ซีเกมส์ 2023 เจ้าภาพกับนักกีฬาโอนสัญชาติ เมื่อเหรียญรางวัลสำคัญที่สุด

กัมพูชา
ภาพ REUTERS

ซีเกมส์ 2023 หลายชาติวิจารณ์หนัก ปัญหาเจ้าภาพ “กัมพูชา” กับ “นักกีฬาโอนสัญชาติ” เมื่อเหรียญรางวัลสำคัญที่สุดมากกว่าการพัฒนาและใช้ศักยภาพของผู้เล่นในประเทศ

วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 หลังมหกรรมกีฬาของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “ซีเกมส์ 2023” เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 66 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ดูเหมือนว่า ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 นี้จะเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมากมายและคงมีเรื่องให้พูดถึงไปอีกนาน

ต้องเข้าใจก่อนว่าการแข่งขัน ซีเกมส์ 2023 และหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาไม่มีการจำกัดทั้งจำนวนและประเภทกีฬาที่แข่งขัน ขึ้นอยู่กับประเทศเจ้าภาพเป็นสำคัญ ซึ่งอยู่ภายใต้การอนุมัติจากสหพันธ์กีฬาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดดราม่าและเสียงวิพากษ์วิจารณ์แทบทุกครั้ง

ปัญหาหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันหลายชาติบ่นอุบในซีเกมส์หนนี้ คือ “นักกีฬาโอนสัญชาติ” ที่เจ้าภาพกัมพูชาเล่นส่งลงสนามแบบยกทีมในหลายชนิดกีฬารวมทั้งการแข่งขันประเภทบุคคล แม้ไม่ได้ทำผิดกฎแต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเนื่องจากฎดังกล่าวก็ถูกตั้งขึ้นโดยเจ้าภาพ การมีนักกีฬาโอนสัญชาติในทีมไม่ใช่เรื่องแปลกมีกันแทบทุกประเทศแต่หากเป็นทั้งทีมและอยู่ในประเทศนั้น ๆ มาไม่นานก็ไม่ใช่เรื่องปกติเช่นกัน

สำหรับซีเกมส์ 2023 ที่จะปิดฉากลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พ.ค.นี้ เจ้าภาพตั้งเป้าไว้ 103 เหรียญทอง มากกว่าซีเกมส์ครั้งก่อนที่เวียดนามซึ่งทำไว้ 9 เหรียญทองถึง 11.4 เท่า ทั้งนี้กัมพูชาเคยได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ทั้งหมดรวมกัน 36 เหรียญ การตั้งเป้าในครั้งนี้จึงมากกว่าเหรียญทองทั้งหมดที่เจ้าภาพเคยคว้าถึง 3 เท่าตัวเลยทีเดียว

กัมพูชา
ภาพ ข่าวสด

คริกเก็ตจากเอเชียใต้

กัมพูชาทำการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันคริกเก็ตเป็นครั้งแรกในรายการนี้ โดยทีมคริกเก็ตชายของกัมพูชาถูกตั้งคำถามอย่างหนัก เนื่องจากนักกีฬาชาวอินเดียและปากีสถาน สองประเทศแห่งเอเชียใต้ที่เรียกว่าเป็นเจ้าแห่งคริกเก็ตถูกโอนสัญชาติมาและไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด

เมื่อต้องเข้าชิงทองในประเภททีมชาย T50 และเอาชนะมาเลเซียแชมป์เก่ารายการนี้เมื่อ ซีเกมส์ 2017 “Ahmad faiz” กัปตันทีมคริกเก็ตมาเลเซีย กล่าวว่า เป็นความพ่ายแพ้ที่ค่อนข้างแย่และน่าผิดหวัง ผู้เล่นที่กัมพูชานำเข้ามาบางคนเคยเล่นในระดับสูงสุดมาก่อน ดังนั้นต้องให้เครดิตกับเจ้าภาพที่แสดงผลงานได้ดีกว่ามาเลเซีย

“สำหรับประเด็นการโอนสัญชาติของผู้เล่นกัมพูชาอยู่เหนือการควบคุมของเรา” กัปตันทีมคริกเก็ตมาเลเซีย กล่าว

กัมพูชา
ภาพ REUTERS

ไตรกีฬาจากยุโรป

ABS CBN สื่อฟิลิปปินส์ ระบุว่า เจ้าภาพกัมพูชาเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของการแข่งขันไตรกีฬาในซีเกมส์ครั้งนี้ เนื่องจากทีมเจ้าภาพได้โอนสัญชาติชาวฝรั่งเศส ได้แก่ “Margot Garabedian” ผู้ที่เข้าแข่งขันให้กับฝรั่งเศสในการแข่งขัน “World Junior Championships ในปี 2014” ซึ่งถูกส่งชิงทองไตรกีฬาและกีฬาทางน้ำหญิงในซีเกมส์หนนี้

เป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ Margot Garabedian ของกัมพูชาคว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ ปาดหน้า “Kim Mangrobang” ของฟิลิปปินส์ที่ชวดแชมป์ 4 สมัยติดต่อกันตามที่ตั้งไว้ในตอนแรก

