เสียงสะท้อนปิดแคมป์-ล็อกดาวน์ “ต่างจังหวัดไม่ทน“ วิพากษ์มาตรการรัฐ

Photo by AFP

“กรกฎาคม” เดิมพันสงครามโควิด เสียงสะท้อนปิดแคมป์-ล็อกดาวน์ “ต่างจังหวัดไม่ทน” วิพากษ์มาตรการรัฐ

รัฐบาลล็อกดาวน์ในแคมป์-นอกแคมป์

มหันตภัยโรคระบาดโควิด-19 เข้าสู่ระลอก 3 อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564

และเข้าสู่ระลอก 4 จากการมีผู้ติดเชื้อวันละเกือบ 10,000 คนในช่วงครึ่งเดือนแรกกรกฎาคม 2564

โดยภาวะตื่นกลัวของวงการสาธารณสุขเริ่มมีเค้าลางนับตั้งแต่มีการพบ “คลัสเตอร์โควิด” ในแคมป์คนงานก่อสร้าง ตลาด ชุมชน และสถานประกอบการเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

สถานการณ์โควิดนำไปสู่คำสั่งเฉียบขาด 2 ฉบับสำคัญด้วยกัน คือ ประกาศปิดแคมป์คนงาน กับล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 เป็นเวลา 14 วัน

ย้อนเวลากลับไปเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลออกคำสั่งฉบับที่ 25 ภายใต้กฎหมายบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 สั่งให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง-สั่งหยุดทำงานก่อสร้างทุกอย่างทันทีเป็นเวลา 30 วัน มีผลบังคับ 28 มิถุนายน-27 กรกฎาคม 2564

ห่างกัน 2 สัปดาห์บวกลบ ออกคำสั่งฉบับที่ 27 ล็อกดาวน์ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ “กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส”

มาตรการยาแรง คือ มีเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 3 ทุ่ม-ตี 4 เป็นเวลา 14 วัน มีผลบังคับใช้ 12-25 กรกฎาคม 2564

หากจับ 2 คำสั่งนี้มาวางเรียงกันจะเห็นจังหวะสอดคล้องเหมาะเจาะเหมือนร้องเพลงคีย์เดียวกัน

กล่าวคือ คำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเนื่องจากสแกนพบว่าผู้ติดเชื้อใหม่มาจากคลัสเตอร์โควิดในแคมป์เยอะ เริ่มบังคับวันจันทร์ 28 มิถุนายน 2564 ความหมายของการควบคุมโรคระบาดต้องการเวลา 14 วันเป็นอย่างน้อย เพื่อพิสูจน์ทราบว่าตัวเลข “ผู้ติดเชื้อใหม่” ควรจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นั่นหมายความว่า เวลา 14 วันที่ปิดแคมป์ติดต่อกันจะมาบรรจบในวันที่ 12 กรกฎาคม เป็นปฏิบัติการหวังผลลดผู้ติดเชื้อจาก “ในแคมป์”

ถัดมาคำสั่งล็อกดาวน์ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม เริ่มมีผลบังคับใช้ 12 กรกฎาคม 2564 ไม่ว่าจะบังเอิญหรือตั้งใจก็ตาม แต่ไทม์ไลน์นี้บ่งชี้ว่ารัฐบาลต้องการสกัดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ซึ่งคงไม่ผิดนักหากจะเรียกว่าเป็นปฏิบัติการหวังผลลดผู้ติดเชื้อจาก “นอกแคมป์”

ดังนั้น จึงเสมือนว่าตอนนี้รัฐบาลล็อกทั้งคลัสเตอร์ในแคมป์คนงานก่อสร้างและนอกแคมป์ไว้หมดแล้ว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำสงครามเต็มรูปแบบกับโรคระบาด

โดยจะเห็นว่าทั้ง 2 คำสั่งนี้มีอายุมาตรการสิ้นสุดไล่เลี่ยกัน คือ คำสั่งล็อกดาวน์จังหวัดเสี่ยงมีอายุถึง 25 กรกฎาคม 2564 ขณะที่คำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างมีอายุถึง 27 กรกฎาคม 2564

