โคเวิร์กกิ้ง-ออฟฟิศเกรดAเทรนด์ปี”62 ใสปิ๊ง

นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ เปิดเผยว่า เทรนด์สำนักงานให้เช่า coworking office กำลังนิยม สถิติปี 2561 เติบโตจากปี 2560 ถึง 50% บนพื้นที่ 100,000 ตารางเมตร คิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของตลาดสำนักงานให้เช่าแบบดั้งเดิม แนวโน้มปี 2562 มีผู้ประกอบการหลายรายขยายพื้นที่เพิ่ม 30,000 ตารางเมตร เติบโต 40%

“เน็กซัสฯ เพิ่งปิดดีลเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่แห่งใหม่ 3 ราย ขนาดพื้นที่ 4,000-8,000 ตารางเมตร”

ด้านค่าเช่า มีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท/คน/เดือน ปัจจุบันมี 70 แห่งทั่วกรุงเทพฯ จาก 30 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยรายใหญ่ คือ รีจัส วีเวิร์ค จัสโค และสเปสเซส เป็นต้น กลุ่มนี้มองหาพื้นที่เช่าในอาคารสำนักงานเกรดเอ ตามแนวรถไฟฟ้า พื้นที่ 2,000-8,000 ตารางเมตร

จุดเด่น coworking office เป็นรูปแบบบริการทันสมัย เข้าใจไลฟ์สไตล์พนักงานยุคมิลเลนเนียลที่ต้องการความคล่องตัว มีบรรยากาศการทำงานผ่อนคลาย เช่าระยะสั้นได้จึงเหมาะกับบริษัทสตาร์ตอัพ เลือกใช้บริการได้หลายสาขา คาดว่าอาคารสำนักงานให้เช่าเกรดเอในกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่รองรับ coworking office 10% ในทุก ๆ อาคาร

ด้านนายมาร์คัส เบอร์เทนชอว์ กรรมการบริหาร บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอาคารสำนักงาน ณ ไตรมาส 4/61 มีซัพพลายใหม่เพิ่มขึ้น 1,190 ตารางเมตร ส่งผลให้มีพื้นที่รวม 4,953,636 ตารางเมตรโดยมีอัตราการใช้ในปี 2561 อยู่ที่ 332,810 ตารางเมตร เพิ่ม 7% แบ่งเป็นสำนักงานเกรด B 222,790 ตารางเมตร สำนักงานเกรด A อัตราการใช้ลดลงไปอยู่ที่ 40,313 ตารางเมตร และเกรด C อยู่ที่ 69,706 ตารางเมตรแนวโน้มปี 2562 มีซัพพลายใหม่ 5 แห่งเข้าสู่ตลาด 208,609 ตารางเมตร ซึ่ง 3 แห่งมีพื้นที่รวม 133,000 ตารางเมตร

ทำเลอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ อีก 2 แห่ง 75,609 ตารางเมตร อยู่นอกซีบีดีในด้านค่าเช่า ไตรมาส 4/61 เดิม 745 บาท/ตารางเมตร/เดือน ขึ้นไปที่ 765 บาท เติบโต 2.6% เทียบรายไตรมาส และเติบโต 6.8% โดยอาคารเกรด A ปรับขึ้นไปที่ 1,083 บาท/ตารางเมตร/เดือน เกรด B ค่าเช่าปรับเพิ่มเป็น 787 บาท และเกรด C เพิ่มเป็น 494 บาท

“ค่าเช่าทำเลถนนวิทยุสูงที่สุด 1,120 บาท/ตารางเมตร/เดือน โต 27%”


สำหรับแนวโน้มปี 2562 มีซัพพลายใหม่เปิดบริการเพิ่ม 2 แสนตารางเมตร รองรับดีมานด์ที่มีสูงต่อเนื่อง ในด้านค่าเช่ายังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ขึ้นราคาได้ช้าลง จากซัพพลายที่เพิ่ม2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2561