“ญี่ปุ่น”จะไปทางไหน เมื่อไร้แรงงานผู้ลี้ภัย-ผู้อพยพ ขณะที่ประเทศเต็มไปด้วยประชากรผมหงอก

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น รายงานสถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ในอนาคตที่ไร้ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเข้ามาเป็นแรงงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานสำคัญในประเทศ

อาโอกิ ชายญี่ปุ่นวัย 59 ปี บอกกับซีเอ็นเอ็นขณะที่พักเหนื่อยจากงานทุบบ้านร้างทิ้งในไซตะมะว่า

“ผมเคยถูกขอให้ลาออกจากบริษัทเกี่ยวกับไอทีเมื่อตอนอายุ 55 ปี และตอนนี้ในวัย 60 ปี ผมยังตองทำงานอยู่ ผมกังวลเกี่ยวกับลูกๆ และหนุ่มสาวที่ต้องรับมือกับปัญหาประชากรสูงวัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น”

แม้ว่าอาโอกิจะมีอายุสูงกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น แต่เขาก็เป็นหนึ่งในชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการจ้างงานโดยบริษัทรื้อถอนสิ่งก่อสร้างในไซตะมะ ซึ่งเป็นบริษัทของอดีตผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ด โดยมีแรงงานที่เป็นผู้ลี้ภัย อาทิ ชาวตุรกี อิหร่าน และประเทศแถบทวีปแอฟริกาจำนวนมาก

“คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไม่ทำงานก่อสร้างหรือรื้อถอนแล้ว นี่จึงถือเป็นประเด็นที่คนต่างชาติเข้ามาช่วยสังคมญี่ปุ่น ดังนั้นเขาจึงควรได้รับอะไรจากญี่ปุ่นกลับไปบ้าง ถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะวางแนวคิดชาตินิยมทิ้งไป หากยังคงปิดประเทศเช่นนี้ อนาคตคงไร้ความแน่นอน”เขากล่าว

ด้านเมห์เม็ท ยูเซ็ล วัย 28 ปี ระบุว่า เขาถูกจ้างงานในที่สุดหลังการพยายามหางานสำหรับผู้ลี้ภัยที่เป็นงานถูกกฎหมาย โดยบริษัทที่เขาทำงานอยู่นั้น ถือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เพราะถือว่าช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในส่วนงานก่อสร้างและรื้อถอนในญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่นกำลังทำเป็นหลับตาไม่รู้ไม่เห็น แม้ต้องการแรงงานเหล่านี้ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้วางแผนระยะยาวสำหรับผู้ลี้ภัย” ยูเซ็ลกล่าวพร้อมทั้งเล่าว่า มาอยู่ญี่ปุ่นเมื่อ 12 ปีก่อน เพราะความขัดแย้งทางเชื้อชาติ โดยขณะนี้แต่งงานแล้วกับหญิงสาวชาวญี่ปุ่น ทำให้ได้รับสถานะผู้พำนักถาวร

ยูเซ็ล เชื่อว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้โชคดีจากจำนวนผู้ลี้ภัยถูกกฎหมายที่เพิ่มขึ้นถึง 2.23 ล้านคน โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ให้ที่ลี้ภัยขนาดใหญ่อันดับสี่ ตามที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุ

ในบริเวณจุดก่อสร้างเดียวกันนี้ นูเร็ตตินวัย 25 ปี เล่าว่า มาญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2012 หลังจากสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในตุรกี โดยปัจจุบันอยู่ในการควบคุมตัวในสถานอพยพก่อน เพื่อรอการดำเนินการขั้นต่อไป ซึ่งขณะนี้มีสถานะของผู้ที่ทำงานโดยไม่ถูกกฎหมาย โดยขณะนี้ยังใช้ชีวิตในลักษณะพึ่งพายูเซ็ล เพื่อนร่วมงานที่ปัจจุบันได้สถานะผู้พำนักถาวร ส่วนการทำงานกับเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นนั้น เขาบอกว่าไม่มีปัญหา เว้นแต่เพียงกำแพงด้านภาษาเท่านั้น

“เราอาจมีอุดมการณ์ที่แตกต่าง แต่เมื่อทำงานร่วมกันมันไม่สำคัญสักนิด เราเพียงต้องการงาน ผมยินดีจ่ายภาษีหากว่าจะได้สวัสดิการจากรัฐบาลญี่ปุ่นกลับมาบ้าง แต่ตอนนี้กลับไม่มีอะไรเลย”นูเร็ตตินกล่าว

ประชากรผมหงอก

ประเทศญี่ปุ่นจัดว่าเป็นประเทศผู้สูงอายุล้นเมือง เนื่องจากมีประชากรสูงวัย 65 ปีขึ้นไปมากกว่า กว่า 20 % ของประชากรทั้งหมดในประเทศ รวมทั้งอัตราการเกิดยังต่ำมาก