“เดือนกรกฎาคม 2564” จึงกลายเป็นเดือนที่วางเดิมพันสูงในการต่อสู้ทำสงครามกับสถานการณ์โควิด แต่มาตรการจะประสบความสำเร็จแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” ต่อสายสัมภาษณ์พิเศษนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ใน 5 จังหวัด เพื่อฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะจากผลกระทบมาตรการล็อกดาวน์ 14 วัน

มีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ

“มีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี
“รัฐต้องปรึกษาเอกชนเพราะเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

ผลกระทบล็อกดาวน์ครั้งที่ 2

การประกาศล็อกดาวน์เป็นการออกมาตรการหลังจากเกิดวิกฤตแล้ว ผมอยากจะโฟกัสในประเด็นที่ว่า ก่อนวิกฤตเราควรมีมาตรการแต่ไม่ใช่ล็อกดาวน์ อย่างเช่น ในกรณีอสังหาฯ การปิดแคมป์ก่อสร้างเราไม่เห็นด้วย น่าจะมีมาตรการอย่างอื่นที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า

สมมุติเรามีแรงงาน 100 คน ถ้าตรวจเชิงรุกแล้วพิสูจน์ได้ว่าคนไหนติดเชื้อ เช่น ติด 10 คน แยกตัวไปรักษา ยังเหลือ 90 คนที่ทำงานได้ ตอนนี้เรายอมรับว่าไม่สามารถหาวัคซีนได้ แต่เราสามารถตรวจเชิงรุกได้

นอกจากนี้ ไซต์งานก่อสร้างเป็นการทำงานที่มี frequent ต่อเนื่องเราไปหยุดมันไม่ได้ เฉพาะเรื่องแรงงานก่อสร้างก็หนักมาก เพราะว่าจะเปิดการก่อสร้างขึ้นมาใหม่ไม่เหมือนเปิดเครื่องจักร แรงงานบางคนไปอยู่ต่างจังหวัดหรือกลับประเทศไปแล้วเขาก็ไม่มาแล้ว

ซ้ำร้ายประเทศรอบข้างเราอย่างลาว กัมพูชา ตอนนี้เศรษฐกิจดีขึ้นเยอะมาก รายได้เขาก็ดีขึ้น เราอาจเสียแรงงานต่างด้าวที่เป็นผู้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจที่ผ่านมาในภาคอสังหาริมทรัพย์

แล้วถ้ามองภาพรวมที่ผ่านมาเศรษฐกิจหลายภาคทุกคนยอมรับว่าเครื่องจักรทางเศรษฐกิจชะลอหรือดับ ก็ยังมีภาคอสังหาฯที่แม้ถูกกระทบบางส่วนแต่ยังพอไปได้ ตอนนี้เจอภาวะนี้ขึ้นมาเรากระทบค่อนข้างรุนแรง

แนวโน้มครึ่งปีหลังในชลบุรี

ต้องยอมรับว่าภาคอสังหาฯโชคดีกว่าที่เราคาด ตั้งแต่โควิดระบาดเมื่อต้นปี 2563 เราคิดว่าคงเข้าสู่ยุคมืดแน่นอน แต่จากการพูดคุยกันในวงการทุกคนเชื่อว่าโควิดคงไม่อยู่นาน 2-3 ปี คนที่มีสายป่านมีกำลังก็หันมาให้ความสำคัญเรื่องซื้อบ้านแนวราบมากขึ้น ส่วนแนวสูงมีผลกระทบชัดเจน

อีกกลุ่มหนึ่งคือระดับกลาง-ล่างที่มีผลกระทบจากการส่งออกชะลอตัว แนวโน้มการส่งออกเริ่มดีขึ้น หลายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิต มีการจ้างงาน แต่ปัญหาสะสมคือการเข้าถึงสินเชื่อ หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้คนระดับล่างไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ถึงแม้เป็นสินค้าแนวราบถ้าเป็นราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท ก็ค่อนข้างฝืด ขายยาก

ตอนนี้คนซื้อบ้าน 1-2 ล้านบาท มีการปฏิเสธสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 60-70% หรือคนที่ซื้อได้ก็เป็นการกู้ร่วมมากกว่า บ้านระดับราคา 3-5 ล้านบาทยังไปได้

นอกจากการตรวจเชิงรุกแล้ว มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหรือไม่

