ยื้อเจรจาเงินกู้รถไฟไทย-จีน คมนาคมโยน‘บิ๊กตู่’ต่อรอง‘หลี่เค่อเฉียง’ เวทีอาเซียนซัมมิต

คมนาคมโยน “บิ๊กตู่” เจรจา “หลี่ เค่อเฉียง” กลางวงอาเซียนซัมมิต สางปมสกุลเงินกู้รถไฟไทย-จีน ไทยยืนกรานใช้ “เงินบาท” ดอกเบี้ย 3% วงเงิน 5 หมื่นล้าน จีนตั้งเงื่อนไขเปิดประมูลนานาชาติ จ่ายคืนเป็นดอลลาร์ แก้เกมขาดทุนค่าเงิน 3 พันล้าน คลังยันกู้ในประเทศดอกเบี้ยแค่ 2% 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการและกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวภายหลังประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 62 ว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย. 62 นายหลี เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน มีกำหนดการเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือความก้าวหน้าและ
หาข้อสรุปอุปสรรคและข้อปัญหาโครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ครม.เศรษฐกิจได้ประชุมพิจารณาความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เนื่องจากติดปัญหาการขอกู้เงินจะเป็นสกุลเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ ในงานสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร จะต้องเซ็นสัญญากับจีน ในการประชุมอาเซียนซัมมิต ระหว่างวันที่ 4-5 พ.ย.นี้ แต่ตามขั้นตอนต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้น 12,075.12 ล้านบาท จากเดิม ครม.อนุมัติไว้ 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท

ข้อเสนอในวาระพิจารณาระบุว่า ถ้าใข้เงินกู้ chaina EXIM สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 85 % จะทำให้ดอกเบี้ยสูง และล่าช้า แต่ถ้าใช้เงินบาทกู้ในประเทศ ดอกเบี้ยต่ำและบรรลุผลง่าย แต่จะเสี่ยงต่อการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

“การเจรจาระหว่างไทย-จีน 27 ครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายไทยไม่เคยระบุจะกู้เงินจากจีน และย้ำตลอดจะใช้เงินกู้ในประเทศ และเป็นสกุลเงินบาท แต่ฝ่ายจีนโดยได้เสนอเงินกู้จาก CHINA EXIM ดอกเบี้ย 3%”

โดยมีเงื่อนไขให้ไทยกู้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อจ่ายคืนให้จีน และเป็นอัตรา ณ วันที่เซ็นสัญญา เพราะหากกู้เป็นเงินบาท จีนจะขาดทุน 3,000 ล้านบาท แต่ฝ่ายไทยพิจารณาแล้ว ต้นทุนดอกเบี้ยยังสูงกว่าดอกเบี้ยกู้เงินในประเทศ ที่สำคัญ หากกู้จีนจะตั้งเงื่อนไขให้เปิดประมูลแบบอินเตอร์บิดดิ้ง หรือนานาชาติ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) มาแต่ต้น และความเสี่ยงเรื่องการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงของ CRDC ไม่ใช่ของฝ่ายไทยแต่อย่างใด

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับวงเงินที่เพิ่มขึ้นเป็น 50,633.50 ล้านบาท มาจากงานโยธา การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเป็นรุ่น Fuxing Hao การเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทางเป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง และอื่น ๆ เช่น ค่าประกันพัสดุจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบพัสดุฯของไทย ค่าประสานงาน และค่าดำเนินการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การกู้เงินลงทุนในประเทศเป็นแหล่งเงินที่ต้นทุนถูกที่สุด เนื่องจากทางเอ็กซิมแบงก์ของจีนยังยืนยันให้กู้ที่อัตราดอกเบี้ย 3% ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อสวอปมาเป็นเงินบาทแล้ว แพงกว่าการกู้ในประเทศ

“กระทรวงการคลังตั้งวงเงินกู้สำหรับรถไฟไทย-จีนไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2563 ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้ในประเทศ แต่ถ้ากระทรวงคมนาคมเจรจา แล้วเปลี่ยนเป็นกู้ต่างประเทศ ก็ต้องปรับแผนก่อหนี้เป็นกู้ต่างประเทศด้วย” แหล่งข่าวกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันภาพรวมความก้าวหน้าของรถไฟไทย-จีน ในส่วนของงานโยธา 14 สัญญา ตอน 1 ระยะทาง 3.5 กม. กลางดง-ปางอโศก มีความก้าวหน้า 70% จะแล้วเสร็จใน มี.ค. 2563 และตอน 2 ระยะทาง
11 กม. ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก เริ่มงานเมื่อพ.ค.ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้า 5.38% ส่วนที่เหลือรออนุมัติผลประมูลและเปิดประมูลก่อสร้าง จะให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เริ่มสร้างในปี 2563 เต็มทั้งโครงการ มีกำหนดเสร็จในปี 2566 เปิดบริการในปี 2567