ต้นทุนก่อสร้าง-โควิด ทุบ “รายได้-กำไร” รับเหมายกแผง

ดาต้าเบส

จากสถานการณ์ปีนี้เหมือนจะเป็น “ฟ้าหลังฝน” กลับมี “พายุใหญ่” พัดใส่ประเทศไทย เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่เป็นรอบที่ 3 หลังตลอดปี 2563 ผจญมาแล้ว 2 ระลอก รอบนี้แหล่งแพร่เชื้อมาจาก “คลัสเตอร์สถานบันเทิง” สะเทือนไปทุกหย่อมหญ้าฉุดสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งทรุดลงอีก กระทบต่อตัวเลขจีดีพีปีนี้จะไปไม่ถึงเป้า 4%

ขณะที่ “การลงทุนภาครัฐ-เอกชน” ยังเชื่องช้า ชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินภาพรวมปีนี้มูลค่างานก่อสร้างจะขยายตัว 1.8-2.8% เทียบกับปี 2563 ขยายตัวอยู่ที่ 2%

“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจผลประกอบการปี 2563 ของ 10 บริษัทรับเหมาในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่ามกลางโควิด-19 รุมเร้า

ITD ขาดทุนบักโกรก

อันดับหนึ่งยังคงเป็น “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” (ITD) ปี 2563 มีรายได้รวม 54,915.19 ล้านบาท ลดลง 8,081.46 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 62,996.65 ล้านบาท

เนื่องจากการลดลงของรายได้จากโครงการขนาดใหญ่ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 1, รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร, รถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, โรงไฟฟ้าบางปะกง และโครงการอาคารศูนย์รักษาพยาบาลรวมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 150 ปี ตลอดสายระยะที่ 2

รวมถึงได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการก่อสร้างของสาขา บริษัทย่อย และกิจการร่วมค้าในต่างประเทศ ทำให้ประสบภาวะขาดทุน 1,104.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,067.11 ล้านบาท จากปี 2562 ขาดทุน 37.34 ล้านบาท จากการลดลงกำไรขั้นต้นจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับรถไฟที่ใกล้จะแล้วเสร็จและต้นทุนการก่อสร้างของสาขาและบริษัทย่อยบางแห่งสูงขึ้น

ซิโนฯ-ช.การช่างประคองตัว

อันดับ 2 “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” (STEC) ในปี 2563 มีรายได้รวม 36,006.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,737.01 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 33,269.06 ล้านบาท มาจากปริมาณงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,093.13 ล้านบาท ลดลง 390.51 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 1,483.64 ล้านบาท

อันดับที่ 3 “บมจ.ช.การช่าง” (CK) ในปี 2563 มีรายได้อยู่ที่ 18,167.02 ล้านบาท ลดลง 6,581.8 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 24,748.82 ล้านบาท เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีส่งมอบงานแล้วในปี 2562

และมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะเสร็จ เช่น สัญญางานบริหารโครงการรวมถึงเป็นผู้จัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายและมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา

ขณะที่โครงการใหม่กำลังก่อสร้าง เช่น ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญาที่ 4 และอาคารศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 612.16 ล้านบาท ลดลง 1,165.62 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิที่ 1,777.78 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากสัญญาก่อสร้างลดลง และอัตรากำไรขั้นต้นของปี 2563 เท่ากับ 8.39% ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้น 8.59%

ยูนิคฯรายได้วูบกว่าพันล้าน

อันดับที่ 4 บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 10,891.23 ล้านบาท ลดลง 1,184.01 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 12,075.24 ล้านบาท

ส่วนผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 220.59 ล้านบาท ลดลง 509.33 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีผลกำไรสุทธิ 729.92 ล้านบาท เป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในมือก่อสร้างแล้วเสร็จ บวกกับอัตรากำไรขั้นต้นของงานใหม่ที่มียังต่ำอยู่ เนื่องจากสภาวการณ์แข่งขันในธุรกิจรับเหมามีสูง บวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

เนาวรัตน์ฯรายได้พุ่ง 9 พันล้าน

อันดับที่ 5 “บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ” (NWR) มีรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 9,928.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,088.35 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 7,840.60 ล้านบาท เนื่องจากเริ่มมีการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่ ๆ และมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตก่อสร้างให้กับโครงการรถไฟฟ้าเข้ามาด้วย

แต่ยังประสบภาวะขาดทุน 240.93 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนน้อยลง 274 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ขาดทุน 515.22 ล้านบาท อาทิ ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ทางการเงินจํานวนเงิน 94 ล้านบาท

เพาเวอร์ไลน์ฯ-ซินเท็คอ่วม

อันดับที่ 6 “บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง” (PLE) มีรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 8,772.99 ล้านบาท ลดลง 834.61 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 9,607.60 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากการก่อสร้างลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

และประสบภาวะขาดทุน 440.62 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 221.04 ล้านบาท เพราะรายได้ที่มีต่ำกว่าเป้าหมายและต้นทุนการก่อสร้างในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนทางการเงินก็สูงขึ้นด้วยถึง 9.8%

อันดับที่ 7 “บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น” (SYNTEC) มีรายได้รวมในปี 2563 อยู่ที่ 7,986.43 ล้านบาท ลดลง 566.16 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 8,552.59 ล้านบาท ส่วนผลกำไรอยู่ที่ 239.82 ล้านบาท ลดลง 54.35 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 294.17 ล้านบาท

คริสเตียนีรายได้-กำไรเพิ่ม

อันดับที่ 8 “บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย)” หรือ CNT มีรายได้รวมในปี 2563 อยู่ที่ 7,546.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 293.7 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 7,251.91 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้จากการก่อสร้าง การขายบริการอื่น ๆ ของบริษัทและบริษัทย่อยมากขึ้น

โดยในปี 2563 บริษัทได้รับว่าจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์บริการการแพทย์ชั้นเลิศ (เมดิคอลฮับ) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น วงเงิน 11,444 ล้านบาท

ส่วนผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 75.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.38 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 73.09 ล้านบาท เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น รายได้จากการก่อสร้าง การขายและการบริการสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง

พรีบิลท์-ซีฟโก้ยังผันผวน

อันดับที่ 9 “บมจ.พรีบิลท์” (PREB) มีรายได้รวมในปี 2563 อยู่ที่ 4,293.84 ล้านบาท ลดลง 37 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 4,330.84 ล้านบาท ส่วนผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 165.67 ล้านบาท ลดลง 106.12 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 271.79 ล้านบาท เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ และผู้ประกอบการรับงานเข้มงวดมากขึ้น

และ อันดับที่ 10 “บมจ.ซีฟโก้” (SEAFCO) มีรายได้รวมในปี 2563 อยู่ที่ 2,585.33 ล้านบาท ลดลง 476.73 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 3,062.06 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 154.41 ล้านบาท ลดลง 255.1 ล้านบาท จากปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 409.51 ล้านบาท