ตอนนี้อย่างที่เราเห็นว่าโรงพยาบาลค่อนข้างเต็ม ที่ผ่านมามีการชดเชยผู้ที่ขาดรายได้หลายมาตรการ ตรงจุดนั้นไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม รัฐบาลชดเชยไป การระบาดก็แพร่ไปเรื่อย ๆ แล้วคงหมดหน้าตักในเร็ว ๆ นี้ ถ้าทำวิธีเดิมคงไม่มีเงินไปชดเชยตรงนี้ได้

แต่ถ้านำงบประมาณมาใช้แก้ปัญหาอย่างละเอียดโดยคำนึงถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ที่สำคัญ ภาครัฐจะผลักดันเรื่องอะไร ผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่ภาครัฐจะร่วมปรึกษากับเอกชน เพราะเอกชนถือเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ปรีชา กุลไพศาลธรรม

“ปรีชา กุลไพศาลธรรม” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี
“การบ้าน 2 ข้อ เปลี่ยนทีมแก้โควิด-ทำงานเชิงรุก-รู้จริง-เด็ดขาด”

ล็อกดาวน์เอฟเฟ็กต์

กระทบ 2 ด้านหลัก คือ การขาย-การโอน กับต้นทุนต่าง ๆ ที่ยังรันอยู่ปกติ

เรื่องการขายถ้าล็อกดาวน์แบบนี้แล้วมีคนติดเชื้อเยอะขนาดนี้ ที่จะเข้ามาเยี่ยมชมโครงการลดน้อยลงแน่นอน การขายทำได้ค่อนข้างยาก ยอดขายดรอปลง ในส่วนของรายรับมีผลในเรื่องการโอนด้วย เพราะต้องมีการตรวจบ้านรับบ้านโอนบ้าน ในสถานการณ์แบบนี้มีประเด็นทำให้การตรวจบ้านของลูกค้ายากขึ้น คำสั่งปิดแคมป์ทำให้เก็บงานซ่อมโอนค่อนข้างยาก

แล้วสถาบันการเงินก็มีการ work from home มีการรายงานที่ไม่สมูท ทุกคนก็จะติดขัดกันหมด เพราะฉะนั้น นอกจากการขายแล้วการโอนก็ถูกกระทบด้วย ซึ่งมีผลชัดเจนในเดือนกรกฎาคมแน่นอนอยู่แล้ว เราต้องไปดูว่าในเดือนสิงหาคมจะมีผลต่อเนื่องไหม

ส่วนเรื่องของต้นทุนในการประกอบการไม่ได้ลดน้อยถอยลง ทั้งดอกเบี้ยสถาบันการเงินเราไม่ได้รับส่วนลด ไม่ได้รับการช่วยเหลือชดเชยใด ๆ ต้นทุนพนักงานที่ทำงานอยู่ การล็อกดาวน์เราคงไม่สามารถลดเงินเดือนหรือลดค่าตอบแทนใด ๆ แล้วโอเวอร์เฮดต่าง ๆ ค่าน้ำค่าไฟ ค่า operate ในโครงการก็ยังคงอยู่ ฉะนั้น ต้นทุนยังคงรันเป็นปกติ

คำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือน บริษัทต้องไปช่วยผู้รับเหมา ช่วยคนงาน ไม่อย่างนั้นคนงานก็ต้องกลับบ้านเพราะเขาไม่มีเงิน พอกลับบ้านเวลาเราจะเริ่มงานใหม่เรียกเขากลับมายิ่งยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้น ทำให้กำไรของโครงการลดลง หรือถ้าเราจะขายได้ในช่วงเวลานี้ก็ต้องจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมากกว่าปกติด้วย

รายกลาง-เล็กเสียเปรียบรายใหญ่

อาจจะเสียเปรียบในแง่เงินทุน มองกันที่แคชโฟลว์แล้วล่ะตอนนี้ รายใหญ่มีสายป่านที่แข็งแรงกว่า มีโอกาสระดมทุนหาแหล่งเงินทุนได้ดีกว่า รายเล็กรายกลางปัญหาเงินทุนที่มีจำกัด จะเสียเปรียบประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ พอเราเจอปัญหาปุ๊บรายรับก็ไม่มาหรือมาช้าแต่รายจ่ายยังคงมีตลอดเวลา

