“คมนาคมยูไนเต็ด” ตั้งโต๊ะแจงปม “ค่าโง่โฮปเวลล์” ดิ้นยื่นสู้ทุกทาง

“คมนาคมยูไนเต็ด”ตั้งโต๊ะแจงปม”โฮปเวลล์” ชี้ยื่นสู้ 2 ทางทั้ง”ปกป้องผลประโยชน์รัฐ-เอาผิดละเมิด” ดิ้นยื่นทั้ง”ศาลปกครอง-ผู้ตรวจฯ-ศาลรธน.-ดีเอสไอ-ป.ป.ช.” หวังคดีถูกรื้อมาพิจารณาใหม่ ด้านเอาผิดทางละเมิดตั้งคณะกรรมการแล้ว โต้ฝ่ายค้านคดียังไม่นับอายุความ

เมื่อ‪เวลา 16.45 น.‬ วันที่ 16 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา เกียกกาย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย แถลงชี้แจงกรณีการดำเนินการที่เกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์ โดยนำคณะผู้บริหารของกระทรวงคมนาคมมาร่วมชี้แจงถึฃประเด็นดังกล่าวด้วย

อาทิ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) , นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมด้วย

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชี้แจงว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาเมื่อเดือน เม.ย. 2562 ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการในลักษณะคู่ขนาน 2 แนวทาง ประกอบด้วย

ดิ้นยื่นสู้ทุกทาง

1. การที่ศาลปกครองสูงสุดให้กระทรวงและร.ฟ.ท.ชำระค่าชดเชยตามที่อนุญาโตตุลาการนั้น ทางคณะทำงานเห็นว่ายังมีช่องทางและข้อกฎหมายในการต่อสู้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งทำทุกทาง ไม่ได้นิ่งนอนใจ

โดยกระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานต่อสู้คดีขึ้นมา เพื่อบอกว่าคำพิพากษานั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งคณะทำงานจะสู้อย่างถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ว่าคำพิพากษาออกมาถูกต้องหรือไม่ มีกลไกอื่นในการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐหรือไม่ และได้ขอศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ด้วย แต่ศาลปกครองไม่ได้รับฟ้อง

ประเด็นถัดมา ร.ฟ.ท.มีข้อสงสัยถึงการจดทะเบียนของบริษัทที่มารับสัมปทานโครงการนี้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งได้นำไปสู่การพิจารณาของศาลปกครองกลางแล้ว

อีกเรื่องคือ การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาจะบังคับได้แน่ชัดหรือไม่ และขัดกับกฎหมายอื่นๆในปัจจุบันหรือไม่ จึงได้ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว

และอีกเรื่องที่คู่ขนานกันไปคือ กระบวนการในอดีตต่างๆ ได้ยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ช่วยดูเรื่องนี้ ซึ่งล่าสุดดีเอสไอได้ส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว เพราะไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของดีเอสไอ

สอบหาคนทำละเมิด

ขณะที่การเรียกร้องทางแพ่ง จริงๆแล้วจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดถือว่าถึงที่สุดแล้วในทางทฤษฎี และเหตุละเมิดเกิดขึ้นแล้ว แต่ต้องหาข้อเท็จจริงก่อนว่า เหตุเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ หากเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องไปสอบกันอีกว่า ใครเป็นต้นเหตุแห่งการละเมิด ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว และดำเนินการอย่างครบถ้วนและถูกต้องตามขั้นตอนแน่นอน

โต้ฝ่ายค้านยังไม่นับอายุความ

ส่วนประเด็นอายุความตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ต้องดูมาตรา 9 และ 10 ของพ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบก่อน โดยมาตรา 9 ระบุว่า ”  ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนให้มีกำหนดอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย” ดังนั้น อายุความยังไม่เริ่มนับ เพราะยังไม่จ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด และมาตรานี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ส่วนมาตรา 10 วรรค 2 ระบุว่า   กรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ และเกิดเหตุละเมิดจริง อายุความจะนับใน 2 องค์ประกอบ 1. สืบพบว่าเข้าหน้าที่รัฐทำละเมิด และ 2. สืบพบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิเการละเมิด จึงเริ่มนับอายุความ 2 ปี ดังนั้น การที่ฝ่ายค้านบอกว่า คดีนี้จะหมดอายุความจึงไม่จริง