างบ้านที่ดีที่สุด สวยที่สุด ใช้วัสดุดีที่สุด แต่คือการดูแลตั้งแต่คนรอบตัว และคนที่จะเข้ามา ทุกช่วงเวลา”

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!