ธุรกิจอสังหาฯไม่เหมือนทำร้านอาหาร ร้านเล็ก ๆ เขาสามารถหยุดกิจการ 3-6-12 เดือนอาจจะไปทำอย่างอื่นก่อนแล้วกลับมาทำใหม่ได้ แต่อสังหาฯถ้าเปิดโครงการไปแล้วมันหยุดไม่ค่อยได้เพราะมีภาระหนี้สินเยอะจากการกู้โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ ถ้าชะลอโครงการจะมีปัญหาต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเครดิตกับสถาบันการเงิน การผ่อนชำระ ความเชื่อมั่นของลูกค้า-ซัพพลายเออร์ มีปัญหาผลกระทบแบบ domino เข้ามาหาเรา

ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เสียหายเฉพาะโปรเจ็กต์ที่รันอยู่เท่านั้น แต่มันจะหมายถึงโปรเจ็กต์ที่เรามีในมือทั้งหมด และหมายถึงโปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฉะนั้น บริษัทอสังหาฯถ้าเปิดแล้วต้องรันให้จบ

อนาคตครึ่งปีหลัง

เดิมทีแนวโน้มครึ่งปีหลังต้องเรียนให้ทราบก่อนว่า ช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เรามองเป็นบวกกัน ปลายปีนี้น่าจะ pick up กลับมา น่าจะมีการเปิดโครงการเยอะ ขยายตัวเยอะขึ้น แต่พอเจอโควิดระลอก 3 จนถึงปัจจุบันมุมมองก็เปลี่ยน ซึ่ง GDP เป็นตัวบอกตัวหนึ่งในเรื่องของกำลังซื้อ ถ้า GDP ไม่ดีกำลังซื้อก็ดีไปไม่ได้เพราะอสังหาฯต้องใช้เงินจำนวนมาก ตอนนี้คาดการณ์ GDP เหลือ 1%

ปลายปี 2564 นี้ก็คงเป็นปีที่ไม่ดีและน่าจะแย่กว่าตอนต้นปีด้วยซ้ำ เดิมคิดว่าปลายปีนี้จะดีกว่าต้นปี โควิดน่าจะเริ่มดีขึ้น ข้อเท็จจริงกลับด้านกัน สถานการณ์โควิดแย่ลงและเลวร้ายขึ้น การบริหารจัดการของภาครัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ สะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจตกหมดทุกสายอาชีพ

ดังนั้น บรรยากาศการลงทุน การทำธุรกิจมันไม่ดีเลย มีการชะลอลงทุนซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว เราก็ต้องรอความหวังปี 2565

ข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ

ถ้าภาครัฐจะล็อกดาวน์ต้องมีความชัดเจนและมีการวางแผนล่วงหน้าให้เราเห็นภาพได้มากกว่านี้ บางทีวิธีการบริหารจัดการ วิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหายังไม่เป็นมืออาชีพ ยังทำได้ไม่ดีพอในส่วนของรัฐบาล

ถามว่ารัฐบาลควรทำยังไง ผมว่าวันนี้ถ้าเลือกได้เราก็อยากให้เปลี่ยนตัวผู้บริหาร หรือเปลี่ยนทีมบริหารของรัฐบาลที่น่าจะมีความรู้ความสามารถและเหมาะสมกับสถานการณ์นี้ได้มากกว่านี้ ผมไม่ได้มองว่ารัฐบาลจะเป็นใคร มองแค่คนที่จะมาบริหารเรื่องนี้ผู้บริหารภาครัฐต้องมีความเป็นมืออาชีพและเข้าใจสถานการณ์ สามารถบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงแก้ไขสถานการณ์ได้ดีกว่านี้

นี่คือข้อที่ 1 ที่อยากจะให้ทางรัฐบาลพิจารณาดู อย่างเช่น ถ้าเป็นรัฐบาลชุดเดิมคุณก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่มันดีกว่าเดิม หรือเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ รัฐมนตรีใหม่อะไรก็ว่ากันไป

ข้อที่ 2 ในระดับบริหารของรัฐบาล ข้อมูลของคุณหมอน่าจะมีการคาดการณ์ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือสถานการณ์ล่วงหน้าได้ก่อนประชาชนสักครึ่งเดือน-1 เดือนอยู่แล้ว ถ้าคาดการณ์จะเป็นแบบไหนต้องดำเนินการให้เด็ดขาดไปเลย เคสปิดแคมป์คนงานช่วงสงกรานต์ไม่ให้เดินทางกัน ไปปิดตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย เหมือนคุณวิ่งตามปัญหา ซึ่งรัฐบาลต้องรู้ปัญหา ต้องดำเนินการเชิงรุก ดำเนินการอย่างเร็ว ไม่ใช่มารอให้เสียหายแล้วก็ซ่อมไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่จบ

