ธุรกิจอสังหาลุ้นรัฐจบโควิด 2 เดือน นับหนึ่งหวังโอกาสตลาดฟื้น

อสังหา-โควิด

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์เครือ LPN เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ได้ปรับคาดการณ์ใหม่ในปี 2564 ใหม่ เพื่อสะท้อนความเป็นจริง

จากปลายปี 2563 ประเมินว่าปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโต 3-5% มีเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่ม 10% ล่าสุดประเมินใหม่ โดยแบ่ง 3 สถานการณ์ ตั้งแต่ตลาดติดลบ 3% จนถึงเติบโต 10%

กรณี best case รัฐควบคุมได้เร็วในปลายกุมภาพันธ์ วัคซีนเข้าถึง 50% ของประชากรไทยในปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 4-5% ทำให้มูลค่าเปิดตัวใหม่ 13-15% หน่วยเปิดตัวใหม่ขยายตัว 9-10% เนื่องจากผู้ประกอบการระบายหน่วยคงค้างได้จำนวนมาก

ด้านกำลังซื้อ คาดว่าจะฟื้นตัวในปลายไตรมาส 1/64 มีอัตราระบาย 6,500 หน่วย/เดือน หรือขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

กรณี base case รัฐควบคุมโควิดได้ในเมษายน 2564 คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 2-3% มูลค่าเปิดตัวใหม่เพิ่ม 5-6% หน่วยเปิดตัวใหม่เพิ่ม 7-9% และกำลังซื้อฟื้นตัวตั้งแต่กลางปี อัตราระบายสต๊อก 6,000-6,300 หน่วย/เดือน ขยายตัว 0-5%

กรณี worst case รัฐควบคุมสถานการณ์ได้หลังไตรมาส 2/64 จะทำให้เศรษฐกิจไทยทรงตัวหรือเติบโตต่ำกว่า 2% ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ ทั้งเปิดตัวโครงการใหม่และกำลังซื้อ

คาดว่ามูลค่าโครงการเปิดตัวใหม่จะติดลบต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ 15-18% จำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่จะติดลบ 8-12% จากความเชื่อมั่นที่ลดลงของผู้ประกอบการในด้านอุปสงค์ อัตราระบายสต๊อกลดลง 3-5% เฉลี่ย 5,700-5,800 หน่วย/เดือน

นายประพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า เขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2563 มียอดเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง 37% หรือจากปี 2562 เปิดตัวใหม่ 111,000 หน่วย มูลค่า 448,000 ล้านบาท ลดเหลือ 70,000 หน่วย มูลค่า 276,000 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดส่งผลให้ชะลอเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 2/63 และเน้นเปิดขายแนวราบ ชะลอคอนโดมิเนียม

โดยปี 2562 บ้านแนวราบเปิดตัวใหม่ 42% ของตลาดรวม ขณะที่ปี 2563 เพิ่มเป็น 63% จาก 44,001 หน่วย มูลค่า 205,578 ล้านบาท ติดลบ 4% จากปี 2562

คอนโดมิเนียมปี 2563 มีจำนวนหน่วย เปิดตัว -60% มูลค่าเปิดตัว -70% จากปี 2562 เปิดตัว 64,639 หน่วย ลดเหลือ 26,125 หน่วยในปี 2563 โดยดีเวลอปเปอร์เน้นระบายหน่วยคงค้างในตลาด 94,000 หน่วย และชะลอเปิดคอนโดฯใหม่

ด้านกำลังซื้อปี 2563 มีอัตราการขายได้ 6,000หน่วย/เดือน ติดลบ 25% เหตุผลที่ทำให้กำลังซื้อปี 2563 ลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ลดลงมาก เป็นผลจากการเร่งระบายสต๊อกโดยใช้กลยุทธ์สงครามราคา

“การที่รัฐบาลไม่ประกาศปิดประเทศ (lockdown) เหมือนการแพร่ระบาดช่วงไตรมาส 2/63 ทำให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจได้ รักษาการจ้างงานไว้ได้บางส่วน ประกอบกับมาตรการรัฐที่ต่ออายุลดค่าโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี รวมทั้งเทรนด์ดอกเบี้ยมีแนวโน้มต่ำ จะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ เมื่อ COVID-19 คลี่คลาย”