ในปีค.ศ. 2060 มีการประเมินว่าประชากรทั้งหมดในประเทศจะลดฮวบกว่า 40 ล้านคน โดยจะเหลือประชากร 84.74 ล้านคน และส่งผลต่อจำนวนแรงงานที่มีเพียงน้อยนิด และกลุ่มวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานและจ่ายภาษี เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ต้องการเบี้ยบำนาญและการบริการด้านสาธารณสุข

โดยในปีนี้ สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่นถือว่าวิกฤตสุดในรอบ 40 ปี และมีการ วิเคราะห์ว่าญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานมากขึ้นในปีต่อๆ ไป

จำนวนประชากรลดฮวบ

ภายใต้ภาวะการหดตัวของอัตราการเกิด ส่งผลให้นายกรัฐนตรี ชินโซะ อาเบะ พยายามจูงใจให้ผู้สูงอายุและ ผู้หญิงเข้ามาในระบบการทำงานมากขึ้น ขณะที่ผู้สังเกตการณ์จากภายนอกมองว่าปัญหาผู้อพยพจำนวนมากเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขสำหรับวิกฤติแรงงานขาดแคลนและปัญหาทางประชากรศาสตร์

แม้ว่าในปี 2005 จะเคยมีการสนับสนุนการรับผู้อพยพ 10 ล้านคนภายในระยะเวลา 50 ปี แต่กลับมีผู้ให้ความสนใจเพียงไม่มาก จนสุดท้ายแนวคิดนี้จึงหายไปในที่สุด

“ญี่ปุ่นไม่มีนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ มันเป็นเรื่องที่นักการเมืองกังวล” คริส เบเกอร์ นักวิจัยด้านผู้อพยพและอาจารย์ด้านญี่ปุ่นศึกษา มหาวิทยาลัยซึดะ จุกุ ในโตเกียวให้ความเห็น

เขากล่าวต่อว่า คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงเชื่อว่าความกลมเกลียวในประเทศเกิดจากการมีคนต่างชาติน้อย ความคิดเหล่านี้จึงเหมือนการปิดกั้นสังคมให้ไร้ผู้ลี้ภัย

ประตูถูกปิด

ญี่ปุ่นไม่มีความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกภายนอก ซึ่งเป็นผลการกระทบจากประวัติศาสตร์ที่ทำให้ญี่ปุ่นปฏิเสธ “ต่างชาติ”

โดยระหว่างช่วงปีค.ศ.1641-1853 ญี่ปุ่นกีดกันการออกจากประเทศของคนในชาติ และการเข้าประเทศของคนต่างชาติ มีเพียงการค้าระหว่างจีนและเนเธอแลนด์ที่ได้รับอนุญาติให้ขึ้นท่าเรือที่นางาซากิ และเกาะคิวชู จนกระทั่งเศรษฐกิจญี่ปุ่นกระเตื้องอย่างเร็วในปี 1955-1973 โดยปราศจากความต้องการในแรงงานต่างชาติ

แต่ช่วยปลายทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นกลับเผชิญภาวะการขาดแคลนแรงงานจนเป็นวาระการพูดถึงการรับแรงงานต่างชาติเข้าประเทศ กระทั่งปี 1988 กระทรวงแรงงานได้ต้อนรับแรงงานต่างชาติกลุ่มน้อยที่มีทักษะและศักยภาพสูงเข้ามาภายใต้การออกวีซ่าพิเศษ กระทั่งมาสู่ทศวรรษที่ 90 ประเทศญี่ปุ่นจึงฟื้นกลับสู่ “นิคเคย์จิน” หรือการมีผู้สืบทอดสายเลือดญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงปิดกั้นแรงงานต่างชาติทักษะต่ำ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเองได้กล่าวถึงความต้องการแรงงานต่างชาติในการก่อสร้าง เพื่อพร้อมรับการเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 2020

สถานะผู้ลี้ภัยในญี่ปุ่น

หัวหน้าองค์กรไม่แสวงกำไร เครือข่ายสามัคคีของผู้อพยพญี่ปุ่น ระบุว่า แทนที่จะใช้เวลานานไปกับการสร้างมาตรการรองรับผู้ลี้ภัยในระยะยาวที่จะเข้ามาเป็นแรงงานทักษะต่ำ โดยจะทำให้เข้ามาอย่างถูกต้องอย่างพลเมืองชาวญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลควรจะเลือกหนทางอนุญาตให้แรงงานต่างชาติทักษะต่ำเข้ามาอย่างชั่วคราวก่อน

ทั้งนี้ตามสถิติ พบว่าในปี 2016 ญี่ปุ่นได้รับคำขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นถึง 44 % ซึ่ง 3 ชาติที่มีการขอสถานะผู้ลี้ภัยมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์

 

ที่มา CNN
Can Japan survive without immigrants?