ฉะนั้น ข้อที่ 2 อยากให้ดำเนินการเชิงรุกและแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งครั้งนี้ผมเห็นด้วยกับล็อกดาวน์ 14 วัน เพราะถ้าปิดก็ต้องปิดให้หมดไปเลย ถ้าปิดไม่หมดมันก็ไปโผล่ตรงโน้นทีตรงนี้ที แต่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลที่คุณรู้ปัญหา นอกจากจะเปลี่ยนทีมบริหารแล้วคุณต้องมีการแก้ปัญหาเชิงรุกให้เร็วที่สุด พยายามตัดสินใจให้เด็ดขาด

และมีการพูดอธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนให้เขาเข้าใจปัญหา เข้าใจวิธีแก้ปัญหา สื่อสารให้ดี ผมว่าอันนี้สำคัญที่สุด ถ้ารัฐบาลสื่อสารได้ดี และทุกคนเข้าใจได้ ทุกวันนี้กลายเป็นว่ารัฐบาลสื่อสารไม่ดีเลย ทำให้เกิดความสับสน ทำให้เราไม่มั่นใจในวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลเลย

วัชระ ปิ่นเจริญ

“วัชระ ปิ่นเจริญ” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดฉะเชิงเทรา
“ล็อกดาวน์ 1 เดือน เร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70%”

สถานการณ์ตลาดฉะเชิงเทรา

ตลอดเวลาที่ผ่านมาอย่างที่ฉะเชิงเทราช่วงหลังที่ยอดผู้ป่วยในแต่ละวันสูงขึ้น ยอดลูกค้า walk-in โครงการก็หายไปเลย ส่วนใหญ่กลัวเรื่องการออกจากบ้านอยู่แล้ว

จริง ๆ แล้วช่วง 1-2 เดือนก่อนยอดขายไม่ได้ลดเนื่องจากยังมีลูกค้าพนักงานบริษัท พนักงานโรงงานซึ่งไม่ได้กระทบเท่าไหร่ ผมเข้าใจว่ายอด walk-in ลดลงเพราะคนกังวลสถิติยอดผู้ติดเชื้อสูง ซึ่งลูกค้ายังคงติดต่อเข้ามาแต่ไม่ขอเข้าเยี่ยมชมโครงการ จังหวัดฉะเชิงเทราโดยพื้นฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าทำงานภาคอุตสาหกรรม ก็คิดว่าน่าจะกระทบในเรื่องของคนไม่มาวิสิตโครงการมากกว่า

ส่วนการกระจายวัคซีนล่าช้าโดยภาพรวมมีอิมแพ็กต์เยอะ การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจก็ดีเลย์ไปด้วย ตอนนี้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมองว่าปลายปี 2564 นี้ไม่น่าจะจบเนื่องจากวัคซีนที่เข้ามาไม่เป็นไปตามเป้าที่จะฉีดแล้วสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ 70% ของประชากร ผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เราใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้ เป็น domino effect

แนวโน้มครึ่งปีหลัง

น่าจะแย่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสต๊อกอยู่ในมือน่าเป็นห่วงเพราะดอกเบี้ยรันตลอดเวลา อาจจะเป็นข้อดีสำหรับรายย่อยหรือรายกลางที่มองเรื่องการเปิดโครงการใหม่ซึ่งใช้เวลา 6-8 เดือน ถ้าลงทุนโปรเจ็กต์ในไตรมาส 1/65 ทุกอย่างกลับมาดีได้กลับมาฟื้นตัวได้ ช่วงเวลานี้ (ไตรมาส 3/64) ก็เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเตรียมตัว

เหตุผลเพราะแรงงานตอนนี้อาจจะเยอะเนื่องจากรายใหญ่ไม่ขึ้นโครงการใหม่ ในภาคการก่อสร้างที่จะเตรียมเปิดโครงการน่าจะง่ายขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแบงก์ด้วยว่าจะมองเหมือนเราไหม