กัมพูชา
ภาพ REUTERS

บาสเกตบอลจากอเมริกา

ที่เดือดสุดเรื่องนักกีฬาเจ้าภาพโอนสัญชาติในซีเกมส์ครั้งนี้ เห็นทีจะเป็นการแข่งขัน บาสเกตบอล ทั้งประเภท 3×3 และ 5×5 ที่กัมพูชาเล่นส่งนักกีฬาโอนสัญชาติจากอเมริกาลงแข่งทั้งทีม ดังนั้น เหรียญทองจะตกอยู่ในมือใครคงเดาไม่ยาก ทีมบาสเกตบอลชาย 3×3 ของกัมพูชาจึงสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ในรายการนี้เป็นหนแรกหลังชนะฟิลิปปินส์ ส่วนทีมชาติไทยได้เหรียญทองแดง

โดยรายชื่อนักกีฬาทีมกัมพูชาที่คว้าทองบาสเกตบอลครั้งประวัติศาสตร์ได้แก่ แบรนดอน พีเตอร์สัน, ดาร์รินเรย์ ดอร์ซีย์, ซายีด อัลคาเบีย พริดเจตต์ และ เทพ โชราธ ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาเพียงคนเดียว

“Jack Animam” นักบาสเกตบอลหญิงชาวฟิลิปปินส์ ตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงจัดซีเกมส์ครั้งนี้หากเราไม่ได้แสดงฝีมือผู้เข้าแข่งขันของเราเอง กีฬาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไว้เพื่ออะไร หากประเทศต่าง ๆ เลือกที่จะส่งผู้เล่นโอนสัญชาติจำนวนมากเพื่อโอกาสได้รับเหรียญรางวัลมากขึ้น

คำถามนี้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าภาพกัมพูชาส่งผู้เล่นต่างชาติลงแข่งขันบาสเกตบอล 3×3 ทั้งชายและหญิง แน่นอนว่ามันไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะกับประเทศที่มีเงินทุนจำกัด หากจะมีการโอนสัญชาติแบบนี้ สาระสำคัญและหลักการของซีเกมส์คืออะไร แม้ฟิลิปปินส์จะมีผู้เล่นโอนสัญชาติแต่ก็อยู่ภายใต้กฎของ “สหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ” (FIBA) ที่ระบุว่าอนุญาตให้มีผู้เล่นโอนสัญชาติแค่คนเดียวและต้องมีพาสปอร์ตชาตินั้นก่อนอายุ 16 ปี แต่กฎของซีเกมส์ครั้งนี้ขอแค่มีพาสปอร์ตเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าได้รับมาเมื่อใด

เธอยังกล่าวอีกว่าผู้เล่นโอนสัญชาติของฟิลิปปินส์ มีรากฐานมาจากชาวฟิลิปปินส์ และบางคนเล่นใน  “บาสเกตบอลฟิลิปปินส์ ลีก” หรือ PBA มา​​เป็นเวลา 6 ปี ก่อนที่จะโอนสัญชาติ ในขณะที่ผู้เล่นของกัมพูชาไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในประเทศมาก่อน

“ซีเกมส์คือการแสดงความสามารถของคุณและสิ่งที่คุณมีจากประเทศของคุณ ถ้าคุณเพิ่งมาจากประเทศอื่น การแข่งขันนี้ก็คงเหมือนกับลีกอาชีพ” นักบาสชาวฟิลิปปินส์ กล่าว

กัมพูชา
ภาพ AFP

ด้านทัพนักกีฬาบาสเกตบอลไทย มติชน รายงานว่า “นายนิพนธ์ ชวลิตมณเฑียร” นายกสมาคมกีฬาบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ถือเป็นการซื้อทีมสหรัฐอเมริกามาเลย ไม่ใช่แค่ในบาส 3×3 แต่ในบาส 5×5 ทีมชายก็มีนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มารวมทีมกันถึง 8 คน

แม้แต่ “โจชัว โบ เนือง” นักบาสเกตบอลชาวกัมพูชา ที่อาจเป็นเสียงสะท้อนของนักกีฬากัมพูชาไม่มากก็น้อย เจ้าตัวเคยเล่นบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาและปัจจุบันผันตัวมาเป็นโค้ช โดยโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวว่า การออกมาโพสต์แบบนี้อาจสร้างความไม่พอใจและโดนโจมตีจากหลายคน แต่มันเป็นเรื่องจริง เขารู้สึกผิดหวังอย่างมากหลังจากได้เห็นการโอนสัญชาตินักบาสเกตบอลมาแข่งขันซีเกมส์แทนที่จะใช้นักกีฬากัมพูชา

“การได้ร่วมงานกับนักบาสกัมพูชาในสหรัฐอเมริกาหลายคนมีพรสวรรค์อย่างมาก และบางคนก็มีความฝันอยากติดทีมชาติ มีอีกหลายวิธีที่จะทำให้บาสเกตบอลกัมพูชาพัฒนา” นักบาสเกตบอลชาวกัมพูชา กล่าว