เวนคืน 3 หมื่นล้านสร้างรถไฟฟ้า กดปุ่มประมูลสายสีส้ม-สีม่วงใต้ 2 แสนล้าน

กดปุ่มประมูลสายสีส้ม-สีม่วงใต้2แสนล้าน

รฟม.เตรียมเวนคืนที่ดินกลางเมือง เขตพระนคร ฝั่งธนบุรี 3 หมื่นล้าน สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” และสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” กลางปีนี้กดปุ่มประมูล PPP รอบสองสายสีส้ม วงเงิน 1.28 แสนล้าน ทั้งก่อสร้าง รับสัมปทานเดินรถ 30 ปี ส่วนสีม่วงแบ่ง 6 สัญญา คาดตอกเข็มพร้อมกันสิ้นปีนี้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.จะเร่งเวนคืนที่ดินและเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มบางขุนนนท์-มีนบุรีและสายสีม่วงใต้เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 243,712 ล้านบาท ให้เริ่มการก่อสร้างในปี 2564 ขณะนี้สายสีส้มกำลังจะเปิดประมูลใหม่ หลังยกเลิกวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชนจัดทำร่างทีโออาร์เสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 พิจารณาสิ้น มี.ค.นี้ คาดว่าเปิดขายซอง เม.ย. ยื่นประมูล มิ.ย.-ก.ค. ได้เอกชนและเซ็นสัญญา ส.ค.-ก.ย.นี้

“รายละเอียดรับฟังข้อคิดเห็นเอกชน ยังไม่ใช่ทีโออาร์ เป็นข้อมูลประกอบจัดทำร่างทีโออาร์เท่านั้น โดยจะให้ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง คุณสมบัติ เทคนิค การเงินและผลตอบแทน และข้อเสนออื่น ๆ การพิจารณาเมื่อเปิดซองคุณสมบัติ หากผ่านจะพิจารณาซองเทคนิค 30% ร่วมการเงิน 70% แต่ยังไม่ได้กำหนดจะเลือกเกณฑ์นี้ รอฟังการวิจารณ์จากเอกชน จะให้เดินหน้าตามนี้หรือไม่ แม้ว่าจะได้เอกชนผู้ชนะ แต่การเซ็นสัญญาขึ้นอยู่กับรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการผู้ชำนาญการอนุมัติ เมื่อผ่านแล้วถึงเดินหน้าคู่ขนานกับการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน”

ทั้งนี้สายสีส้ม รฟม.เปิดให้เอกชนร่วม PPP net cost 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท สร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม เป็นงานใต้ดินตลอดสาย จัดหาระบบ เก็บค่าโดยสาร รับสัมปทานเดินรถและบำรุงรักษาโครงการตลอดสายบางขุนนนท์-มีนบุรี โดยรัฐจะเวนคืนให้ 14,611 ล้านบาท มีพื้นที่ 505 แปลง หรือ 41 ไร่ 1 งาน 96 ตร.ว. รวม 331 หลัง สนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท

ส่วนสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ รฟม.ก่อสร้างวันที่ 25 ก.ค. 2560 กรอบวงเงิน 101,112 ล้านบาท อาทิ ค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท ค่างานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท จะมีเวนคืน 410 แปลง หรือ 102 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 267 หลัง

รูปแบบโครงการเป็นโครงสร้างใต้ดิน 12.6 กม. และยกระดับ 11 กม. ซึ่งได้รับอนุมัติ EIA แล้ว รอสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้าง ล่าสุด รฟม.เข้าสำรวจเวนคืนให้ได้จำนวนแปลงที่ดินและค่าทดแทนที่ชัดเจน ตามแนวถนนสามเสน พระสุเมรุ และมหาไชย มีตลาดศรีย่าน ชุมชนบ้านกล้วย โรงพิมพ์สำนักเลขาฯ ครม. แยกผ่านฟ้า สามยอด จะเร่งให้เสร็จ 2 เดือน คาดว่าเริ่มประมูล มิ.ย.นี้ แบ่งประมูล 6 สัญญา งานใต้ดิน 4 สัญญา ทางยกระดับ 1 สัญญา ระบบราง 1 สัญญา เริ่มสร้าง ธ.ค. 2564 เปิดปี 2570 ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า 23,064 ล้านบาท เปิดให้เอกชนร่วม PPP คาดว่าเป็น PPP gross cost 30 ปีเหมือนสายสีม่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ที่จ้าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เดินรถ 30 ปี เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่องโดยเอกชนรายเดียว

แหล่งข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า การเปิดประมูลสายสีส้มใหม่ เชิญภาคเอกชนสถาบันการเงิน สถานทูต บริษัทรับเหมา ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการรถไฟฟ้า ทั้งไทยและต่างชาติประมาณ 50 ราย ที่เคยยื่นประมูลและรายใหม่ ร่วมแสดงความคิดเห็นร่างทีโออาร์ จะให้ส่งความคิดเห็นวันที่ 17-19 มี.ค.นี้ว่าสิ่งที่ รฟม.จะดำเนินการดีหรือไม่ดี ส่วนคุณสมบัติยังคงเดิม อาทิ มีผลงานสร้างอุโมงค์ด้วยหัวเจาะ เคยออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน คาดว่าทั้งบีทีเอสและ BEM จะเข้าร่วมประมูล

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวทำนองเดียวกัน ขอดูรายละเอียดทีโออาร์ ยังตอบไม่ได้ว่าจะเข้าประมูลสายสีส้มหรือไม่