ในแง่ความได้เปรียบเสียเปรียบของรายใหญ่กับรายกลาง การระดมทุนของรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงไม่ง่ายในภาวะนี้ ในสถานการณ์ที่ยอดขายอืด มีสต๊อกอยู่ในมือน้อยผมว่าได้เปรียบ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสต๊อกแปลว่ามีดอกเบี้ยอยู่ด้วย ฉะนั้น 6 เดือนหลังของปีนี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราอยู่ในภาวะที่ต้องรักษาตัว ยืนให้ครบยกให้ได้ แค่นั้นเลย มันไม่มีทางที่จะไปอัดโปรโมชั่น อัดแคมเปญ หรือทำมาร์เก็ตติ้งใด ๆ ที่จะทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวกลับมา

ผมว่า 6 เดือนหลังนี้อาจจะหนัก ถ้าเราหยุดสั้นเหมือนในโควิดระลอก 1 ระลอก 2 คงจะดี เพราะแป๊บเดียวกำลังซื้อกลับมา แต่ระลอก 3 ระลอก 4 สถานการณ์ระยะยาว อาจลากยาวไปจนถึงสิ้นปี คนที่สำรองเงินไว้สำหรับผ่อนบ้านผ่อนรถหรือชำระหนี้คืนให้แบงก์อาจชะลอลงไป

ความหวังเดียวของเราก็คือสามารถได้วัคซีนมาฉีด 70% ของประชากรเศรษฐกิจจะกลับมา เป็นความหวังเดียว ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อกำลังจะถึงหมื่นคนต่อวัน จะให้ลดลงมาหลักร้อยต่อวันคงต้องใช้เวลายาวพอสมควร แล้วการล็อกดาวน์แบบกะปริบกะปรอย ล็อกบางพื้นที่ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ เท่าที่ผมฟังมาภาคเอกชนทั้งหมดมองเห็นว่าควรล็อกดาวน์ทั้งประเทศทีเดียวและอย่างหนักเพื่อให้จบเร็ว

มีข้อเสนอแนะรัฐยังไง

ควรล็อกดาวน์ทั้งประเทศจริง ๆ เหมือนเดิมสัก 1 เดือน ระหว่างนั้นเราก็อัดวัคซีนเข้าไปเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อด้วย ตอนนี้สถานการณ์จะบานปลายเนื่องจากมีข้อจำกัดในการบริการทางการแพทย์ ผู้ป่วยเยอะจนล้นแล้วกระจายเชื้อมากขึ้น การล็อกดาวน์วันนี้อาจไม่มีความหมาย ต้องรอลุ้นวัคซีนอย่างเดียว อยากให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนให้ได้ตามเป้า แต่วัคซีนมันก็ไม่ได้อยู่ที่เราอยู่ที่ผู้ผลิต

ผมเป็นที่ปรึกษา รมช.สาธารณสุข (สาธิต ปิตุเตชะ) เราก็ทำเต็มที่แหละแต่มันอยู่ที่ผู้ผลิต เรื่องวัคซีนที่เรามองว่ารัฐบาลล้มเหลว ถามว่าวันนี้การที่รัฐบาลทำเรื่องวัคซีนแบบนี้ กับการที่รัฐบาลนำเข้ามาเยอะที่สุด จบเร็วที่สุด อันไหนเขาจะได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่ากัน คำตอบคือนำวัคซีนเข้ามาให้เยอะให้เร็วที่สุด แต่ปัญหาคือเราไม่ได้มีอำนาจต่อรองวัคซีนในชั่วโมงนี้

เปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย

“เปรมสรณ์ ศรีวิบูลย์ชัย” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ระยอง
“คำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างมีผลกระทบมากกว่าล็อกดาวน์”

ผลกระทบล็อกดาวน์

กระทบภาพรวมครับ กำลังซื้อบ้าน segment ที่อ่อนแรงอยู่แล้วจะยิ่งอ่อนแรงชัดเจนมากขึ้น ภาพรวมตลาดอสังหาฯระยองที่กระทบมากกว่าการล็อกดาวน์คือจำนวนผู้ติดเชื้อสูง ทำให้ลูกค้าบางคนไม่เข้าเยี่ยมชมโครงการ

