“ประยุทธ์” โยน “ศักดิ์สยาม” สางเผือกร้อนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศาลนัดไต่สวน14ต.ค.

นายกฯประยุทธ์

“นายกฯประยุทธ์”โยนเผือกร้อนรถไฟฟ้าสายสีส้ม”บางขุนนนท์-มีนบุรี”เปิดให้เอกชนร่วม PPP ชิงเค้ก 1.28 แสนล้าน ให้ “ศักดิ์สยาม”เคลียร์ ชี้ไม่กระทบเชื่อมั่นลงทุน ด้าน รฟม.-บีทีเอส ลั่นกลองรบจับมือขึ้นศาลนัดแรก 14 ต.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจรับมอบรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู-เหลือง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กรณีการเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาใน TOR ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินรวมงานอาณัติสัญญาณ 142,789 ล้านบาท ให้เป็นเรื่องของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง

“ถ้ามีปัญหาก็เอาหลักฐานและข้อมูลที่มีไปชี้แจงแล้วกัน เพราะสั่งอะไรไม่ได้”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อห่วงใยอะไรหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ตอบว่า ห่วงเรื่องก่อสร้างล่าช้า แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ส่วนจะกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนโครงการใหญ่หรือไม่ ก็อยู่ที่ผู้สื่อข่าว ต้องฟังคำชี้แจง ถ้าชี้แจงได้ก็จบก็ช่วยกัน ถ้ามีการรับผลประโยชน์ก็แจ้งมา และต้องดูผลประโยชน์ประชาชนด้วย

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ได้รับเอกสารคำฟ้องหลักจากบมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง แล้ว ส่วนการเรียกไต่สวนครั้งแรกวันที่ 14 ต.ค. 2563 นี้ ส่วนตัวยังไม่ทราบ แต่หากนัดหมายวันดังกล่าวจริงๆ รฟม.ก็พร้อมจะชี้แจง ตามที่ได้เคยแถลงไปเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา

“ยืนยันว่าทุกอย่างทำตามกฎหมายหลักและกฎหมายลูกอย่างถูกต้อง ทั้งพ.ร.บ.ร่วมทุน 2562, ประกาศ RFP  และกฎหมายประกาศคณะกรรมการ PPP ส่วนประสบการณ์การก่อสร้างก็ไม่ได้เขียนเน้นว่าต้องเคยก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และกำหนดให้คะแนนผู้ประกอบการไทยมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นแต่อย่างใด” นายภคพงศ์กล่าว

ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ( BTS) กล่าวว่า ได้เตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงในนัดไต่สวนนัดแรกวันที่ 14 ต.ค. 2563 แล้ว และได้ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวด้วย โดยคาดว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาก่อนวันยื่นซองประมูล 9 พ.ย. 2563 นี้คาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังนัดไต่สวนครั้งแรก

โดยยืนยันว่ากระบวนการเปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกโดยใข้คะแนนด้านเทคนิคพ่วงเข้ามาด้วย เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แถมใน RFP มีการระบุว่า หากเป็นผู้ประกอบการชาวไทยที่มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างอุโมงค์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ จึงเห็นว่าการระบุเงื่อนไขและการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม

ทั้งนี้ หากศาลไม่คุ้มครองและให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเดิม กลุ่มบีทีเอสก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการตามเดิม เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ของบริษัท