สถานการณ์โควิดใครดูแลความปลอดภัยได้ดีกว่ากันและสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ก็จะได้เปรียบ ตอนนี้เราก็สื่อสารไปว่าเรามีระยะห่าง มีโปรแกรมไพรเวตทัวร์สำหรับลูกค้า แต่มู้ดการวิสิตไซต์ก็หายไปเพราะความมั่นใจและการจัดการเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อในเรื่องเตียง เรื่องของวัคซีนทำได้ไม่ดี

ประเมินครึ่งปีหลังยังไง

ครึ่งปีหลัง 2564 key of success คือวัคซีน ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเยอะจนเอาไม่อยู่แล้ว ล็อกดาวน์ไปก็เท่านั้น ผมว่าแค่ pause ได้ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็ขึ้นมาใหม่ถ้าเราไม่ค้นหาเชิงรุก ถ้าเราก็ไม่ทำวัคซีนให้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ไม่หายสักที พระเอกคือวัคซีน ถ้าวัคซีนเข้ามาตามนัดฉีดได้ 100 ล้านโดสตามที่รัฐบาลบอกภายในสิ้นปี 2564 นี้

ซึ่งหมอพร้อมแต่วัคซีนไม่พร้อมก็ทำให้ทุกอย่างไม่พร้อมไปหมดเลย นโยบายเปิดประเทศอีกไม่ถึง 100 วันก็เปิดไม่ได้หรอก ภายในประเทศเรายังไม่กล้าเดินทางเลย ไม่ต้องไปหวังพึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเลยเพราะเขาก็คงไม่กล้าเข้ามาเหมือนกัน

ตอนนี้เป็นห่วงเรื่องการรักษากับวัคซีน นโยบายรัฐที่ออกมาแต่ละอย่างอยากให้ออกมาแล้วเป็นตัวช่วย แต่กลายเป็นยิ่งออกยิ่งซ้ำเติมเรื่อย ๆ ล่าสุดพอสั่งล็อกดาวน์ก็เริ่มส่งคนที่อยู่ในกรุงเทพฯกลับต่างจังหวัด เป็นการซ้ำเติมต่างจังหวัดให้เชื้อมันกระจายไปทั่วประเทศก็เลยเป็นอะไรที่น่ากังวล

หนักหน่วงที่สุดคือปิดแคมป์ก่อสร้าง นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้เชื้อน้อยลงแล้วยังเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจประเทศ ทําให้ผู้ติดเชื้อกระฉูดเพิ่มขึ้นด้วย ปิดแคมป์ก่อสร้างไม่ได้กระทบแค่ 1 เดือน แต่กระทบ 3-4 เดือน เพราะกว่าเราจะรวบรวมแรงงานก่อสร้างได้ ผมมองว่าสั่งปิดแคมป์กระทบมากกว่าล็อกดาวน์อีก เพราะล็อกดาวน์เรายังคงก่อสร้างได้ ขายบ้านได้ ยังไปโอนที่กรมที่ดินได้

แข่งขันหนักเพื่อให้อยู่รอด

ตอนนี้ที่อยู่รอดอย่างผมไม่กระทบเท่าไหร่เพราะกินบุญเก่า คำว่ากินบุญเก่าก็คือต้นทุนที่ดินเก่า ค่าก่อสร้างเก่า ฐานลูกค้าเก่า ถ้าเป็นดีเวลอปเปอร์ที่เริ่มทำใหม่ ๆ แบงก์ require เยอะ จะเบิกค่าก่อสร้างต้องมียอดพรีเซลกี่หลัง ต้องบูสต์ยอดขายขึ้นไปในช่วงแรก ในขณะที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิดทำให้บูสต์ยอดขายยาก เพราะคนไม่ค่อยวิสิตไซต์

นราทร ธานินพิทักษ์

“นราทร ธานินพิทักษ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา
“รัฐควรขยายมาตรการลดค่าโอน-จำนองไปถึงสิ้นปี 2565”

รัฐบาลล็อกดาวน์ 14 วัน

ผลกระทบน่าจะเยอะเหมือนกันคราวนี้ เพราะล็อกดาวน์กึ่งล็อกดาวน์เป็นรอบที่ 3 แล้ว บ่อยอย่างนี้กระทบเอกชนทั้งรายเล็กรายกลางรายใหญ่ ปี 2563 อสังหาฯยังประคองตัวได้ ต้นปี 2564 ยังคาดหวังว่าครึ่งปีหลัง 2564 น่าจะเห็นการเงยหน้าขึ้นบ้าง

แต่ตอนนี้กระทบเยอะเลย ลูกค้าเอกชนที่เคยซื้อเคยจองมายกเลิกสัญญา มีสัญญาณให้เห็นบ้างแล้วว่าเขาไม่ไหว ตอนแรกก็ยังพอถูไถพอแก้ปัญหาไปได้ เจอครั้งที่ 3 เขาค่อนข้างซีเรียส คุยกับดีเวลอปเปอร์ในโคราชบอกว่ามียกเลิกสัญญา คืนเงิน ขอเงินมัดจำคืนบ้างแล้วสำหรับลูกค้าที่เป็นเอกชน เป็น SMEs งานมั่นคงและรายได้หายต้องปิดร้านทำให้ถูกกระทบเยอะ

สิ่งที่ต้องการจากรัฐบาลเร่งด่วน คือ มาตรการต่าง ๆ ต้องผ่านการวิเคราะห์ก่อนว่าทำอย่างนี้แล้วจะมีผลกระทบทางด้านบวกด้านลบยังไง ซึ่งมาตรการรัฐแต่ละอย่างในปัจจุบันรู้สึกว่าไม่ได้มองไปข้างหน้าเท่าไหร่ เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนคุณหมอรักษาคนไข้ก็คือมีอาการแล้วไปรักษา แต่รัฐบาลไม่ได้คาดการณ์ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นแล้วก็แก้ปัญหาล่วงหน้าไปก่อน หรือวางแผนไปรับมือ

หวังว่ารัฐบาลน่าจะปรับตัวและวางแผน เวลาคิดนโยบายก็อยากจะให้เอกชนมีส่วนร่วมด้วย ช่วยคิดช่วยวางแผนด้วยน่าจะดีขึ้น

ปีนี้เหนื่อยทุกคน ตอนนี้ไม่ใช่ลูกค้ามีกำลังซื้อแต่กลายเป็นลูกค้าไม่มีกำลังซื้อแล้วเพราะโควิดลากมานาน 1-2 ปี ลูกค้าที่มีผลกระทบทางอ้อมฟื้นได้เร็ว กลุ่มรับผลกระทบทางตรงคือคนที่รับค่าแรงเป็นรายวัน รายชั่วโมง มีโอที ร้านค้า SMEs ช่วงครึ่งปีหลังคนทำงานในโรงงานเป็นลูกค้าหลัก

ประเมินครึ่งปีหลัง

ประคองตัวครับ จริง ๆ แล้วสมาชิกในสมาคมหลายคนเตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ค่อนข้างเยอะ ประชุมบอร์ดจัดสรรเมื่อกลางเดือนมิถุนายนมีโครงการขออนุญาตจัดสรรในโคราช 10 โครงการ คิดว่าคงต้องรื้อแผนและวางแผนกันใหม่ อาจต้องชะลอกันเพราะมองว่าเป็นความเสี่ยงถ้าเปิดตอนนี้ ยอดลูกค้า walk in ไม่ได้ ทำ marketing ไม่ได้ จัดโปรโมชั่นไม่ได้ ค่อนข้างเสี่ยง

อยากให้รัฐบาลช่วยอะไร

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่เพิ่มกำลังซื้อ ลดค่าใช้จ่าย ลดภาระให้กับประชาชนหรือลูกค้ารายย่อย อย่างเช่น การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง (หมดอายุ 27 ธันวาคม 2564) ควรยืดออกไปถึงปลายปี 2565 จนกว่ากำลังซื้อจะกลับมา และจนกว่า SMEs หรือธุรกิจต่าง ๆ สามารถตั้งตัวได้อีกครั้ง

เพราะถ้าเราคาดหวังว่าจะฉีดวัคซีนในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 60-70% ของประชาชนทั้งประเทศ ปี 2565 น่าจะฟื้น เริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการรัฐควรเปิดให้คนที่ซื้อราคา 3 ล้านขึ้นไปได้รับสิทธิประโยชน์ลดค่าโอน-จำนองด้วย โดยได้รับการยกเว้นในส่วน 3 ล้านแรก ส่วนราคาที่เกินลูกค้าก็รับผิดชอบไป เพื่อที่อย่างน้อยสินค้าบ้านราคาเกิน 3 ล้านได้รับอานิสงส์และจูงใจให้คนหันมาซื้ออสังหาฯ